กรณีศึกษา Lisa Su ทำอย่างไร ให้ AMD กลับมาแข่งขันกับ Intel ได้อีกครั้ง

กรณีศึกษา Lisa Su ทำอย่างไร ให้ AMD กลับมาแข่งขันกับ Intel ได้อีกครั้ง

12 พ.ย. 2022
“Intel กับ AMD อะไรดีกว่ากัน..?” เป็นคำถามยอดฮิต ของคนที่กำลังจะซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องหนึ่ง เพราะในวงการผู้ผลิตชิปประมวลผล (CPU) มีเพียง Intel และ AMD เท่านั้น ที่เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ ผลัดกันชนะ ผลัดกันแพ้มาโดยตลอด นับตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั้ง Intel และ AMD ก่อตั้งขึ้น
แต่รู้หรือไม่ว่า AMD ก็เคยผ่านช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็น “ยุคมืด” สถานการณ์ย่ำแย่ ผลประกอบการขาดทุนในระดับ 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.4 หมื่นล้านบาท) ในปี 2012
ปล่อยให้ Intel กินส่วนแบ่งตลาด CPU ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ปี 2006 Intel มีส่วนแบ่งตลาด 74.4% ในขณะที่ AMD มีส่วนแบ่งตลาด 25.3%
- ปี 2016 Intel มีส่วนแบ่งตลาด 90.4% ในขณะที่ AMD มีส่วนแบ่งตลาด 9.6%
นั่นหมายความว่า ในระยะเวลา 10 ปี AMD เสียส่วนแบ่งตลาดที่เคยเป็นของตัวเองเกินครึ่งหนึ่ง ให้กับ Intel
และ Intel เอง ก็แทบไม่ต้องทำอะไรมาก ก็สามารถอยู่ได้แบบสบาย ๆ เพราะคู่แข่งของตัวเองอย่าง AMD มีส่วนแบ่งตลาดที่น้อยมาก จนอาจเรียกได้ว่า Intel “กินเรียบ” ในตลาด CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
แต่ในปัจจุบันยุคมืดของ AMD ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยฝีมือของ CEO หญิงคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า Lisa Su ผู้รับหน้าที่กอบกู้สถานการณ์ของ AMD จากบริษัทที่ขาดทุนนับหมื่นล้านบาท สู่อาณาจักรที่ผลิตกำไรปีละกว่าแสนล้านบาท
โดยในปี 2021 AMD
มีรายได้ 16,434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.1 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้น 68%
และมีกำไร 3,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้น 27% จากปีก่อนหน้า
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปเจาะลึก ว่า Lisa Su ทำอย่างไร จึงพา AMD กลับมาสู่ยุครุ่งเรือง และกลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Intel ได้อีกครั้ง หลังจากสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปนานหลายปี
- Lisa Su ผู้กอบกู้วิกฤติของ AMD
Lisa Su ขึ้นรับตำแหน่ง CEO คนปัจจุบันของ AMD ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่ AMD อยู่ในช่วงสถานการณ์ย่ำแย่ เนื่องจาก CPU ของตนเอง ไม่สามารถแข่งขันกับ Intel ได้เลย โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพที่ CPU ของ Intel ในช่วงเวลานั้น ทำได้ดีกว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ Lisa Su จึงต้องรับหน้าที่สำคัญ ในการแก้ไขสถานการณ์ให้กับ AMD..
สิ่งที่ Lisa Su ทำ เมื่อเริ่มเข้ารับตำแหน่ง CEO ของ AMD คือ การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เลือกให้ความสำคัญโดยมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ AMD ทำได้ดี นั่นคือ การผลิต CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ทั้งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และคอมพิวเตอร์สำหรับภาคธุรกิจ อย่างคลาวด์และศูนย์ข้อมูล
และเลิกให้ความสำคัญกับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ซึ่ง AMD เคยทำในช่วงก่อนหน้า รวมถึงตัดสินใจไม่ร่วมลงเล่นในตลาด CPU สำหรับโทรศัพท์สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ AMD ไม่ถนัด
หลังจากที่ AMD หาจุดโฟกัสในการทำธุรกิจ ตามแนวทางการบริหารงานของ Lisa Su ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก ซึ่งนับว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้ AMD กลับมาแข่งขันกับ Intel ได้ ก็เกิดขึ้น..
นั่นคือ AMD Ryzen ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรม CPU แบบใหม่ ที่ AMD ใช้เวลาในการพัฒนาอยู่นานหลายปี นับตั้งแต่ที่ Lisa Su เข้ารับตำแหน่ง CEO ในปี 2014 จนกระทั่งเปิดตัว CPU AMD Ryzen รุ่นแรกได้ในปี 2017 ซึ่งช่วยลบจุดอ่อนของ CPU ของ AMD ในยุคก่อน ๆ ด้วยประสิทธิภาพที่แข่งขันกับ Intel ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และมีประสิทธิภาพดีกว่าในบางแง่มุม
หลังจากที่ AMD วางจำหน่าย AMD Ryzen ไปได้สักระยะหนึ่ง ชื่อเสียง และความนิยมใน AMD ก็เริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง..
นอกจากนี้ AMD ยังพัฒนา AMD EPYC ซึ่งเป็น CPU ของลูกค้าองค์กร ที่ต้องการ CPU ประสิทธิภาพสูง สำหรับคลาวด์ หรือศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ โดยมีลูกค้าเป็นบริษัทระดับโลกที่เรารู้จักกันดี ทั้ง Google, Amazon Web Services (AWS), Oracle และ Microsoft เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ AMD เริ่มเจาะตลาดเข้าไป
- ผลของการเลือกทำในสิ่งที่ถนัด
หลังจากที่ Lisa Su เข้ารับตำแหน่ง CEO เมื่อปี 2014 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 8 ปีแล้ว
และผลจากกลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ของ Lisa Su ที่ต้องการเลือกทำในสิ่งที่ AMD ถนัด ทำให้ในวันนี้ AMD มีแหล่งรายได้หลัก จาก 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ AMD EPYC ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับศูนย์ข้อมูล สร้างรายได้ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.9 หมื่นล้านบาท)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สร้างรายได้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ Gaming สร้างรายได้ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.9 หมื่นล้านบาท)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ Embedded สร้างรายได้ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 หมื่นล้านบาท)
ในปัจจุบัน AMD กลับมาครองส่วนแบ่งตลาด CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ได้แล้ว ราว 25.6% ซึ่งนับว่าเป็นส่วนแบ่งตลาดที่มากที่สุดที่ AMD เคยทำได้ นับตั้งแต่ปี 2006
ในขณะที่ ส่วนแบ่งตลาด CPU สำหรับศูนย์ข้อมูล ก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามทิศทางที่ Lisa Su ได้วางไว้ ด้วยส่วนแบ่งตลาด ที่เพิ่มขึ้นจาก 0.8% ในปี 2017 เป็น 10.7% ในปี 2021
และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ AMD บริษัทแนวหน้าในวงการคอมพิวเตอร์ระดับโลก ที่ผ่านเรื่องราวทั้งรุ่งเรือง และตกต่ำ แต่ก็สามารถปรับตัว และเอาตัวรอด
จนกลับมากลายเป็นบริษัทที่มีรายได้ 6.1 แสนล้านบาท ด้วยฝีมือของ CEO หญิง ที่ชื่อว่า Lisa Su..
อ้างอิง:
-https://www.macrotrends.net/stocks/charts/AMD/amd/operating-income
-https://www.tomshardware.com/news/intel-amd-4q-2021-2022-market-share-desktop-notebook-server-x86
-https://www.windowscentral.com/decade-in-review-amd-ryzen-intel-2010s
-https://theeconreview.com/2019/10/28/comeback-story-amds-revival-of-consumer-electronics-and-mindshare-in-the-industry/
-https://edition.cnn.com/2020/03/27/tech/lisa-su-amd-risk-takers/index.html
-https://www.youtube.com/watch?v=amBe2bofVas
-https://www.anandtech.com/show/6690/amd-q412-and-fy-2012-earnings-closing-out-a-rough-year-looking-towards-the-next
-https://ir.amd.com/news-events/press-releases/detail/1098/amd-reports-third-quarter-2022-financial-results
-https://ir.amd.com/news-events/press-releases/detail/1044/amd-reports-fourth-quarter-and-full-year-2021-financial
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.