กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นเครือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ เร่งเครื่อง งัดหลากกลยุทธ์ สร้างการเติบโต มีขยายแบรนด์ใหม่

กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นเครือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ เร่งเครื่อง งัดหลากกลยุทธ์ สร้างการเติบโต มีขยายแบรนด์ใหม่

14 พ.ย. 2022
ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Japanese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ “CRG” ให้ข้อมูลว่า
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการปรับตัวของผู้บริโภคที่กลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ ในขณะที่เชนร้านอาหารรายใหญ่ เริ่มลงทุนในการเร่งขยายสาขามากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ
ประกอบกับในปัจจุบัน ร้านอาหารมีหลายเซ็กเมนต์ จึงทำให้มีผู้เล่นหรือแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดคึกคักและมีการแข่งขันสูงขึ้น
สำหรับภาพรวมของกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นของ CRG ซึ่งประกอบด้วย 6 แบรนด์อาหารญี่ปุ่นชั้นนำ
เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง ราเมน (Chabuton), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya) และคัตสึยะ (Katsuya)
ด้วยสถานการณ์โควิดเริ่มเบาบางลง ทำให้แนวโน้มตลาดร้านอาหารกลับมาคึกคักขึ้น
กลุ่ม Japanese Cuisine ของ CRG จึงพร้อมเดินหน้าธุรกิจเต็มพิกัด ด้วยกลยุทธ์สร้างการเติบโต การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น พัฒนาเมนูใหม่ ๆ และเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ
โดยตั้งเป้าปี 2565 กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น จะสามารถสร้างรายได้ที่ 2,000 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ทั้งหมดของ CRG) เติบโตขึ้นมากกว่า 35%
และปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ที่เติบโตขึ้นไปอีก แตะ 2,300 ล้านบาท
- กลยุทธ์สร้างการเติบโต กลุ่ม Japanese Cuisine ของ CRG
1) พัฒนาเมนูใหม่ ๆ
เพื่อส่งมอบความอร่อยหลากหลายเมนู และเข้าถึงทุกช่วงโอกาส
การเพิ่มความวาไรตี้ทางด้านเมนู เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ และทุกไลฟ์สไตล์
รวมไปถึงการนำ Innovation ต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอด และนำเสนอเมนูใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สร้างความน่าสนใจ แปลกใหม่
ในขณะเดียวกัน ยังเพิ่มเติมในส่วนของเมนูสินค้าใน “กลุ่มพรีเมียม” เพื่อเพิ่มทางเลือก และเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (RTE) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของร้านค้า ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมือง ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ และต้องการความสะดวกสบาย สามารถซื้อทานหรือทำทานเองได้ที่บ้าน
กลุ่ม Japanese Cuisine จึงพัฒนาและต่อยอดเมนู สินค้าอาหารพร้อมทาน และสินค้าอาหารพร้อมปรุง โดยสามารถซื้อทาน หรือทำทานเองที่บ้านได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เพิ่มความสะดวกสบาย แต่ยังคงได้ความอร่อยเสมือนรับประทานที่ร้าน
2) รุกหาลูกค้า
โดยเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ด้วย New Format / New Sale Model เพื่อเร่งสร้างยอดขาย และตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค
จึงเร่งขยายสาขาเพิ่มในหลากหลายโมเดล ทั้งที่เป็นโมเดลร้านขนาดเล็ก และในรูปแบบ Hybrid Cloud
รวมถึงยังเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารขยายสาขาได้คล่องตัว และครอบคลุมพื้นที่ และรองรับธุรกิจดิลิเวอรี
โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารญี่ปุ่น มีจำนวนสาขารวม 211 สาขา (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 65)
และในปีนี้มีการขยายจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นในทุก ๆ แบรนด์ ซึ่งภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
3) ขยายพอร์ตโฟลิโอเปิดแบรนด์ใหม่ สร้างความแข็งแกร่ง ด้วยราเมนระดับ Top 3
เปิดตัวแบรนด์ “ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi)” ร้านราเมนยอดนิยมของญี่ปุ่น ที่มีมานานกว่า 30 ปี เป็นราเมงชื่อดังที่มีเอกลักษณ์ที่คนไทยรู้จักกันดี ด้วยจำนวนสาขากว่า 200 สาขาทั่วประเทศ และมากกว่า 290 สาขาทั่วโลก เช่น ไต้หวัน, จีน และเซี่ยงไฮ้
กับคอนเซปต์ “Ramen คือความบันเทิงระดับโลกของญี่ปุ่น” เจ้าแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนู และสั่งซื้อโดยตรงผ่านตู้สั่งอาหาร (Ordering Machine) ที่เสิร์ฟราเมนสูตรต้นตำรับ ราคาไม่แพง ด้วยวัตถุดิบคุณภาพสูง น้ำซุปกระเทียมทงคตสึ และส่วนผสมที่ผ่านการเคี่ยวอย่างพิถีพิถัน นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 100%
ด้วย Brand Character ที่ชัดเจน มีเมนูที่หลากหลาย และน่าสนใจในเรื่องของความเป็น Product Innovation ทั้งในด้าน รสชาติ คุณภาพ และสไตล์ ที่กินได้ทุกวัน
ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของอาหารเอเชียในไทย ที่เพิ่มมากขึ้น จึงมองเห็นโอกาสในการนำเข้ามาสู่ตลาดประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปี 2021 ภาพรวมตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท
แต่ช่วงก่อนโควิดมีมูลค่าที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีหน้าตลาดจะฟื้นกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด
สำหรับแผนการขยายสาขา “ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ” ตั้งเป้าเปิด 1 สาขาภายในปี 2565 และเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา ภายในปี 2566
ที่สำคัญ นอกจากจะเปิดตัวแบรนด์ราเมนแบรนด์ใหม่จากญี่ปุ่นแล้ว
กลุ่ม Japanese Cuisine ของ CRG ยังมีแผนการขยาย Category อื่น ๆ ที่ยังไม่มีในพอร์ตโฟลิโอเพิ่มเติมอีกด้วย
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อขอนำเข้าแฟรนไชส์ร้านอาหารจากญี่ปุ่น เช่น ร้านปิ้งย่าง, ร้านอิซากายะซึ่งจะเป็นแบรนด์ระดับ Top ของตลาด ที่จะสร้างความตื่นเต้น และแปลกใหม่ให้ตลาดได้
รวมถึงแฟรนไชส์แบรนด์อาหารเกาหลี เพื่อเจาะตลาดอาหารเกาหลีที่กำลังเติบโตแรงในไทย
นอกจากนี้ ก็ยังเดินหน้าปั้น Virtual Brand นำร่องด้วยแบรนด์ คาโคมิ (Kakomi) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เร่งรีบ กับชุดเบนโตะย่างถ่านสไตล์ญี่ปุ่น ในราคาย่อมเยา
พร้อมวางแผนพัฒนาเมนูใหม่ แตกไลน์เมนูอาหารให้หลากหลายยิ่งขึ้นต่อไป
4) ส่งแคมเปญใหญ่ กระตุ้นตลาดในช่วงปลายปี
กับแคมเปญ ฉลองครบรอบ 16 ปี เปปเปอร์ ลันช์
: อัปความสุข (Happy Up) กับกิจกรรม “Pepper Park” ที่นำเกมและกิจกรรมส่งตรงมาจากสิงค์โปร์ ให้ได้ร่วมสนุก และยังจำลองร้านเปปเปอร์ ลันช์ ให้ลูกค้าได้มาร่วมถ่ายรูป และร่วมกิจกรรมสนุก ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ พื้นที่ลานกิจกรรมบริเวณทางลาด BTS ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน
: ฟรีอัพไซส์ 3 เมนูซิกเนเจอร์ ได้แก่ ข้าวเปปเปอร์เนื้อ (U.S.Beef), ข้าวเปปเปอร์หมู และ ข้าวเปปเปอร์ไก่ ตั้งแต่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ร้านเปปเปอร์ ลันช์ ทุกสาขา (ยกเว้น สนามบินดอนเมือง และ ฟู้ด พาทิโอ้ เซ็นทรัล บางนา)
: Lucky Drawn ลุ้นรับรางวัลใหญ่ รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท เช่น iPhone 14 Pro Max 256 GB, บัตรที่พักโรงแรมในเครือเซ็นทารา, บัตรของขวัญเซ็นทรัล และบัตรของขวัญเปปเปอร์ ลันช์ และรางวัลอื่น ๆ
เมื่อทานอาหารที่เปปเปอร์ ลันช์ ครบ 400 บาทขึ้นไป รับคูปองเพื่อชิงโชค 1 สิทธิ์ ตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2565
จับรางวัล 12 มกราคม 2566 5 และประกาศรายชื่อผู้โชคดีผ่านทาง Facebook pepperlunchthailand วันที่ 13 มกราคม 2566
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.