น้ำพริก “ป้าแว่น” จากขายตามตลาดสู่ 7-Eleven ทั่วประเทศ

น้ำพริก “ป้าแว่น” จากขายตามตลาดสู่ 7-Eleven ทั่วประเทศ

1 ธ.ค. 2019
ความฝันของนักธุรกิจ SME หลายๆ คน คือการนำสินค้าไปวางขายตาม 7-Eleven
และมีหลายคนที่สมหวัง ได้ไปถึงจุดหมาย
ทุกวันนี้ 7-Eleven มีสินค้าวางขายเกือบทุกอย่าง ทุกประเภท
ซึ่งผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของเหล่าผู้ประกอบการ SME ไม่น้อย
และคุณบังอร วันน้อย หรือ ป้าแว่น ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ถึงแม้เธอจะเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่จบเพียง ป.4
แต่เธอฝันใหญ่ คิดอยากจะมีสินค้าของตัวเองวางขายใน 7-Eleven บ้าง
แต่ใครจะไปคิดว่า สินค้าที่เธอปลุกปั้นจนเข้า 7-Eleven ได้นั้น
จะเป็นของบ้านๆ ที่คนคาดไม่ถึงอย่าง “น้ำพริก” และแม้แต่ตัวเธอเองก็ตาม
น้ำพริก ได้รับความนิยมอยู่แล้วทั่วประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ตั้งแต่เหนือจรดใต้
น้ำพริก ถือเป็นวิถีการกินดั้งเดิมอย่างหนึ่งของคนไทย
และน้ำพริก ก็เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ คุณบังอร ผ่านความยากจน มาได้ทุกวันนี้
ก่อนมาจับธุรกิจน้ำพริก เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เธอทำไร่ทำนา
แต่อย่างที่รู้กัน อาชีพเกษตรบ้านเรา รายได้ไม่ค่อยดีนัก
และมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ เพราะต้องคอยมาลุ้นดินฟ้าอากาศ และพ่อค้าคนกลาง
บวกกับต้องเลี้ยงดูลูกที่กำลังเรียนอีก 3 คน
เธอจึงต้องตัดสินใจหันไปทำอย่างอื่น เพื่อหารายได้มาพยุงครอบครัว และส่งลูกเรียนหนังสือ
ซึ่งในตอนนั้น เธอก็ไม่รู้จะไปทำอะไร หรือขายอะไรดี
แต่หลายคนมักชมว่า เธอมีฝือมือในการทำอาหาร ทำแล้วอร่อย
เธอจึงลองหันมาจับธุรกิจเกี่ยวกับของกิน และสิ่งที่เธอถนัดมากที่สุดคือเรื่อง น้ำพริก
เริ่มแรกเธอทำน้ำพริกไปวางขายตามตลาด ซึ่งบ้างวันก็กำไรบ้าง ขาดทุนบ้างสลับกันไป
แต่ด้วยรสชาติที่อร่อย หอมอบอวล เผ็ดจัดจ้านกำลังดี ของน้ำพริก
เลยทำให้ลูกค้าต่างติดอก ติดใจ มาอุดหนุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนชื่อแบรนด์ “ป้าแว่น” เธอไม่ได้เป็นคนคิดเอง แต่เจ้าของตลาดเป็นคนตั้งให้
หลังจากที่ขายในตลาดอยู่หลายปี เมื่อมีลูกค้าจำประจำแล้ว
ด้วยความขยัน เธอจึงขยายกิจการด้วยฝากขายตามร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี
และพัฒนาสูตรน้ำพริกเรื่อยๆ
จนในที่สุดก็มีโรงงานเป็นของตัวเอง และได้รับรางวัลโอท็อประดับ 5 ดาว ติดต่อกันถึง 5 สมัย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางธุรกิจ ก็ไม่ได้สวยงาม เช่นเดียวกับการทำเกษตร
เมื่อฟ้าฝนเป็นใจ ก็ได้ดอกผลเป็นธรรมดา
แต่กลับกัน เมื่อมีมรสุม ธุรกิจที่มีกำไรก็เปลี่ยนเป็นขาดทุน..
ในช่วงปี 2549 เกิดเหตุชุมนุมทางการเมือง ทำให้ร้านค้าขายสินค้าไม่ได้
ร้านต้องส่งน้ำพริกคืน ทำให้โรงงานเธอมีน้ำพริกค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก
เงินทุนที่ลงไป ก็กลายเป็นต้นทุนจม และเกิดเป็นหนี้สิน
เมื่อผ่านไป 2-3 ปี สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น ธุรกิจเริ่มขาดทุนมากขึ้น และหนี้สินก็สะสมมาเรื่อยๆ
พอถึงปี 2554 เจออุทกภัยครั้งใหญ่ เป็นการซ้ำเติมความเสียหายให้ธุรกิจ
โรงงานเป็นหนี้ทุกอย่าง ทั้งหนี้สินเก่า หนี้ใหม่ จนหนี้มีมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
สุดท้ายกิจการก็เหมือนใกล้ล้มละลาย รายได้ไม่ค่อยเข้า หนี้สินก็เพิ่ม
พนักงานซึ่งเปรียบเสมือนลูกหลานของเธอ ก็ได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งเดียว เพราะโรงงานจ่ายไม่ไหว
เธอยอมรับว่าช่วงนั้น เป็นช่วงที่ลำบากมากที่สุดในชีวิต
แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ เพราะมีพนักงาน และครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู
อย่างไรก็ตาม เมื่อมามรสุมผ่านไป โอกาสก็ได้ปรากฎต่อหน้าเธออีกครั้ง
วันหนึ่งทาง 7-Eleven ได้มาเสนอโอกาสให้เธอนำ น้ำพริกไปวางขาย
ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่มีมาตลอด และเธอเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดในการกอบกู้กิจการ และปลดหนี้
คือต้องขายสินค้าให้ได้จำนวนมากๆ ซึ่ง 7-Eleven ตอบโจทย์ เพราะมีอยู่เกือบหมื่นสาขาในตอนนั้น
แต่การจะนำสินค้าไปจำหน่ายใน 7-Eleven ได้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะต้องมีโรงงาน และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานต่างๆ
ซึ่งในครั้งแรกที่นำน้ำพริกไปนำเสนอ เธอก็ให้เกษตรอำเภอพาไป โดยนำน้ำพริกใส่ถุงสุญญากาศ ไม่มีแพกเกจสวยๆ
จึงถูกตีกลับมาให้ปรับปรุง และพัฒนาด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
เธอเลยต้องลงทุนสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP แม้ต้องก่อหนี้เพิ่มก็ตาม
เพราะเห็นว่าโอกาสแบบนี้ หาไม่ได้ง่ายๆ ไม่คว้าแล้ว อาจต้องเสียใจตลอดชีวิต เลยขอทุ่มเต็มที่
ซึ่งกระบวนการปรับปรุงทั้งหมด ใช้เวลาเตรียมความพร้อมประมาณ 2 ปี 3 เดือน
โดยจะมีทีมงานของ 7-Eleven คอยให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน เรื่องคุณภาพของสินค้า บรรจุภัณฑ์ และการตลาด
จนในที่สุด น้ำพริกป้าแว่น ก็ได้ขึ้นขายใน 7-Eleven
ซึ่งเธอบอกว่า ยังจำวันแรกที่มีรถบรรทุกมารับสินค้าเพื่อไปยังจุดกระจายสินค้าของ 7-Eleven ได้ดี
มันเป็นภาพแห่งการรอคอย ที่มาพร้อมกับความตื้นตันใจ ที่ยากจะอธิบาย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการทำให้ธุรกิจรอดพ้นวิกฤต และสร้างรายได้จำนวนมากมาย
รวมถึงพลิกฟื้นชีวิตของพนักงาน และครอบครัว
หลังจากนั้น น้ำพริกป้าแว่นก็ได้ขยายโรงงานผลิต รวมถึงต่อยอดพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค
ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตน้ำพริกหลักแสนกระปุกต่อเดือน วางจำหน่าย 7-Eleven หมื่นกว่าสาขาทั่วประเทศ และมียอดขายประมาณ 7 ล้านบาทต่อเดือน
มีผลิตภัณฑ์กว่า 20 อย่าง อาทิ น้ำพริกปลาทู, น้ำพริกกะปิ, น้ำพริกปลาร้า, น้ำพริกปลาสลิดฟูผัดขี้เมา, น้ำพริกปลาดุกฟู, น้ำพริกแจ่วบอง, น้ำพริกเผาปลาทู, น้ำพริกลงเรือ, น้ำพริกนรกกุ้ง, น้ำพริกกุ้งเสียบ, น้ำพริกเจ
โดยจำพวกน้ำพริกสดจะอยู่ในตู้เย็นได้ประมาณ 15 วัน ส่วนน้ำพริกแปรรูป อยู่ได้ประมาณ 3 เดือน
นอกจากนี้ น้ำพริกป้าแว่น มีแผนส่งน้ำพริกออกขายต่างประเทศ
โดยกำลังเจรจากับทางประเทศจีน เตรียมส่งสูตรน้ำพริกแกงกะหรี่ไทยไปจำหน่าย และจะขยายไปยังประเทศอื่นต่อไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.