เจาะลึกแนวคิด ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ที่พัฒนาธุรกิจชุมชน ไปแล้ว 23 แห่ง ทั่วประเทศไทย

เจาะลึกแนวคิด ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ที่พัฒนาธุรกิจชุมชน ไปแล้ว 23 แห่ง ทั่วประเทศไทย

28 ต.ค. 2022
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 4 ในจังหวัดสงขลา
โดยงานนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง โตโยต้า สงขลา และธุรกิจชุมชนอย่าง บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด
ซึ่งการที่บริษัทเข้าไปพัฒนาชุมชน และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ถือว่าเป็นหนึ่งก้าวสำคัญของโตโยต้า ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเบื้องหลังแนวคิดในการพัฒนานี้ เกิดขึ้นจาก คุณซากิจิ โทโยดะ ผู้ก่อตั้งโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ที่น่าสนใจคือ ทุก ๆ กิจกรรมเพื่อสังคม และการเข้าไปพัฒนาชุมชนของโตโยต้า จะใช้แนวคิด “รู้ เห็น เป็น ใจ” เพื่อทำให้โตโยต้ารับรู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด
ทีนี้เราลองมาดูที่มาของแนวคิด “รู้ เห็น เป็น ใจ” จาก โตโยต้า กัน
- “รู้” ทุกปัญหาในทุกกระบวนการ ภายใต้หลัก TPS หรือ Toyota Production System ที่สะสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 85 ปี
โดย Toyota Production System หมายถึง การกำจัดความสูญเปล่าออกจากกระบวนการผลิต เพื่อมุ่งเน้นสู่การลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
- “เห็น” ปัญหา และแนวทางแก้ไขภายใต้หลักไคเซน
ไคเซน หรือแปลเป็นไทยว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ดี” เป็นปรัชญาของชาวญี่ปุ่น ที่หมายถึงการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ที่สำคัญ หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ โตโยต้า นำไปยกระดับคุณภาพการดำเนินงานของชุมชน คือการเก็บข้อมูล, วิเคราะห์ และการจัดทำระบบการมองเห็น (Visualization Board) เพื่อให้ธุรกิจชุมชนเห็นจุดที่เกิดปัญหา และสามารถหาวิธีแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
- “เป็น” ด้วยตัวเองในหลักไคเซน และพอเพียง
โดยส่งตัวแทนจากโตโยต้า ที่มากประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมงานธุรกิจชุมชน เพื่อคอยนำทาง และให้คำปรึกษา
- “ใจ” เข้าใจ ใส่ใจ ถูกใจ ตามหลักปรัชญา “ลูกค้าเป็นเบอร์ 1”
โตโยต้าให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้ามาโดยตลอด และต้องการส่งต่อปรัชญาลูกค้าเป็นเบอร์ 1 ให้แก่ชุมชน เพื่อให้ธุรกิจชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน
จากแนวคิดทั้งหมดนี้ ส่งผลให้โตโยต้า สามารถพัฒนาธุรกิจชุมชนสำเร็จไปแล้วกว่า 23 แห่ง ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น
- ในปี 2556-2557 โตโยต้า กาญจนบุรี ได้ส่งทีมเข้าไปพัฒนาและปรับปรุง กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป ที่ประสบปัญหาเรื่องระบบการทำงานและการวางแผน ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง และมีงานค้างเป็นจำนวนมาก
โดยหลังจากทำไคเซนผ่านระบบการมองเห็น และระบบการจัดการ TPS ทำให้กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 89% ต่อปี และสามารถลดต้นทุนจากของเสียได้มากกว่าปีละ 8 ล้านบาท
- ในปี 2558-2560 โตโยต้า ขอนแก่น ได้ส่งทีมเข้าไปพัฒนาและปรับปรุง กลุ่มข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ ที่ประสบปัญหาเรื่องการผลิตล่าช้า และกระบวนการทำงานที่ผลิตของเสียจำนวนมาก
โดยหลังจากทำไคเซนผ่าน ระบบการจัดการ TPS ทำให้กลุ่มข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ สามารถลดต้นทุนลงได้ 3,600 บาทต่อเดือน และเพิ่มกำลังการผลิตรวมจาก 39% เป็น 81% ต่อปี
มาวันนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จนี้อีกครั้ง ด้วยการจับมือกับบริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ยกระดับธุรกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
พร้อมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 4 ในจังหวัดสงขลา
ความน่าสนใจของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2556 คุณคณัญญา แก้วหนู ได้ก่อตั้งบริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการซื้อขายยางพารา และนำมาแปรรูปให้เป็นยางแผ่นดิบ
จากภาวะราคาตลาดยางพาราที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ บริษัทตัดสินใจรุกเข้าหาธุรกิจใหม่ อย่างการแปรรูปยางพารา ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ปลายทาง เช่น หมอนและที่นอน
แต่ด้วยความที่ บริษัทขาดประสบการณ์ด้านการผลิต และไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอ ทำให้บริษัทประสบปัญหาเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น
- สต็อกสินค้ามากเกินความต้องการ และจัดหาสินค้ายาก โดยขาดระบบควบคุมสินค้าเข้า-ออก ทำให้สินค้ามีความเสื่อมโทรม มีฝุ่นเกาะ และมีความชื้น
- ขาดระบบควบคุมสินค้าเข้า-ออก และส่งมอบไม่ทัน สาเหตุหลักมาจากการไม่ทราบจำนวนสินค้า และสถานะการผลิต
- ใช้เวลาผลิตสินค้าแต่ละชิ้นค่อนข้างนาน แค่เฉพาะตากหมอนก็ใช้เวลานานถึง 21 วัน เพราะเครื่องจักรขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้บริษัทมีต้นทุนจม และมีผลิตภัณฑ์ค้างในกระบวนการผลิตกว่า 840 ใบ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 420,000 บาท รวมถึงสูญเสียโอกาสในการขายในอนาคต อีกด้วย
ในช่วงนั้น โตโยต้า สงขลา ได้ประกาศหาผู้เข้าร่วมโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์พอดี
บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด จึงไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสนั้นมา
โดยโตโยต้า ได้ส่งคุณชัยกุล สิริสุขะ ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ เข้ามาปรับปรุงและพัฒนาบริษัท ผ่านการไคเซน และจัดตั้งระบบการจัดการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสต็อกสินค้า ผ่านระบบ FIFO
ซึ่งระบบ FIFO หมายถึง สินค้าที่ถูกผลิตก่อนจะถูกนำมาขาย เพื่อคงความใหม่ของสินค้า และลดอัตราของเสียที่จะเกิดขึ้น
พร้อมจัดเรียงสินค้าบนชั้นวาง โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็นแพ็ก แพ็กละ 10 ใบ เพื่อเพิ่มการมองเห็น และการบริหารสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ สต็อกสินค้าจากที่เคยคงเหลือนานถึง 1.7 เดือน ลดเหลือ 1 เดือน
สต็อกสินค้าที่ไม่เคลื่อนไหวจาก 900 ใบ เหลือ 500 ใบ
ขณะที่ต้นทุนสต็อกจาก 375,700 บาท ลดเหลือเพียง 231,200 บาท คิดเป็นการประหยัดต้นทุนกว่า 38%
- สร้างระบบการเก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์แผนการขาย และการผลิตได้อย่างเหมาะสม (Just in time)
ซึ่งระบบ Just in time คือหนึ่งในเสาหลักของระบบการผลิตแบบโตโยต้า ที่เน้นการผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการ, ในจำนวนที่ต้องการ และเวลาที่ต้องการ
พร้อมจัดทำบอร์ดควบคุมสินค้าเข้า-ออก เพื่อติดตามสถานะการผลิต, บันทึกออร์เดอร์ และรายละเอียดของลูกค้า
โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ บริษัทสามารถกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว สะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพ
- สร้างฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ผ่านการปรับปรุงเครื่องจักร
โดยโตโยต้าได้เข้ามาพัฒนาห้องเป่าลม โดยใส่มอเตอร์พัดลม พร้อมติดตั้งตัวกรองลม เพื่อไม่ให้ฝุ่นตกลงบนหมอนที่ตาก
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ จากที่บริษัทเคยต้องใช้เวลาตากหมอนนานถึง 21 วัน ลดลงเหลือเพียง 5 วัน
ลดต้นทุนงานตากจาก 420,000 บาท เหลือเพียง 100,000 บาท เท่านั้น
ถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนาธุรกิจชุมชนของโตโยต้ากันบ้างแล้ว
แต่คำถามคือ ทำไมโตโยต้าต้องจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ?
ต้องบอกว่า ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ไม่เพียงแต่จะมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาธุรกิจชุมชน ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
แต่ยังเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดของคนในพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน, นักศึกษา หรือคนทั่วไป ก็สามารถเข้ามาศึกษา และนำความรู้ที่ได้ ไปพัฒนาธุรกิจของตัวเอง
ปัจจุบัน โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจชุมชนแล้วเสร็จจำนวน 23 แห่ง และได้ยกระดับสู่การเป็น ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทั้งหมด 4 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น
- ศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 1 ณ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี
- ศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 2 ณ กลุ่มข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จังหวัดขอนแก่น
- ศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 3 ณ บริษัท รตาวัน จำกัด จังหวัดเชียงราย
- ศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 4 ณ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด จังหวัดสงขลา
ในอนาคต โตโยต้า ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปิด ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ให้ครบทั้ง 6 แห่ง ให้ครอบคลุม 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ที่จะมาตอกย้ำความสำเร็จของการดำเนินงานครบรอบ 60 ปี ของ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย นั่นเอง
สุดท้ายแล้ว โตโยต้า เชื่อว่าธุรกิจชุมชนคือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ และการที่ธุรกิจชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน จะทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างมั่นคง นั่นเอง..
Reference
-งานแถลงข่าวเปิดตัว ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 4 จังหวัด สงขลา
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.