KBank รุกตลาดเวียดนาม เล็งปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ยกระดับองค์กรสู่ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3

KBank รุกตลาดเวียดนาม เล็งปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ยกระดับองค์กรสู่ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3

5 ส.ค. 2022
ล่าสุด KBank ได้ตอกย้ำความสำเร็จของการเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศไทย โดยการเปิดสาขาใหม่ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
ซึ่งการรุกตลาดเวียดนามในครั้งนี้อยู่ภายใต้พันธกิจของการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ หรือ Regional Bank of Choice
ที่น่าสนใจคือ KBank ได้จัดกลยุทธ์ผสานจุดแข็งความสัมพันธ์ลูกค้า-พันธมิตร-เทคโนโลยี เพื่อส่งมอบบริการให้เข้าถึงผู้ใช้งานในท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีแบบชาเลนเจอร์แบงก์ โดยเล็งทุ่มงบกว่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมแกร่งเครือข่ายบริการในภูมิภาค พร้อมประกาศความมุ่งมั่นรุกตลาดเวียดนามเต็มตัว
โดย KBank ตั้งเป้าในปี 2566 กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และมีลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย ในเวียดนาม
สำหรับยุทธศาสตร์หลักของ KBank คือ การก้าวไปสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3
หรือพูดง่าย ๆ คือกลุ่มประเทศอาเซียน และ 3 ประเทศอย่าง จีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ซึ่ง KBank ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในประเทศเวียดนาม ที่ประชากรมากกว่า 70% มีการเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต และเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้ เวียดนามมีจำนวนประชากรที่ 100 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้ทำให้เวียดนามมีประชากรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน เป็นรองเพียงประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ที่สำคัญคือ 74.1 ล้านคน หรือราว ๆ 74% ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ในวัยแรงงาน และอัตราค่าแรงของชาวเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกด้วย
พอเป็นแบบนี้ KBank จึงเดินหน้าขยายบริการในภูมิภาคเพื่อเชื่อมต่อโอกาสให้แก่ธุรกิจไทย และส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการในประเทศท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อได้สะดวกและครอบคลุมความต้องการในทุกพื้นที่
โดยคุณ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวว่า
“สำหรับแผนธุรกิจธนาคารในภูมิภาค 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารจะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ตอัป และเข้าซื้อกิจการ ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยใช้งบลงทุนประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วย DNA แห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ KBank เป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3”
ต้องบอกว่า ที่ผ่านมา KBank ขยายธุรกิจในตลาดภูมิภาค AEC+3 ด้วยยุทธศาสตร์ Asset-Light Digital Banking Strategy ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ตอัปในท้องถิ่น
ซึ่ง KBank มีกลยุทธ์การทำธุรกิจใน 3 แนวทาง
1. รุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าที่เข้าไปลงทุนและลูกค้าท้องถิ่น
2. ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร (Mass Acquisition Play) โดยเน้นการให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform
3. พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 ได้มากขึ้น และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service (Baas) ได้
พออ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นถึงกลยุทธ์และแนวทางของ KBank ในพิชิตตลาดเวียดนามในครั้งนี้
แล้วนอกเหนือจากตัวเลขประชากร เวียดนามมีปัจจัยอะไรอื่นที่น่าสนใจอีกบ้าง ?
ต้องบอกว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19
แถมเวียดนาม ยังมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP
ที่น่าสนใจคือ เวียดนามมีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี” แห่งใหม่ของเอเชีย ซึ่งประชากรเวียดนามที่มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ทำให้การบริโภคภายในประเทศ มีศักยภาพเติบโตอย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ ถ้าเราลองดูข้อมูลของ Trading Economics จะพบว่า
ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของฟิลิปปินส์ จะอยู่ที่ราว ๆ 10,800 บาทต่อเดือน
ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของไทย จะอยู่ที่ราว ๆ 10,400 บาทต่อเดือน
ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของอินโดนีเซีย จะอยู่ที่ราว ๆ 11,000 บาทต่อเดือน
แต่ว่า ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนาม จะอยู่เพียง 6,300 บาทต่อเดือน
พูดง่าย ๆ คือ จำนวนประชากรส่วนมากอยู่ในวัยแรงงาน บวกกับ อัตราค่าแรงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง จะส่งผลให้ เวียดนาม กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของหลาย ๆ บริษัทใหญ่ทั่วโลก
มันจึงไม่น่าแปลกใจ ทำไมถึงมีการคาดการณ์ว่า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ภายในปี 2573 และจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี 2588
ซึ่งคุณ พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า
“KBank จะเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรก ที่นำ “ดิจิทัล โปรดักส์ โซลูชัน” เต็มรูปแบบ ให้บริการลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก
ผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของไทย ไปต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม
ทั้งการใช้ K PLUS Vietnam เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศ และการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก
โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร และการตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการ ทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค
สุดท้ายนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า การเปิดสาขาล่าสุดที่นครโฮจิมินห์ คือการมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค
ซึ่งตอนนี้ KBank มีเครือข่ายการให้บริการในกลุ่มประเทศ AEC+3 รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง
มีสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก
มีเครือข่ายสตาร์ตอัปในภูมิภาคที่ธนาคารลงทุนและพันธมิตรรวมมากกว่า 20 ราย
และมีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน
ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจมาก และจะเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ของ KBank..
อ้างอิง :
-https://data.worldbank.org/-https
-https://tradingeconomics.com/country-list/minimum-wages?continent=asia
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.