ทำไม Starbucks บางสาขาในไทย ถึงไม่รับเงินสด ?

ทำไม Starbucks บางสาขาในไทย ถึงไม่รับเงินสด ?

4 มิ.ย. 2022
รู้หรือไม่ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Starbucks ในประเทศไทย ได้ปรับกลยุทธ์ให้บางสาขาเป็น Cashless Store
หมายถึง เป็นสาขาที่ลูกค้าสามารถอิ่มอร่อยกับเครื่องดื่ม และขนมที่ชอบได้ โดยไม่ต้องพกเงินสดมาเพื่อชำระเงิน
แต่ลูกค้าสามารถชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง เช่น ชำระผ่านแอปพลิเคชัน Starbucks ด้วยบัตร Starbucks Card, ชำระผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างการสแกน QR Code และชำระผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต
โดย Starbucks ได้เริ่มทดลองไม่รับเงินสดสาขาแรกที่รัฐซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2018
ก่อนที่จะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย ที่ทดลองกับ 17 สาขา ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2020
จนถึงปัจจุบัน Starbucks ได้ขยายสาขา Cashless Store จนมีสาขาที่ไม่รับเงินสดถึง 51 สาขา จากกว่า 400 สาขาทั่วประเทศ
ซึ่งจะเน้นไปที่สาขาที่อยู่ในเมือง อาคารสำนักงานใหญ่ ๆ โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย
ที่มียอดเมมเบอร์สูง มีลูกค้าประจำ และมีความคุ้นเคยกับสังคมไร้เงินสด
ยกตัวอย่างเช่น สาขาตึก GMM Grammy, สาขาสยามสแควร์วัน, สาขาเซ็นทรัลเวิลด์, สาขาสยามพารากอน, สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสาขาโรงพยาบาลพระรามเก้า
แล้วทำไม Starbucks ถึงหันมาใช้กลยุทธ์ Cashless Store ?
1. ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยมีการระบาดของโควิด 19 เป็นตัวเร่ง
ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทางองค์การอนามัยโลก ประกาศว่า ธนบัตรและเหรียญอาจเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาได้จริง
ซึ่งหนึ่งในวิธีการหลีกเลี่ยงการสัมผัสก็คือ การชำระเงินในรูปแบบไร้เงินสด เช่น ชำระผ่านโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้น ในช่วงวิกฤติโควิด 19 เราจึงเห็นว่าหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น ปั๊มน้ำมัน, ขนส่งสาธารณะ, ร้านค้า รวมถึงร้านอาหาร ทั้งในห้างสรรพสินค้า หรือร้านเล็ก ๆ ตามข้างทาง ต่างก็หันมารับการชำระเงินในรูปแบบสแกนจ่ายกันมากขึ้น
เช่นเดียวกับ Starbucks ที่หันมาขยายสาขา Cashless Store มากขึ้น
ผลักดันให้ลูกค้าชำระเงินในรูปแบบอื่น ๆ แทนเงินสด เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคนั่นเอง
และด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 นี้เอง ที่ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ไวขึ้น
จากเดิม Visa คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัว ในปี 2030 แต่ได้เปลี่ยนการคาดการณ์ใหม่เป็นปี 2027
2. ผลักดันให้คนใช้แอปพลิเคชัน Starbucks และบัตรสมาชิก Starbucks Card มากขึ้น
นอกจากการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างการสแกน QR Code แล้ว
ลูกค้าสามารถใช้บริการสั่งเครื่องดื่มและขนมล่วงหน้าได้ ผ่านแอปพลิเคชัน Starbucks และชำระเงินผ่าน Starbucks Card
ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับก็คือ บริการอันรวดเร็ว เพียงทำการสั่ง แล้วไปรับสินค้าที่หน้าร้าน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการต่อคิวจ่ายเงิน หรือรอเครื่องดื่ม
แต่สิ่งที่แลกมา ก็คือ ลูกค้าต้องทำการสมัครสมาชิก ซึ่งจะทำให้ Starbucks ได้ข้อมูลของลูกค้าไปอย่างง่ายดาย
โดย Starbucks สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดธุรกิจ หรือปรับปรุงบริการให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ต่อไป
และในส่วนของการชำระเงินผ่านบัตร Starbucks Card ลูกค้าจะต้องเติมเงินเข้าไปในบัตร ขั้นต่ำ 100 บาท
ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ได้เติมเพียงแค่ 100 บาท แต่เลือกที่จะเติมมากกว่านั้น เพื่อเป็นเงินสำหรับใช้จ่าย ในการซื้อครั้งต่อไป
ตรงจุดนี้เอง Starbucks จะสามารถนำเงินที่เหลือค้างไว้เหล่านี้ (ที่เป็นเสมือนเงินฝาก แบบไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย) ไปบริหารจัดการ เพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมาได้
เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกบัตร Starbucks Card ก็จะมี Starbucks Rewards ที่ทุก ๆ การซื้อ 25 บาท จะได้รับดาวสะสม 1 ดวง
หมายความว่า ยิ่งใช้จ่ายเยอะ ก็ยิ่งได้รับดาวสะสมเยอะ และนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้ เช่น
- สมาชิก Green Level เมื่อสะสมดาวครบ 300 ดวง จะอัปขึ้นเป็นสมาชิก Gold Level
- สมาชิก Gold Level เมื่อสะสมดาวครบ 120 ดวง สามารถนำไปแลกเครื่องดื่มขนาดใดก็ได้ ฟรี 1 แก้ว และยังได้รับสิทธิพิเศษเป็นเครื่องดื่มและขนมฟรีในเดือนเกิด
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่ดึงดูดให้ลูกค้าธรรมดา ๆ กลายมาเป็นลูกค้าประจำ (Loyalty) ที่กลับมาซื้อซ้ำ ๆ เพื่อสะสมคะแนนนั่นเอง
3. ลดต้นทุนในการบริหารจัดการ
สิ่งหนึ่งที่ร้านค้าต้องเตรียมตัวทุกวัน ในการซื้อ-ขายสินค้าด้วยเงินสด นั่นก็คือ “การเตรียมเงินทอน”
ตรงจุดนี้เอง ที่จะทำให้เกิดต้นทุนแฝงในรูปแบบของเวลา ก็คือ
พนักงานบางคนอาจจะต้องเดินทางออกไปธนาคาร เพื่อแลกเหรียญ และแลกธนบัตร
แทนที่จะใช้เวลานั้นไปจัดเตรียมของ เตรียมวัตถุดิบ หรือบริการลูกค้า ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้นั่นเอง
ดังนั้น การที่ Starbucks เปลี่ยนมารับชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ก็จะช่วยลดต้นทุนแฝงในส่วนนี้ได้
รวมถึงเมื่อลูกค้าหันมาสั่งเครื่องดื่ม และชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานมาสแตนด์บายคอยรับออร์เดอร์ และคิดเงินที่หน้าเคาน์เตอร์
ซึ่ง Starbucks แต่ละสาขา อาจทำให้พนักงานมีเวลาไปทำอย่างอื่น ที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจมากขึ้น
หรือใช้พนักงานน้อยลง จึงอาจลดต้นทุนในการจ้างพนักงานได้ด้วย
นอกจากนี้ การหันมาชำระเงินผ่าน Starbucks Card หรือผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเดบิต และบัตรเครดิต
ยังเป็นการลดการทุจริตภายในร้านด้วย ถึงแม้ว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับ Starbucks ก็ตาม
สุดท้ายนี้ก็สรุปได้ว่า การที่ Starbucks ทยอยปรับกลยุทธ์ให้บางสาขาเป็น Cashless Store
ก็ดูเหมือนว่ามีแต่จะสร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์มากขึ้น
ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นร้านอื่น ๆ หรือแบรนด์อื่น ๆ หันมาไม่รับเงินสดกันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์ ทุกพื้นที่ และทุกสาขา จะเหมาะกับการเป็น Cashless Store
การจะปรับให้ร้านค้าของตัวเองเป็น Cashless Store นั้น ก็ต้องมีการรีเซิร์ชในระดับหนึ่งว่า พื้นที่นั้น ๆ มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงบริการทางการเงินอื่น ๆ นอกจากเงินสดมากน้อยแค่ไหน นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.