รู้จัก “ร้านเฉพาะทาง” ทำไม ขายสินค้า แค่ชนิดเดียว ก็ประสบความสำเร็จได้ ?

รู้จัก “ร้านเฉพาะทาง” ทำไม ขายสินค้า แค่ชนิดเดียว ก็ประสบความสำเร็จได้ ?

6 ส.ค. 2022
เวลาทำธุรกิจที่ต้องขายสินค้าอะไรสักอย่าง
หลาย ๆ คนอาจจะตั้งเป้าว่า ต้องขายสินค้าที่มีความหลากหลาย มีตัวเลือกเยอะ ๆ
คล้ายกับการเป็น 7-Eleven คือเผื่อเวลาที่สินค้าหนึ่งไม่ถูกใจลูกค้า
อย่างน้อยก็อาจจะมีสินค้าอื่น ๆ มาทดแทน ให้ลูกค้าได้หยิบติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง
รู้หรือไม่ว่า โลกของธุรกิจค้าปลีก ยังมีร้านค้าอีกหลากหลายประเภท ที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องขายสินค้าที่มีความหลากหลาย หรือต้องมีตัวเลือกเยอะ ๆ ให้ลูกค้าเสมอไป
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มีร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง หรือที่เรียกว่า Specialty Store
ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของธุรกิจค้าปลีก ที่เน้นขายกลุ่มสินค้าเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น
ยกตัวอย่างแบรนด์ที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น
- Watsons และ Boots ขายเฉพาะเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง
- Eveandboy, Beautrium, Sephora ขายเฉพาะเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงาม
- Supersports ขายเฉพาะรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา
- Power Buy ขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไอที
แต่ในปัจจุบัน ยังมีร้านค้าที่เฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น ก็คือเจาะจงขายแค่สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งไปเลย
เช่น ขายรองเท้ากีฬาโดยเฉพาะ, ขายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ, ขายอาหารหรือเครื่องดื่มที่เฉพาะเจาะจงแค่ชนิดเดียวไปเลย
ร้านค้าประเภทนี้ จะเรียกว่า “Super Specialty Store”
แล้วการเป็นร้านค้าเฉพาะทาง ที่ขายสินค้าแค่ประเภทเดียว หรือการขายสินค้าแค่ชนิดเดียว
ทำไมถึงสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ?
เหตุผลก็เพราะ..
1. ร้านค้าประเภทนี้ มักจะเป็นร้านค้าที่ลูกค้านึกถึง
สมมติว่า นาย A ต้องการซื้อเทียนหอมสัก 1 ชิ้น แล้วถ้ามีร้านค้าให้เลือกอยู่ 3 ร้าน
ร้านที่ 1 เป็น Super Specialty Store ที่เน้นขายแค่เทียนหอมเพียงอย่างเดียว
ร้านที่ 2 เป็น Specialty Store ที่เน้นขายเครื่องหอม และเทียนหอมเท่านั้น
ร้านที่ 3 เป็นร้านค้าเบ็ดเตล็ดที่ขายสินค้าทุกอย่าง และมีเทียนหอมเป็นหนึ่งในสินค้าเหล่านั้น
คำถามก็คือ นาย A มีโอกาสจะนึกถึงร้านไหนเป็นร้านแรก และเข้าไปเลือกซื้อเทียนหอมร้านไหนมากที่สุด ?
แน่นอนว่า นาย A มีโอกาสจะนึกถึง และอาจจะเข้าไปซื้อที่ร้านขายเทียนหอมเป็นหลัก
ซึ่งร้านที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ร้านที่ 1 และรองลงมาก็คือร้านที่ 2 นั่นเอง
ส่วนร้านที่ 3 อาจจะเป็นเพียงตัวเลือกสุดท้ายที่เข้าไปดู ในกรณีที่ร้านที่ 1 และร้านที่ 2 มีสินค้าไม่ถูกใจ
สรุปง่าย ๆ ว่า การที่เราขายสินค้าเฉพาะอย่าง จะทำให้ลูกค้านึกถึงร้านของเราเป็นร้านแรก ๆ
เนื่องจากลูกค้ารู้ว่าเมื่อเข้าไปในร้านค้าแล้ว จะเจอกับประเภทสินค้าที่ต้องการซื้ออย่างแน่นอน
แตกต่างจากร้านที่ขายสินค้าหลากหลาย จนไม่สามารถจัดประเภทได้
ทำให้ลูกค้าไม่รู้ว่าร้านนี้ จะมีสินค้าที่ต้องการหรือไม่ นั่นเอง
2. แม้จะมีสินค้าแค่อย่างเดียว แต่ก็มีความหลากหลายได้เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าร้าน Super Specialty Store จะขายสินค้าแค่ชนิดเดียว
แต่จริง ๆ แล้วก็สามารถสร้างความหลากหลายให้กับสินค้านั้น ๆ ได้
ยกตัวอย่าง กรณีของร้าน Karun (การัน) แบรนด์ชาไทยระดับพรีเมียม
ที่แม้ว่าจะเน้นขายชาไทยเพียงอย่างเดียว แต่ก็สร้างความหลากหลายของเมนูได้
โดยมีทั้ง ชาไทยการัน ซึ่งเป็นสูตรออริจินัล ที่มีทั้งรูปแบบเย็น และปั่น, ชาไทยสูตรพิเศษ, ชาไทยผสมน้ำขิงและยูซุ, ชาไทยผสมยูซุและฮันนีเลมอน
นอกจากนี้ ยังมีชาไทยที่วางขายเป็นขวด ซึ่ง Karun ได้คิดค้นให้มีกลิ่นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน
เช่น ชาไทยกลิ่นดอกหอมหมื่นลี้, ชาไทยกลิ่นดอกจำปา, ชาไทยกลิ่นวานิลลา และเมล็ดโกโก้
และที่สำคัญ นอกจากชาไทยที่เป็นน้ำแล้ว ยังมีไอศกรีมเจลาโตรสชาไทยอีกด้วย
จากกรณีนี้ จะเห็นว่าจาก “ชาไทย” เพียงอย่างเดียว
แต่ Karun พัฒนาโดยอาศัยความเชี่ยวชาญ และใส่ความคิดสร้างสรรค์
จนกลายเป็นร้านที่ขายแค่ชาไทย แต่มีเมนูให้เลือกมากกว่า 10 แบบเลยทีเดียว..
3. ควบคุมคุณภาพทั้งสินค้าและบริการ ได้ง่ายกว่า
เมื่อร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทเดียว หรือขายสินค้าเพียงอย่างเดียว
อาจไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของการมีสินค้าทุกชนิด เหมือนห้างสรรพสินค้า
และไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็ว เหมือนร้านสะดวกซื้อ
แต่ร้านค้าประเภทนี้ ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีในเรื่อง “คุณภาพ”
เพราะอย่างแรก ในแง่ของผลิตภัณฑ์ ร้านค้าจะสามารถทุ่มเงินและเวลา เพื่อโฟกัสไปที่การพัฒนาสินค้าประเภทเดียวที่มี หรือสินค้าชนิดเดียวที่มี จนมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ กลายเป็น Expert ในด้านนั้น ๆ
หรือในส่วนของการทำการตลาด ก็สามารถหาอินไซต์ของลูกค้าได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ว่าลูกค้าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร ชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร
แล้วนำมาปรับเปลี่ยนสินค้าให้ออกมาตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
อย่างที่สองก็คือ ในแง่ของบริการ ร้านค้าจะมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการมากกว่า หรือสามารถเทรนให้พนักงานมีความเชี่ยวชาญได้ง่ายกว่า
เช่น ร้านขายยา ที่จะมีเภสัชกรประจำ เพื่อให้คำแนะนำและขายยาให้แก่ลูกค้าได้อย่างถูกต้อง, ร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ก็จะสามารถแนะนำได้ว่า อาหารสัตว์แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร และแบบไหนถึงเหมาะกับสัตว์เลี้ยงของลูกค้ามากที่สุด
หรือกรณีของ Ari Running Concept Store ร้านที่ขายรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ
นอกจากจะมีพนักงานที่คอยให้ความรู้ และให้รายละเอียดเกี่ยวกับรองเท้าวิ่งได้แล้ว
ยังมีบริการพิเศษ เช่น 3D Digital Foot Scanner ที่ช่วยสแกนเท้าเพื่อวัดความยาวและความกว้าง หรือ Digital Gait Analysis ที่วัดการบิดของเท้าในขณะวิ่ง
ทั้งหมดก็เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกไซซ์รองเท้า และประเภทของรองเท้า ได้อย่างเหมาะสม
และอีกกรณีเช่น Good Noodle อาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่วางขายบะหมี่มากกว่า 100 แบบ ทั้งจากแบรนด์ไทย และต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, ไต้หวัน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และอินเดีย
จุดเด่นอย่างหนึ่งของร้านนี้คือ พนักงานทุกคนจะถูกเทรนมาเป็นอย่างดี ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าแต่ละรายการ เพื่อสามารถให้ความรู้ และแนะนำสินค้าแก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุด
ทั้งหมดนี้ ก็คือข้อดีของร้าน Specialty Store ที่ขายสินค้าประเภทเดียว และร้าน Super Specialty Store ที่ขายสินค้าชนิดเดียว รวมถึงยังเป็นเหตุผลของคำถามที่ว่า
ทำไมร้านค้าประเภทนี้ ก็สามารถประสบความสำเร็จเหมือนร้านค้าประเภทอื่น ๆ ได้เหมือนกัน
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งข้อดีของร้านค้าแบบ Super Specialty Store
แม้ว่าร้านค้าจะขาดความหลากหลายของสินค้า แต่ถ้ามองในอีกแง่ อีกมุม
ร้านค้าประเภทนี้ จะช่วยตัดปัญหาเรื่อง The Paradox of Choice หรือการมีสินค้าให้เลือกเยอะเกินไป จนลูกค้าตัดสินใจไม่ได้ว่าจะซื้ออะไรดี นั่นเอง..
อ้างอิง:
-https://www.letslearnfinance.com/specialty-store-advantages-and-disadvantages.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.