ทำไม Social Commerce ถึงจะกลายเป็นกระแสหลัก ในตลาดอีคอมเมิร์ซ

ทำไม Social Commerce ถึงจะกลายเป็นกระแสหลัก ในตลาดอีคอมเมิร์ซ

27 ส.ค. 2022
นับตั้งแต่ที่ “E-Commerce” ช่องทางการช็อปปิงออนไลน์แบบใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีล้ำสมัย มาพัฒนาการซื้อขายแบบเดิม ๆ ได้เกิดขึ้นมา
ก็ได้ช่วยทำให้การซื้อขายสินค้าง่ายขึ้น ในชนิดที่ว่า แค่นอนไถโทรศัพท์มือถืออยู่บนเตียงตอนเที่ยงคืน ก็สามารถช็อปปิงได้เกือบทุกอย่างที่นึกถึง
แถมยังไม่ต้องสลับแอปไปมาเพื่อทำธุรกรรมเหมือนแต่ก่อน เพราะสามารถทำทุกขั้นตอนให้จบในแพลตฟอร์มได้เลย..
ด้วยความสะดวกสบายนี้เอง ที่ทำให้ E-Commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดด
เอาเฉพาะแค่ตลาด E-Commerce ของประเทศไทยนั้น ก็ได้ถูกประเมินไว้ว่าจะมีมูลค่าถึง 700,000 ล้านบาทในปี 2022 นี้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี
แสดงให้เห็นว่า E-Commerce กลายเป็นช่องทางหลักที่ผู้คนนึกถึงเป็นอันดับแรก เมื่อคิดจะซื้อของไปเสียแล้ว ทั้งที่เป็นตลาดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน เมื่อเทียบกับช่องทางการค้าขายแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม ในตลาด E-Commerce ก็ยังมีการแบ่งย่อยตลาดลงไปอีก
อย่างแพลตฟอร์มที่เราคุ้นเคยกัน เช่น Shopee, Lazada จัดอยู่ในตลาด E-Marketplace
แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ มีอีกตลาดที่เรียกว่า “Social Commerce” ซึ่งกำลังเป็นอีกช่องทางการซื้อขายที่มาแรงไม่แพ้กัน และคาดว่าในอนาคต จะใหญ่ไม่แพ้ตลาด E-Marketplace เลยทีเดียว..
โดย Social Commerce เป็นช่องทางการซื้อขายสินค้า ที่เกิดจากการนำโซเชียลมีเดีย มาผสมผสานกับการค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อของผ่านโซเชียลมีเดียได้เลย
ยกตัวอย่างเช่น
- Instagram ที่เริ่มมีการทดลองใช้ระบบชำระเงินบนแอป เพื่อลดการออกจากแอปของผู้ใช้ ให้ประสบการณ์ในการช็อปปิงแบบไร้รอยต่อ
- LINE ที่ได้มีการทำฟีเชอร์ MyShop ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินได้ครบจบบนแอป
เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
เพราะก่อนหน้านี้ ปัญหาอย่างหนึ่งของการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย
ก็คือ มีขั้นตอนเยอะมาก กว่าจะปิดการขายได้ในแต่ละครั้ง
ไหนผู้ซื้อจะต้องสลับไปมาระหว่างแอปธนาคารและแช็ตที่คุยกับผู้ขาย เพื่อเช็กความถูกต้องก่อนจะโอนเงิน ไหนจะต้องสลับแอปไปเช็กเลขพัสดุ
จะเห็นได้ว่า กว่าสินค้าจะถึงมือผู้ซื้อ ขั้นตอนค่อนข้างเยอะกว่าการช็อปปิงบน E-Marketplace มาก
ซึ่งการมาของ Social Commerce นั้น สามารถกลบจุดอ่อนของการซื้อขายสินค้ากันเอง บนโซเชียลมีเดียได้
แถมช่องทางนี้ ยังอาจตอบโจทย์กว่า E-Commerce ในบางกรณีด้วย
เพราะเดิมทีโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางหลักที่แบรนด์ใช้สร้างการรับรู้ (Awareness) และการมีส่วนร่วม (Engagement) กับผู้บริโภคอยู่แล้ว
แต่ถ้าทางช่องทางนี้ สามารถใช้ปิดการขายได้เลย ก็ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย..
ปัจจุบันมูลค่าของตลาด Social Commerce ก็ไม่น้อยเลย
เพราะมีการประเมินว่าในปี 2021 ตลาด Social Commerce ทั่วโลก มีมูลค่ารวมราว 492,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านล้านบาท)
และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025
ตลาดนี้จะมีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 43 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
จะมีตัวแปรอะไรบ้าง ที่ทำให้ตลาด Social Commerce น่าสนใจ และจะเติบโตขึ้นอีก ?
อย่างแรกเลยก็คือ การปรับตัวของแพลตฟอร์มทั้งหลาย ที่ต้องการเป็น TikTok กำลังทำให้ตลาด Social Commerce เติบโตมากขึ้น
จากสงครามการแย่งชิงเวลาในปัจจุบัน และความร้อนแรงของ TikTok
ทำให้หลายแพลตฟอร์มปรับหน้าฟีด ให้คล้ายกับ TikTok มากขึ้น
ซึ่งก็คือ การนำ AI มาทำการ “Personalized” เพื่อหาคอนเทนต์ที่ผู้ใช้ “น่าจะชอบ” มาให้เสพ
สะท้อนได้จากการที่ Facebook และ Instagram ต่างออกมายอมรับว่า จะมีการปรับปรุงหน้าฟีดของตัวเองให้เหมาะสมกับความชอบของผู้ใช้แต่ละคนมากขึ้น
และถึงแม้ว่าผู้ใช้งานหลายคนจะไม่ชอบการปรับเปลี่ยนดังกล่าว เพราะมีการปรับลดการมองเห็นโพสต์ของเพื่อน, คนในครอบครัว และเพจที่ผู้ใช้ได้กดติดตามเอาไว้
แต่ TikTok ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวทางดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มได้นานขึ้นจริง ๆ
ซึ่งล่าสุด ก็มีข้อมูลพบว่า ในหลาย ๆ ประเทศ จำนวนเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บน TikTok นั้น แซงหน้า YouTube ไปแล้ว..
และในแง่ของการตลาด นี่คือโอกาสที่จะทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
เพราะเมื่อโซเชียลมีเดียปรับคอนเทนต์ที่จะแสดงผลให้ตรงใจกับผู้ใช้มากขึ้น แถมยังสามารถปิดการขายได้บนแพลตฟอร์ม ด้วยฟีเชอร์ต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อตลาด Social Commerce เช่น TikTok Shop
ดังนั้น การทำการตลาดบนโลกโซเชียล ก็มีโอกาสเข้าเป้าได้มากกว่าการทำการตลาดบนช่องทางอื่น ๆ ไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ A ทำธุรกิจที่พักบนเกาะช้าง จึงทำคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นเพื่อโปรโมตที่พัก
ลงบนโซเชียลมีเดีย
ผลก็คือคอนเทนต์ดังกล่าว จะมีโอกาสไปโผล่บนหน้าฟีดของผู้ใช้งานที่ชอบทะเล หรือผู้ใช้งานที่วางแผนจะไปเที่ยวเกาะช้างได้ง่ายขึ้น ทั้งที่ผู้ใช้รายนั้น ๆ อาจจะไม่ได้กดติดตามบัญชีของแบรนด์ A ไว้เลยก็ตาม
และด้วยการที่คอนเทนต์ขึ้นอยู่บนหน้าฟีดอย่าง “ถูกที่ถูกเวลา”
พร้อมกับเครื่องมือ Social Commerce ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถซื้อสินค้าได้เลย
มันจึงนำมาซึ่งโอกาสที่แบรนด์ A จะขายสินค้าได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นประสบการณ์ที่แพลตฟอร์ม E-Marketplace ยังให้ผู้บริโภคไม่ได้
จึงทำให้หลายแบรนด์เห็นศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ จนต้องการจะเข้าไปทำการตลาดบนช่องทางนี้กันมากขึ้น
ปัจจัยต่อมาก็คือ Social Commerce เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า
มีข้อมูลพบว่า 57% ของผู้ที่คุ้นเคย และใช้งาน Social Commerce อยู่เป็นประจำ คือกลุ่มคน Gen Z และ Gen X หรือก็คือ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นกลุ่มที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
เพราะเป็นกลุ่มคนที่กำลังจะมีทั้งกำลังซื้อและอิทธิพลในสังคมในไม่ช้า
มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 คนรุ่นใหม่จะมีสัดส่วนเป็น “ครึ่งหนึ่งของประชากรบนโลก” ด้วย
โดยคนกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีแนวโน้มเชื่อคำพูดของคอมมิวนิตี, อินฟลูเอนเซอร์ หรือคำแนะนำของคนใกล้ตัว มากกว่าคำโฆษณาจากแบรนด์แบบตรง ๆ
จึงทำให้ช่วงหลัง ๆ มานี้ การทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้น
ก่อนหน้านี้การทำการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ จะมีข้อจำกัดอยู่แค่การโปรโมตสินค้า หรือการทำโปรโมชันเท่านั้น
แต่การมาของ Social Commerce ทำให้การทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ หลากหลายกว่าเดิมมาก
เช่น ระบบ “Affiliate” ที่เปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์นำลิงก์สินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ มาแปะไว้บนคอนเทนต์ของตัวเอง เมื่อขายได้ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากยอดขาย โดยไม่ต้องทำการสต็อกสินค้า
จริง ๆ แล้วระบบดังกล่าว เป็นระบบที่แพลตฟอร์ม E-Marketplace หลายเจ้าเลือกใช้อยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้งานต้องการจะซื้อสินค้า ก็จำเป็นต้องกดลิงก์ เพื่อย้ายไปซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-Marketplace อีกทีหนึ่ง
ซึ่งในขั้นตอนนี้ ทำให้แบรนด์อาจเสียลูกค้าไปง่าย ๆ จากการที่มันมีขั้นตอนเยอะ และเกิดความไม่ต่อเนื่องได้..
ในทางกลับกัน การนำระบบดังกล่าวมาปรับใช้กับ Social Commerce
จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้เลย ทำให้ขั้นตอนที่จะนำไปสู่การปิดการขายลดลง
เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดลิงก์เพื่อย้ายแพลตฟอร์ม หรือข้ามแอป แต่สามารถกดซื้อได้เลยบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ประสบการณ์ของลูกค้าต่อเนื่องยิ่งขึ้นนั่นเอง
ยกตัวอย่างชัด ๆ เลย ก็คือ TikTok Shop ฟีเชอร์ที่ให้ผู้ใช้งานแปะลิงก์สินค้าบนวิดีโอสั้น หรือแม้แต่ในไลฟ์สดของตัวเอง เพื่อให้ผู้ชมกดซื้อสินค้านั้น ๆ ได้เลย โดยไม่ต้องออกจากแอปไปไหน
แม้ว่าในปัจจุบัน Social Commerce จะได้รับความนิยมเฉพาะแค่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน
แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีหลายแบรนด์จากโลกตะวันตก ที่เริ่มทำการตลาดผ่านช่องทางนี้ แล้วได้ผลตอบรับดีเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปลายปี 2020 ที่ Walmart ร้านค้าปลีกอันดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ มีการทำแคมเปญ
“Holiday Shop-Along Spectacular” ด้วยการนำ 10 อินฟลูเอนเซอร์ยอดนิยมในสหรัฐฯ มาร่วมไลฟ์สดเพื่อโปรโมตสินค้าผ่าน TikTok
ผลก็คือ มียอดผู้เข้าชมมากกว่าที่คาด และทำให้แบรนด์ได้ฐานผู้ติดตามมากขึ้นถึง 25%
หรืออีกกรณีหนึ่ง Douglas ร้านค้าปลีกเครื่องสำอางในประเทศเยอรมนี ได้ทดลองทำการตลาดแบบ “ไลฟ์สด” ทำให้แบรนด์สร้างการรับรู้ได้มากกว่าการตลาดแบบดั้งเดิมถึง 40%
สุดท้ายนี้ ทั้ง Social Commerce หรือ E-Marketplace ต่างก็เป็นเพียงช่องทางการจำหน่ายสินค้าอย่างหนึ่ง ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง
แบรนด์ควรศึกษา และนำข้อดีข้อเสียของแต่ละช่องทาง มาเปรียบเทียบกัน
รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและกลยุทธ์ของแบรนด์
ในขณะเดียวกัน การมีช่องทางโปรโมตและจำหน่ายสินค้าเพิ่ม ก็นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ขาย ที่มีช่องทางการกระจายสินค้ามากขึ้น
ฝั่งผู้ซื้อ มีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ตัวเอง ให้เลือกมากขึ้น
หรือแม้กระทั่งครีเอเตอร์เอง ก็จะมีอิสระในการทำคอนเทนต์มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางในการหารายได้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
อ้างอิง:
-https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2022/03/10/the-future-of-selling-is-social-social-commerce-vs-e-commerce/?sh=1e8b603d77e1
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.