กรณีศึกษา การปรับตัวของ 7-Eleven ในยุค App Food Delivery ครองเมือง

กรณีศึกษา การปรับตัวของ 7-Eleven ในยุค App Food Delivery ครองเมือง

23 ธ.ค. 2019
เมื่อคนขี้เกียจเดินไปเซเว่น ทำให้เซเว่นต้องมีแอปส่งอาหาร
การ DISRUPT เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้
เพราะวันนี้แม้แต่วลีฮิต “หิวเมื่อไร ก็แวะมา” ของ 7-Eleven กำลังถูกท้าทายอย่างรุนแรง
จากบรรดา App Food Delivery ที่สั่งอาหารอาทิเช่น Grab และ Get
เพราะจากแต่เดิมเวลาอยู่บ้านหรือที่ทำงาน
1 มื้ออร่อยของเรา อาจมีตัวเลือกคือร้านอาหารแถวบ้านแถวที่ทำงานและ 7-Eleven
แต่..เวลานี้แค่กด App Food Delivery มีความอร่อยให้เลือกเป็นพันๆ ร้านอาหารเลยทีเดียว
ที่สำคัญยังพร้อมส่งตรงถึงหน้าเราภายในเวลาอันรวดเร็ว
และเมื่อผู้บริโภคมีตัวเลือกที่มากขึ้น นั่นหมายความว่า 7-Eleven
กำลังถูกแย่งชิงและสูญเสียยอดขายสารพัดเมนูอาหารในร้านตัวเอง
เพราะรู้หรือไม่ว่าในยอดขาย 335,532 ล้านบาทของ 7-Eleven อาหารและเครื่องดื่มคิดเป็น 70% จากยอดขายทั้งหมด
ซึ่งนั้นแปลว่า ณ เวลานี้รายได้หลักของ 7-Eleven กำลังถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากคู่แข่งที่อยู่กันคนละธุรกิจ
และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ 7-Eleven กำลังปรับตัว
จากแต่เดิม 7-Eleven อาจคิดว่าการมี 11,300 สาขา ครอบคลุมทุกพื้นที่
ซึ่งลูกค้าเดินเพียงไม่กี่ก้าว ก็สามารถหาซื้ออาหารและสินค้าได้อย่างทันที
ส่วน App Food Delivery ต้องเสียค่าบริการ 40 -60 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อาจยังไม่ยอมเสียค่าบริการ
แล้วยังเลือกซื้ออาหารใน 7-Eleven เหมือนเดิม
แต่ในความเป็นจริงก็คือ ณ วันนี้ตลาด Food Delivery กำลังโตเกินคาดจนมีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท
7-Eleven เองก็คงรู้สึกตัวพร้อมกับการเริ่มมี Food Delivery ที่ให้ลูกค้าสั่งอาหารสินค้าผ่านทาง Official LINE
ซึ่งทดลองเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 2561 ในบางสาขา
โดยเราต้องสั่งอาหารและสินค้าใน 7-Eleven ให้ครบ 100 บาทก็จะมีพนักงาน 7-Eleven ปั่นจักรยานมาส่งให้ฟรีๆ
โดยบริการนี้ก็มีข้อจำกัดคือในระยะที่ใกล้เคียงกับสาขานั้นๆ ของ 7-Eleven
อีกทั้งบริการนี้ยังเปิดบริการเพียงไม่กี่สาขา
และที่ผ่านมา 7-Eleven เองก็รู้ว่าตัวเองยังปิดจุดอ่อนไม่สมบูรณ์แบบ
เพราะการสั่งอาหารและสินค้าทาง LINE ไม่มีเมนูและสินค้าจัดเป็นหมวดหมู่และมีให้เลือกจำกัด
ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะต้องมีคำตอบในใจคิดไว้แล้วว่าจะซื้ออะไร ?
ทำให้ไม่กี่วันที่ผ่านมา 7 ELEVEN จึงเปิดตัว App ที่ชื่อ “7 ELEVEN Delivery” ที่ลูกค้าสั่งอาหารและสินค้าอื่นๆ เกิน 100 บาท จะมีออปชั่นบริการส่งฟรีถึงบ้านตั้งแต่เวลา 6.00 - 22.00 น.
โดย App นี้จะมีรูปสินค้ามากมายพร้อมจัดหมวดหมู่ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการชอปปิง
ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกวิธีการจ่ายเงินทั้งแบบเงินสดหรือจ่ายผ่าน True Wallet กับพนักงานที่ไปส่งสินค้า
จะเห็นได้ว่าวิธีคิดของ 7 ELEVEN กำลังเปลี่ยนไปพร้อมกับรู้สึกตัวว่าการมีสาขาที่ใกล้บ้านคงไม่เพียงพอ
แต่เวลานี้พนักงานในนร้านต้องไปเคาะประตูถึงหน้าบ้านลูกค้า โดยใช้ App ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลาง
โดยโมเดลนี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทดลองอยู่แค่ 6 -10 สาขาซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด
แต่...เชื่อได้เลยว่า 7 ELEVEN ต้องเอาจริงเอาจังกับบริการ Delivery ของตัวเอง
อ้างอิงจากคำพูดของคุณ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)
เจ้าของ 7 ELEVEN เมืองไทย ให้สัมภาษณ์ในงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
“หาก 7 ELEVEN ไม่ตื่นกับยุคที่โลกการซื้อ - ขาย ที่เปลี่ยนไป เราก็อาจล้มได้”
และปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่แค่ 7 ELEVEN คนเดียวที่คิดพร้อมกับต้อง “ปรับตัว”
แต่...ยังรวมถึงศูนย์การค้า ร้านค้าต่างๆ
เพราะอย่างที่บอกไว้ข้างต้นการ DISRUPT เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้
ทีนี้คงต้องมาตามดูกันต่อไปว่าแผนธุรกิจของ 7 ELEVEN ที่เคยประกาศไว้ว่าตัวเองจะต้องมี 13,000 สาขา ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะยังคงเป็นไปตามแผนเดิมหรือไม่
เพราะในวันที่การมีจำนวนสาขามหาศาลอยู่ในมือ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในโลกของธุรกิจ ณ วันนี้ ที่ผู้บริโภคขี้เกียจ ออกจากบ้าน แม้แต่ไปเซเว่นหน้าปากซอย ก็ยังไม่อยากเดิน..
Reference
CP ALL รายงานประจำปี 2561
proxumer.com
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
matichon.co.th
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.