ความเท่าเทียมในองค์กร สร้างความเติบโตให้แก่ CRG ในธุรกิจร้านอาหารได้อย่างไร

ความเท่าเทียมในองค์กร สร้างความเติบโตให้แก่ CRG ในธุรกิจร้านอาหารได้อย่างไร

24 มิ.ย. 2022
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า CRG หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด
เป็นเพียงไม่กี่บริษัทในเมืองไทยที่มีเชนร้านอาหารถึง 19 แบรนด์
โดยในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้มากกว่า 12,000 ล้านบาท ผ่านแบรนด์ที่เรารู้จักกันดี
อย่าง KFC, Mister Donut, Auntie Anne’s, Ootoya, Pepper Lunch และอีกหลากหลายแบรนด์
รวมถึงแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพอย่าง Salad Factory, Brown Café, ส้มตำนัว และ Shinkanzen Sushi เป็นต้น
ความสำเร็จตรงนี้ ก็น่าจะมาจาก รสชาติอาหารที่อร่อยถูกใจมหาชน, การบริการเป็นเลิศ, และช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
เพียงแต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีพนักงานกว่า 12,000 คน
ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนให้ทั้ง 19 แบรนด์ สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศ
แต่เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ในธุรกิจเชนร้านอาหารมีอัตราการเข้าออกของพนักงานในอัตราที่สูง
เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ การเปลี่ยนงานและย้ายไปร้านอาหารอื่น ๆ
อีกทั้งช่วงวิกฤติโควิด 19 นั้น ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากเป็นสองเท่า
เพราะนอกจากต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ก็ยังต้องรักษาพนักงานในองค์กรไม่ให้หนีหายไปไหน เพราะการเปลี่ยนพนักงานบ่อย ๆ
ผลเสียคือ บริษัทต้องคอยพัฒนาพนักงานคนใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ปรากฏการณ์เหล่านี้ เป็นเหตุผลให้ CRG เชื่อว่าพนักงานในทุก ๆ แบรนด์ของบริษัท
เปรียบเสมือนเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด และต้องทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรอย่างมีความสุข
แล้ว CRG มีวิธีการบริหารสินทรัพย์มีค่าอย่างไร ให้พนักงานมีความสุข และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร ?
คุณเปิ้ล-จารุวรรณ งามพิสุทธิ์ไพศาล Head of Human Resources ของ CRG
บอกว่าการบริหารคนของ CRG จะให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม
ที่ให้คุณค่ากับพนักงาน และให้โอกาสคนอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย, กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้สูงวัย
หลายคนอาจได้ยินเรื่องความเท่าเทียมในองค์กร ซึ่งเป็นเทรนด์ที่บริษัทระดับโลกต่าง Move on
แต่..รู้หรือไม่ว่า CRG ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานกว่าสิบปีแล้ว
ด้วยการเป็นบริษัทแรก ๆ ในเมืองไทย ที่จ้างงานกลุ่มคนพิการหรือกลุ่ม “คนพิเศษ”
โดยเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงาน พร้อมปรับรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม
เพื่อเอื้อให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงศักยภาพที่มี และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
หรือการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสายงานบริหาร
ต่อยอดไปสู่การจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ รวมไปถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในแรงงานที่สำคัญของตลาดในปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือ​ CRG ไม่ใช่แค่ให้โอกาสในการทำงาน แต่ยังพร้อมส่งเสริมความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยวัดจากความสามารถ ไม่ได้วัดจากเพศสภาพ
ที่น่าสนใจคือแนวคิดนี้ ยังต่อยอดไปถึงการขยายสิทธิ์และสวัสดิการของบริษัทให้เกิดความเท่าเทียม เช่น
- ขยายสิทธิ์การลาสมรส ไปจนถึงกลุ่มคู่ชีวิต LGBTQ+
- ขยายสิทธิ์เงินช่วยเหลือการสมรส ไปถึงพนักงานที่สมรสโดยไม่จดทะเบียนสมรส และกลุ่ม LGBTQ+
- ขยายสิทธิ์การลาเพื่อจัดพิธีศพ ให้ครอบคลุมแก่พนักงานที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และกลุ่มบุตรบุญธรรม รวมถึงการเยี่ยมกรณีคลอดบุตร หรือภรรยาคลอดบุตร
รวมไปถึงกลุ่มพนักงานที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
และเมื่อถามถึงแนวคิดของการเพิ่มสวัสดิการให้แก่พนักงานนั้น คุณเปิ้ลบอกว่ามีอยู่ 2 ข้อหลัก ๆ
ข้อแรก คือ สิ่งนั้นตอบโจทย์ประสบการณ์ของพนักงานหรือไม่
“อย่างช่วงที่โควิด 19 ระบาดหนัก เราให้พนักงานส่วนออฟฟิศทำงานที่บ้านทั้งหมด
และมีการช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ต่อมาคือทำอย่างไรให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านแล้วไม่หมดไฟ
จึงมีการจัดกิจกรรมออนไลน์ให้ร่วมสนุก”
“ส่วนพนักงานที่อยู่หน้าร้าน ช่วงที่กลับมาเปิดร้านได้มีการฉีดวัคซีน
และจัดหาเครื่องมือตรวจหาเชื้อ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทั้งพนักงานและลูกค้า”
ข้อสอง คือ สิ่งนั้นสอดคล้องกับ บริบท ของธุรกิจหรือไม่
“โดยเรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหาร เช่น จากที่การสมัครงานจำกัดแค่ในสาขา
ก็พัฒนาระบบ Line@NooYim ที่เป็นการรับสมัครงานออนไลน์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
ในขณะเดียวกันก็มีการนำระบบ Smart Learning มาช่วย Upskill และ Reskill
ให้พนักงานมีทักษะ และพร้อมเติบโตไปกับองค์กร
ส่วนการวัดผลความสำเร็จในการดูแลพนักงาน CRG ไม่ได้ประเมินผ่านสายตาของผู้บริหาร
แต่มีระบบ Engagement Survey เพื่อสำรวจความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กรแบบรายปี
อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทบนโลกใบนี้ ย่อมมีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่แตกต่างกันออกไป
โดย CRG มีแนวคิดคือ (WE Culture)” ซึ่งประกอบด้วย 4 คำที่ขึ้นต้นด้วย “ประ” นั่นคือ
- ประสม (Equality, Diversity & Inclusion)ในความหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
- ประสาน (Collaboration) ทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจ
- ประโลม (Empathy) มีความเข้าใจ และเห็นใจพนักงานในบริษัท
- ประสบความสำเร็จ (Success) พาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
และด้วยวิธีบริหารพนักงานในแบบฉบับของ CRG ที่แตกต่างและโดนใจพนักงาน ทำให้บริษัทได้รับรางวัลในเรื่องนี้มากมาย เช่น รางวัลองค์กรจ้างงานคนพิการดีเยี่ยม 7 ปีซ้อน จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รางวัล HR Innovation Award
รางวัลอาจเป็นสิ่งที่องค์กรภาคภูมิใจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือพนักงานทั้ง 12,000 ชีวิต
ต้องทำงานอย่างมีความสุข และสามารถเติบโตในสายอาชีพที่ตัวเองรัก
เป็นสิ่งที่ทาง CRG ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ นับตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ
เพราะต่อให้โลกมีเทคโนโลยีล้ำ ๆ มาช่วยให้ธุรกิจเติบโต
หรือเจ้าของบริษัทจะมีโมเดลธุรกิจที่ดีขนาดไหน
แต่สุดท้าย สิ่งที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และการหมุนของโลกนั่นก็คือ “คน”
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.