ทำไม Tesla “ขายรถยนต์ 1 คัน” ถึงได้กำไรเท่ากับ Toyota “ขายรถยนต์ 8 คัน”

ทำไม Tesla “ขายรถยนต์ 1 คัน” ถึงได้กำไรเท่ากับ Toyota “ขายรถยนต์ 8 คัน”

8 พ.ย. 2022
ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา Toyota สามารถขายรถยนต์ได้ทั้งหมด 2.6 ล้านคัน
บริษัทมีกำไรทั้งสิ้น 3,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 117,400 ล้านบาท)
หมายความว่าเฉลี่ยแล้ว รถยนต์ Toyota 1 คัน สามารถทำกำไรได้ราว 1,211 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45,100 บาท)
ในขณะที่ไตรมาสเดียวกัน Tesla สามารถขายรถยนต์ได้เพียง 344,000 คัน
แต่ Tesla สามารถทำกำไรได้ถึง 3,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 122,700 ล้านบาท)
หมายความว่า รถยนต์ Tesla 1 คัน เฉลี่ยแล้วสามารถทำกำไรได้ 9,563 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 356,500 บาท)
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้า Tesla ขายรถได้ 1 คัน
และ Toyota อยากจะได้กำไรเท่า Tesla บ้าง
Toyota จะต้องขายรถยนต์ให้ได้ถึง 8 คันเลยทีเดียว..
และนอกจาก Tesla จะมีอัตรากำไรต่อคัน ที่เหนือกว่า Toyota แล้ว
Tesla ยังสามารถทำอัตรากำไรจากรถยนต์ต่อคัน แซงหน้ารถยนต์แบรนด์ยุโรปอย่าง Mercedes-Benz, BMW และ Volkswagen ได้อีกด้วย
แล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไร ทำไมแบรนด์รถยนต์ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ถึงมีอัตรากำไรแซงหน้าผู้ผลิตรถยนต์อันดับอย่าง Toyota ได้ขาดลอยขนาดนี้ ?
ในบทความนี้ MarketThink จะขออาสารวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ มาสรุปให้ทุกคนเข้าใจกัน..
- อย่างแรก Tesla มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าแบรนด์อื่น
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะในกระบวนการผลิตของ Tesla นั้น มีการติดตั้งเครื่องจักรที่เรียกว่า “Giga Press casting machines” หรือเครื่องจักรที่จะช่วยลดขั้นตอนยุ่งยากต่าง ๆ ในการผลิต
ให้ใช้ทั้งแรงงงาน และขั้นตอนที่น้อยลง แต่จะแลกมาด้วยคุณภาพที่อาจจะด้อยกว่ากระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมเล็กน้อย..
จุดนี้เองที่ทำให้ Tesla มีต้นทุนที่ “ถูกกว่า” แบรนด์รถยนต์อื่น ๆ ในตลาด
แถมในปัจจุบัน Tesla ยังมีรถยนต์ทำตลาดอยู่แค่ 4 รุ่นเท่านั้น ประกอบด้วย Model S, Model 3, Model X และ Model Y
ที่ทั้งหมดเป็นรถยนต์ EV ที่มีโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตและขั้นตอนการประกอบไม่ต่างกันนมาก ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่า
ผิดกับแบรนด์คู่แข่งอย่าง Toyota ที่มีจำนวนรุ่นรถยนต์ที่ทำตลาดเยอะ
ตั้งแต่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ทั้งรุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่ รวมไปถึงรถยนต์พลังงานไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตต่างกันโดยสิ้นเชิงอีกด้วย
- Tesla ทำการโฆษณาโดยใช้งบเพียง 0 บาท
นอกจากจะมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าแล้ว..
ด้วยบุคลิกเฉพาะตัวของ อีลอน มัสก์ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้พื้นที่สื่อไปฟรี ๆ อยู่เสมอ
รวมถึง Tesla ยังถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่มากับนวัตกรรมมากมาย เลยดึงดูดให้เหล่าครีเอเตอร์ มักนำรถ Tesla ไปรีวิวเองอยู่เสมอ
จึงมักทำให้ Tesla ที่เป็นธุรกิจของ มัสก์ ได้มีโอกาสสร้างการรับรู้แบบฟรี ๆ ไปด้วยเช่นกัน
และที่สำคัญเลยก็คือ “ช่องทางการจัดจำหน่าย” ของ Tesla ที่เน้นไปที่ช่องทางออนไลน์ โดยไม่ผ่านดีลเลอร์
จึงทำให้รายได้จากการขายรถยนต์ Tesla แต่ละคัน สามารถเข้าสู่บริษัทได้แบบเต็ม ๆ ไม่ต้องหัก % ให้ดีลเลอร์เหมือนกับหลายแบรนด์นั่นเอง
- ซื้อรถยนต์ของ Tesla ไม่พอ.. ต้องซื้อซอฟต์แวร์เพิ่มด้วย
จุดเด่นที่แบรนด์คู่แข่งในตลาดแทบสู้ Tesla ไม่ได้เลยในตอนนี้ ก็คือระบบการขับขี่อัตโนมัติ
โดย Tesla ก็ไม่ได้ให้ระบบนี้มาตั้งแต่แรก แต่จะเสนอขายเป็นบริการเสริม โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อแบบรายเดือนหรือซื้อถาวร
ยกตัวอย่างเช่นระบบ Full Self-Driving ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ Tesla เปิดให้ผู้ใช้สามารถจ่ายแบบรายเดือนเพื่อรับบริการดังกล่าวที่ราคาราว ๆ 199 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (7,400 บาท)
และเมื่อนำเหตุผลทั้งหมดนี้มาประกอบกับแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากของ Tesla จึงทำให้แม้จะตั้งราคาสูงกว่ารถทั่วไป ก็มีคนยอมซื้อ
ทั้งที่ปัจจุบันก็เริ่มมีหลายแบรนด์ที่ทำรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่า Tesla ออกมาวางจำหน่ายบ้างแล้ว แต่ยอดขายของ Tesla ก็ดูจะไม่ลดลงเลย
สะท้อนให้เห็นจากรถรุ่น Model Y และ Model 3 ที่ราคาเริ่มต้นก็ไม่ได้ถูกกว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในตลาด
(เริ่มต้น 1.7 ล้าน) แต่กลับสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้น 90% ในรอบ 2 ปีได้สำเร็จนั่นเอง..

—----------------------------------------
อ้างอิง :
-https://asia.nikkei.com/.../Tesla-earns-8-times-more...
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.