กรณีศึกษา รัฐช่วยออกเงินดาวน์ที่อยู่อาศัย 50,000 บาท

กรณีศึกษา รัฐช่วยออกเงินดาวน์ที่อยู่อาศัย 50,000 บาท

3 ธ.ค. 2019
เราคงได้ยินข่าวใหญ่โครงการ “บ้านดีมีดาวน์”
ที่รัฐบาลจะช่วยออกเงินดาวน์ที่อยู่อาศัย 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะใช้วิธีใครซื้อก่อน ได้สิทธิก่อน
มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 – 31 มีนาคม 2563
โดยมีโควต้ามอบสิทธิพิเศษนี้ให้ 1 แสนคน ซึ่งคนที่จะได้รับสิทธิก็คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.2 ล้านบาท/ปี
หรือคิดคร่าวๆ ก็คือคนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 1 แสนบาท/ เดือนนั่นเอง
เหตุผลเพราะรัฐบาลมองว่ากลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่านี้ มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยล้นเหลือ ไม่จำเป็นที่รัฐจะต้องไปโอบอุ้ม
ผิดกับกลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่อยากมีที่อยู่อาศัยแต่ยังไม่กล้าตัดสินใจ
การช่วยเงินดาวน์ 50,000 บาทก็เหมือนข้อเสนอที่มาช่วยกระตุ้นให้เขาตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญเวลานี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายรายกำลังเจอวิกฤติครั้งใหญ่
ด้วยตัวเลขที่อยู่อาศัยทุกประเภทค้างสต็อกร่วมกันมากกว่า 3 แสนกว่ายูนิตเลยทีเดียว
ส่งผลให้หลายบริษัทเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหญ่ๆ บางรายเลื่อนไปเป็นปีหน้า (2563)
หรือซ้ำร้ายหนักไปกว่านั้นก็คือบางโครงการถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด
เหตุผลมาจากคนไทยไม่ค่อยเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยที่เวลานี้ดูอ่อนแอ จนถึงมาตราการ LTV
ที่มีกฎเหล็กคือหากใครคิดที่จะซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 จะต้องใช้เงินดาวน์ 20%
ถือเป็นกลยุทธ์สกัดกั้น นักลงทุนที่ซื้อเก็งกำไร จนถึงการซื้อเพื่อปล่อยเช่า
ผลที่ตามมาก็คือ หลายบริษัทมียอดขายลดลงอย่างน่าใจหาย
โดยมาตรการนี้มีเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เกิด ฟองสบู่แตก ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เหมือนอย่างปี 2540
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ มาตราการมอบเงินดาวน์ที่อยู่อาศัย ที่รัฐบาลต้องใช้เงินราวๆ 5,000 ล้านบาท
ก็เพื่อกระตุ้นสร้างยอดขายให้เหล่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้เดินหน้าต่อไป เปิดตัวโครงการใหม่ๆ ขายกันในอนาคต
เพราะหากสินค้ายังคงค้างสต็อกมหาศาลขนาดนี้
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็ย่อมจะไม่ผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
ยิ่งธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจที่จะส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจจะดีจะร้ายตามไปด้วย
กล่าวคือหากบริษัทเปิดตัวสร้างโครงการใหม่ๆ ก็จะต้องใช้ เหล็ก, ปูน, ทราย, เฟอร์นิเจอร์,
และสินค้าอื่นๆ อีกสารพัดมากมายจนไปถึงการจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น
แต่หาก...บริษัทเหล่านี้ไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ธุรกิจเหล่านี้ก็จะได้ผลกระทบยอดขายลดน้อยลง
และการจ้างงานก็ลดลง เช่นกัน
จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลเลือกที่จะกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างเข้มข้น
เพราะคิดว่าหากกระตุ้นสำเร็จระบบเศรษฐกิจไทยน่าจะหมุนเวียนได้ดีขึ้น ไม่มากก็น้อย
แต่...ก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันว่าโควต้า 1 แสนรายที่จะได้รับสิทธิเงินดาวน์ 50,000 บาท
จะมีผลตอบรับมากน้อยแค่ไหน
รวมไปถึงแต่ละธนาคารเองจะมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย
เพื่อเป็นแรงบวกกระตุ้นให้คนที่คิดอยากมีที่อยู่อาศัยตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ซึ่งหากมีคนใช้สิทธิเต็มโควต้า 1 แสนคนก็จะระบายสต็อกที่อยู่อาศัยในมือของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไปได้มาก
ที่สำคัญยังช่วยให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินของเหล่าบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์
ที่จะต้องนำเงินไปจ่ายคืนธนาคารที่กู้มา จนถึงมีความพร้อมที่จะเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ๆ
ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนมาว่ารัฐบาลกำลังกระตุ้นผิดจุดหรือไม่ แทนที่จะไปยกเลิกมาตราการ LTV
เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่อยากซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 สามารถซื้อได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการลงทุนหรือซื้ออยู่เอง
ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคนบอกว่าการมอบเงินดาวน์ 50,000 บาทครั้งนี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะคนระดับกลางและล่าง อาจมองระยะยาวว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะเป็น “มนุษย์หนี้” ผ่อนที่อยู่อาศัยนาน 20 -25 ปี
ซึ่งสรุปแล้วคำถามนี้ก็คงไม่ต่างจาก ไก่ กับ ไข่ อะไรจะเกิดก่อนกัน ?
เราคงต้องรอดูว่าเมื่อสิ้นสุดนโยบายมอบเงินดาวน์ 50,000 บาทของรัฐบาลในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ปีหน้า
โควต้า 1 แสนรายจะเต็ม หรือจะเหลือเยอะ จนต้องยืดเวลาแจกเงินดาวน์ต่อไปอีก….
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.