อดีต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork กลับมาอีกครั้ง โดยเขาได้รับเงินระดมทุน สำหรับธุรกิจใหม่..

อดีต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork กลับมาอีกครั้ง โดยเขาได้รับเงินระดมทุน สำหรับธุรกิจใหม่..

17 ส.ค. 2022
หนึ่งในกรณีศึกษาทางธุรกิจ ที่พูดถึงกันมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็คือ “WeWork”
เพราะบริษัทนี้เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว การฉ้อฉลทางธุรกิจ การบริหารและกำกับดูแลกิจการที่ผิดพลาด
จนเรื่องราวของ WeWork และ Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO ของ WeWork
ถูกเขียนเป็นหนังสือ รวมถึงทำเป็นซีรีส์กันเลยทีเดียว..
โดยช่วงที่ก่อตั้ง WeWork ขึ้นมา Neumann ได้เคลมว่า เป็นสตาร์ตอัปที่จะมาปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น ให้บริการเช่าพื้นที่สำนักงานในลักษณะของ Co-working Space โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และสร้างความเป็นไปได้ทางธุรกิจใหม่ ๆ
ซึ่ง WeWork ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จนไปเตะตานักลงทุนหลายราย อย่างเช่น Masayoshi Son แห่ง SoftBank..
Son ได้หลงมนต์เสน่ห์ของ Neumann และ WeWork
หลังจากเขาใช้เวลาเพียง 12 นาที ในการสำรวจสำนักงานของ WeWork ที่นิวยอร์ก
Son ก็ตัดสินใจลงทุนใน WeWork กว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.. (601,600 ล้านบาท)
ทำให้ WeWork กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าถึง 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,663,200 ล้านบาท) ทันที
ในขณะที่บริษัทยังไม่มีกำไร และขาดทุนมหาศาล..
เพราะ Son และนักลงทุนรายอื่น ๆ เชื่อในอนาคตที่สดใสของ WeWork
อย่างไรก็ตาม พอเวลาผ่านไป ยิ่ง WeWork ขยายธุรกิจเท่าไร ก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเป็นทวีคูณเท่านั้น..
เนื่องจากโมเดลธุรกิจของบริษัท ไม่แข็งแรงและไม่ยั่งยืน
เพราะหากต้องการขยายพอร์ตหรือพื้นที่ให้บริการ ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ไปลงทุนซื้อ/เช่าอสังหาฯ มารีโนเวตใหม่ เพิ่มเติม
แถมบริษัทยังมีการอัดงบการตลาด, ให้เงินอุดหนุนจำนวนมากแก่นายหน้า และให้ส่วนลดอย่างหนักแก่ลูกค้า เพื่อจูงใจให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการ
สุดท้ายแล้ว รายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็ตามไม่ทันค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จนเกิดเป็นผลขาดทุนที่พอกพูน นั่นเอง..
บวกกับมีเรื่องไม่ชอบมาพากล อย่าง Neumann มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย ทั้งใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และใช้เล่ห์กลในการโยกเงินของบริษัท เข้าสู่กระเป๋าตังของตัวเอง..
ทำให้ Neumann ถูกกดดันจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง SoftBank ให้ลงจากตำแหน่ง CEO
และเขาก็ได้ลาออกจากบริษัทในปี 2019 หลังจากสร้างปัญหาให้กับบริษัทและนักลงทุนไว้หลายอย่าง..
ปัจจุบันมูลค่าบริษัทของ WeWork ถูกประเมินเหลือเพียง 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (180,500 ล้านบาท)
ซึ่งหลังจากห่างหายไปจากสื่อธุรกิจอยู่หลายปี
Neumann ก็กลับมาบนเวทีอีกครั้ง..
ล่าสุดมีรายงานว่า Neumann ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ในชื่อ “Flow”
ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาฯ เช่นเคย แต่บริษัทวางจุดยืน (Position) ว่าจะเน้นไปที่การแก้ปัญหาด้านอสังหาฯ ต่าง ๆ เช่น วิกฤติที่อยู่อาศัย หรือ ราคาอสังหาฯ แพง
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจของบริษัทใหม่นี้ ยังไม่มีมากนัก
แต่คาดว่าบริษัทจะเปิดตัวบริการอย่างเป็นทางการในปี 2023
ที่น่าสนใจคือ Flow ได้รับเงินลงทุนจากกองทุน VC ชื่อดังอย่าง “Andreessen Horowitz” ที่ลงทุนใน Twitter และ Airbnb ตั้งแต่ช่วงระยะแรก ๆ
โดย Andreessen Horowitz เข้าลงทุนใน Flow กว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,400 ล้านบาท)
ทำให้ Flow ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัประดับ ”ยูนิคอร์น” ทันที..
(ยูนิคอร์น คือ สตาร์ตอัปที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 35,400 ล้านบาท)
Marc Andreessen ผู้ร่วมก่อตั้ง Andreessen Horowitz ได้อธิบายแนวคิดในการสนับสนุน Flow บริษัทอสังหาฯ ใหม่ของ Adam ว่า
พวกเขายกย่อง Neumann ว่าเป็น “ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” ที่เคยปฏิวัติวงการอสังหาฯ มาแล้วด้วย WeWork และเชื่อว่าเขาจะปฏิวัติวงการอสังหาฯ อีกครั้งด้วย Flow และมันจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม..
“เรารู้ดีว่ามันยากแค่ไหน ที่จะสร้างอะไรบางสิ่งเช่นนี้
และเราหลงใหลในตัวผู้ประกอบการ ซึ่งเคยสร้างความสำเร็จในอดีต และกำลังเติบโตขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากบทเรียน (ในอดีต) เหล่านั้น” Marc Andreessen กล่าว
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.