กรณีศึกษา ธุรกิจที่ (เกือบ) เจ๊ง เพราะมาก่อนกาล

กรณีศึกษา ธุรกิจที่ (เกือบ) เจ๊ง เพราะมาก่อนกาล

30 มิ.ย. 2022
“ถูกที่ ถูกเวลา” ปรัชญาที่ไม่ได้ใช้ได้แค่กับเรื่องความรัก
แต่ยังเป็นปรัชญาที่ต้องนำมาใช้กับการสร้างธุรกิจด้วย
เคยมีการศึกษาและวิเคราะห์ของคุณบิลล์ กรอสส์ (Bill Gross) หนึ่งในนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ของโลก
รวมถึงยังเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป และผู้อยู่เบื้องหลังสตาร์ตอัปมากมาย
ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลให้บางบริษัทล้มเหลว แต่บางบริษัทประสบความสำเร็จ
ซึ่งก็พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างธุรกิจ และตัดสินว่าจะรอด หรือจะร่วง มากที่สุด
ก็คือ “จังหวะเวลา (Timing)” คิดเป็น 42%
ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลรองลงมา ก็คือ ทีมและการทำให้สำเร็จ, ไอเดียในการทำธุรกิจ, แผนการทำธุรกิจ และเงินทุน
ไม่ใช่ว่าปัจจัยที่เป็นรองจากเรื่องของเวลา จะเป็นปัจจัยที่ไม่สำคัญ เพียงแต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด
อย่างแผนการทำธุรกิจ จริง ๆ แล้วเราสามารถเริ่มทำธุรกิจก่อนได้ แล้วค่อยเขียนแผนตามทีหลัง
ยิ่งในยุคนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แผนธุรกิจก็ยิ่งไม่แน่นอน และต้องปรับเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ
หรือเรื่องของเงินทุน ถ้าหากธุรกิจที่สร้างขึ้น มีโอกาสเติบโตสูง และลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์มาก เงินทุนจากนักลงทุน ก็จะไหลเข้าตามมาได้
แต่ถ้าสร้างธุรกิจผิดเวลา เช่น มาเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ท่ามกลางตลาดที่ยังไม่เติบโต และผู้บริโภคยังไม่รู้สึกอิน
ต่อให้เป็นไอเดียสุดล้ำ มีผู้ร่วมก่อตั้งเก่งกาจขนาดไหน หรือมีเงินทุนพร้อม
ธุรกิจก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันได้.. เช่น
ถ้า Netflix เปิดตัวสตรีมมิงแพลตฟอร์ม ในวันที่อินเทอร์เน็ตยังใช้งานได้ไม่ดี และไม่ทั่วถึง
ถ้า Tesla ขายรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังไม่ก้าวหน้า, น้ำมันราคาถูก และผู้คนยังไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
ถ้า Flash Express ไม่ได้มาพร้อมกับช่วงที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต
แน่นอนว่าธุรกิจเหล่านี้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าทุกวันนี้ก็เป็นได้..
ทีนี้ลองมาดูกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง ๆ กันบ้าง ว่าที่ผ่านมา มีธุรกิจหรือโปรเจกต์อะไรบ้าง
ที่ทั้งไม่ประสบความสำเร็จ และเกือบจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมาก่อน “เวลา” ที่เหมาะสม..
กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น
- Gong cha แบรนด์ชานมไข่มุกชื่อดัง ที่หายไปจากประเทศไทยอย่างเงียบ ๆ
ใครเคยไปประเทศเกาหลีใต้คงคุ้นชื่อ หรืออาจจะเคยได้ลิ้มลองรสชาติของ Gong cha ร้านขายชานมไข่มุกกันมาบ้าง เพราะเป็นร้านชาที่เห็นได้ทั่วประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากมีสาขามากกว่า 750 สาขา
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว Gong cha เป็นแบรนด์ชานมไข่มุกสัญชาติไต้หวัน ที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 16 ปี
เป็นร้านชาที่มุ่งคัดสรรเครื่องดื่มที่มีคุณค่า และมีคุณภาพที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
ตามชื่อแบรนด์ “Gong cha” ในภาษาจีน ที่มีความหมายว่า ชาที่ทำขึ้นเพื่อถวายให้จักรพรรดิ
ปัจจุบัน Gong cha ขยายสาขาไปแล้วมากกว่า 1,650 สาขา ใน 20 ประเทศ
นอกจากประเทศเกาหลีใต้แล้ว ก็มีประเทศสิงคโปร์, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เม็กซิโก, ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง Gong cha ก็เคยเปิดสาขาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
โดยในเดือนกันยายน ปี 2012 Gong cha ได้มาเปิดสาขาที่ประเทศไทย ซึ่งสาขาแรกก็คือ เซ็นทรัล พระราม 3 และหลังจากนั้นเพียง 2 เดือนก็ได้เปิดอีกสาขาหนึ่งที่เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช
อย่างไรก็ดี ผ่านไปแค่ราว 2 ปี Gong cha ก็ได้ปิดตัวลงทั้ง 2 สาขา และหายออกไปจากประเทศไทยอย่างเงียบ ๆ..
เชื่อว่า ทุกวันนี้หลายคนอาจจะเสียดาย และตั้งคำถามกันอยู่บ้างว่า เมื่อไร Gong cha จะกลับมาเปิดที่ประเทศไทยอีกครั้ง
เพราะถ้าดูตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ก็พบว่า มีบางร้านค้านำเข้าชาแบบผง และใบชา ยี่ห้อ Gong cha มาวางขาย ซึ่งหลายร้านก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร
แต่ถ้าลองวิเคราะห์ว่า ทำไมในอดีต Gong cha เคยมาเปิดในประเทศไทยแล้วไม่เวิร์ก
ก็คงเป็นเพราะว่า “เวลา” ซึ่งในช่วงนั้นกระแสชานมไข่มุกยังไม่บูมเท่าทุกวันนี้
กระแสชานมไข่มุกในประเทศไทยนั้น มีด้วยกัน 3 ระลอก คือ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายยุคปี 1990 จนถึงช่วงปี 2000, ระลอกสองช่วงปี 2008-2009 และระลอกสุดท้ายช่วงปี 2019-ปัจจุบัน ที่เกิดแบรนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ช่วงปี 2012-2014 ที่ Gong cha เข้ามาทำตลาด เป็นช่วงที่กระแสชานมไข่มุกหายไป จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Gong cha ไม่สามารถตีตลาดในประเทศไทยได้สำเร็จนั่นเอง
- กราโนลา ของ Diamond Grains ที่เกือบจะไม่เวิร์ก เพราะกระแสรักสุขภาพในประเทศไทยยังไม่บูม
อาหารเพื่อสุขภาพอย่าง “กราโนลาสายคลีน” หรือธัญพืชไม่ขัดสี ที่อบรวมกันจนกรอบ
ซึ่งมี Diamond Grains เป็นผู้ผลิตเจ้าแรกของประเทศไทย
หลายคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้วว่า Diamond Grains มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยมีคุณชนิสรา และคุณวุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์ คู่สามี-ภรรยา ที่เริ่มทดลองอบธัญพืชด้วยเตาอบภายในหอพักของมหาวิทยาลัย
ต่อมาทั้งคู่ก็ตัดสินใจที่จะผลิตอย่างจริงจัง มีการนำเงินไปเช่าโรงงาน เพื่อผลิตกราโนลาโดยเฉพาะ
เพราะทั้งสองมองว่า ตลาดนี้เป็น “ตลาดใหม่” และ “ยังไม่มีคนทำมาก่อน”
ในช่วงแรก ตั้งใจไว้ว่า จะวางจำหน่ายสินค้า Diamond Grains ภายในร้านกาแฟตามปั๊มน้ำมัน
แต่ปัญหาที่พบก็คือ ถูกร้านกาแฟเกือบทุกร้านปฏิเสธ ไม่รับสินค้ามาวางจำหน่าย เพราะมองว่ากราโนลาเป็นสินค้าขายยาก
พอเป็นแบบนี้แล้ว ก็เลยทำให้ในช่วง 2-3 ปีแรก Diamond Grains ทำรายได้ได้น้อยมาก และเงินที่ลงทุนไปก็ดูเหมือนจะสูญเปล่า
ถ้าลองดูปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ กราโนลา เป็นสินค้าขายยากจริง ๆ
หลัก ๆ ก็เพราะเป็นตลาดใหม่ ที่คนไทยยังไม่รู้จัก
รวมถึงในช่วงนั้น กระแสรักสุขภาพก็ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างในทุกวันนี้
โชคดีที่ผู้ก่อตั้งทั้งสอง ตั้งใจและพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับช่วงหลัง กระแสรักสุขภาพเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากขึ้น
ท้ายที่สุด กราโนลาของ Diamond Grains จึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น
- แว่นตา “Google Glass” ของ Google
แว่นตา AR อัจฉริยะ ที่มีชื่อว่า Google Glass ที่ Google พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และวางจำหน่ายในช่วงกลางปี 2014 โดยมีฟีเชอร์ที่ผู้สวมใส่สามารถถ่ายภาพ, อัดวิดีโอ, แสดงข้อมูลจากสมาร์ตโฟน รวมถึงแสดงแผนที่นำทางผ่านแว่นตาได้
อย่างไรก็ดี เมื่อวางจำหน่ายจริง แว่นตานี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Google หันไปพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะนำมาใช้กับแว่นตาแทน เช่น Google Maps แบบ AR
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน หนึ่งในแว่นตาอัจฉริยะที่มีการพูดถึงกันพอสมควรก็คือ แว่นตา Ray-Ban Stories ของ Meta ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา
โดยแว่นตานี้ มีฟีเชอร์คล้าย ๆ กับแว่นตา Google Glass ก็คือ ผู้สวมใส่สามารถถ่ายภาพ, อัดวิดีโอ, ฟังเพลง, คุยโทรศัพท์ รวมถึงสามารถส่งและรับข้อความจากแอปพลิเคชัน Messenger ได้ด้วย
แม้แว่นตา Ray-Ban Stories จะไม่ได้มีลูกเล่นเท่ากับแว่นตา Google Glass แต่ก็เจาะตลาดได้สำเร็จมากกว่า
คำถามก็คือ ทำไม Google Glass ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับ Ray-Ban Stories ?
หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อเรื่องนี้คือ “เวลา”
ในช่วงปี 2014 ที่ Google วางจำหน่ายแว่นตา Google Glass คือช่วงที่คนทั่วโลกน่าจะยังไม่รู้จักเทคโนโลยี AR อย่างในทุกวันนี้ จึงถือได้ว่า Google Glass เป็นผู้บุกเบิก (Innovator) หรือเป็นผู้ริเริ่มทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เลยก็ว่าได้
ซึ่งความเสี่ยงของการเป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจใหม่ ๆ ก็คือ ผู้บริโภคทั่วไปจะยังไม่ยอมรับสินค้า หรือธุรกิจเหล่านั้น รวมถึงจะไม่ยอมเสียเงินเพื่อซื้อหรือทดลอง จนกว่าจะเห็นว่าสินค้าเหล่านั้นสร้างประโยชน์อย่างไร และเป็นที่ยอมรับของตลาดในวงกว้าง
ประกอบกับ Google Glass ยังมีข้อเสียอื่น ๆ เช่น ผู้คนยังมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว, ดีไซน์ที่เทอะทะ มีกล้องติดอยู่อย่างชัดเจน และที่สำคัญ มีราคาที่แรงเกินไป อยู่ที่ 53,000 บาท
เทียบกับสมาร์ตโฟนอย่าง iPhone 6 ที่เปิดตัวในปี 2014 เช่นเดียวกัน มีราคาอยู่ที่ 23,000 บาท
ในขณะที่ถ้าเป็น Ray-Ban Stories ซึ่งเป็นผู้เล่นที่ตามหลังมา เรียกว่าเป็น ผู้ล้ำสมัย (Early Adopter)
คือเข้ามาในตลาดช่วงที่แว่นตาอัจฉริยะ เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
บวกกับการตื่นตัวของผู้คนในเทรนด์ Metaverse ในปัจจุบัน
จึงทำให้กลุ่มลูกค้าบางกลุ่มเกิดการยอมรับ และพร้อมที่จะใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น
สุดท้าย Ray-Ban Stories จึงมีผลตอบรับไปในทิศทางที่ดีกว่า Google Glass นั่นเอง
จากเรื่องทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า “เวลา” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างธุรกิจ
เพราะบางครั้ง ถ้าเราสร้างธุรกิจในช่วงเวลาที่เร็วเกินไป
ผู้บริโภคยังไม่รู้จัก ยังไม่รู้สึกอิน หรือตลาดยังไม่ใหญ่พอ ก็อาจทำให้ธุรกิจของเราไม่ประสบความสำเร็จได้
อย่างไรก็ดี เราก็ไม่ควรสร้างธุรกิจและเข้ามาในตลาด “ช้า” เกินไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าธุรกิจของเราไม่ได้โดดเด่น หรือแตกต่างจากคนอื่น ๆ อย่างชัดเจน
เพราะธุรกิจของเราจะกลายเป็นผู้ตามที่ผู้บริโภคไม่นึกถึง และเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง (ที่มาก่อน) ลำบาก
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ “การอยู่ถูกที่ ถูกเวลา”
ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการสังเกต รวมถึงศึกษาตลาดและผู้บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา
เพื่อขัดเกลาและเตรียมความพร้อม ในวันที่ “จังหวะเวลา” ที่ใช่มาถึง แล้วให้เราทุ่มสุดตัว เพื่อคว้าโอกาสนั้นไว้
ในขณะที่ หากธุรกิจของเราเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่คนยังไม่รู้จัก
ก็ควรมีการวางแผนให้ความรู้กับผู้คนเพิ่มเติม เพื่อทำให้เกิดการยอมรับ และทดลองใช้ในนวัตกรรมนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของธุรกิจที่อยู่ถูกที่ ถูกเวลา ก็คือ Clubhouse
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ผู้ใช้งานสามารถสนทนาและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ผ่านช่องทางเสียงเป็นหลัก
เป็นแพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2020 ในช่วงการระบาดของโควิด 19
ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะผู้คนทั่วโลกกำลังเบื่อหน่ายกับโรคระบาด และอยู่ในช่วง Work from Home จึงใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าปกติ รวมถึงยังเป็นแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จึงส่งผลให้ Clubhouse โตระเบิด และประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.