ทำไม การซื้อของในเทศกาลช็อปปิง ถึงทำให้เรารู้สึกดี แม้จะไม่ได้ส่วนลดเยอะก็ตาม..

ทำไม การซื้อของในเทศกาลช็อปปิง ถึงทำให้เรารู้สึกดี แม้จะไม่ได้ส่วนลดเยอะก็ตาม..

30 พ.ย. 2022
เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่.. คงจะต้องเคยผ่านประสบการณ์การช็อปปิงในเทศกาล อย่าง 11.11, Black Friday, Cyber Monday หรือแม้แต่ Flash Sale กันมาสักครั้ง
เพราะเป็นช่วงที่หลายแบรนด์มักจะถือโอกาส ลดราคาสินค้ากันแบบสุดโหด
จนหลายคนอดใจไม่ไหว ต้องขอซื้อสินค้าติดมือกลับบ้านกันสักชิ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองกันตามความจริง จะเห็นได้ว่าบางทีโปรโมชันในเทศกาลเหล่านี้
แม้จะมีสินค้าลดราคาเยอะ แต่สินค้าบางชนิด ก็อาจจะไม่ได้ลดราคาเยอะมากขนาดนั้น
เผลอ ๆ บางชนิดยังลดราคาเพียงแค่ 10-15% ไม่ต่างจากโปรโมชันในช่วงเวลาปกติสักเท่าไร
ซึ่งนี่ยังไม่นับแบรนด์ที่มักใช้กลยุทธ์การตั้งราคาสูง ๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยลดราคามาก ๆ ทีหลัง เพื่อให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลดดูเยอะ
แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไมพวกเราเหล่าผู้บริโภค ถึงยังรู้สึกดีที่จะได้ซื้อของในช่วงเทศกาลเหล่านี้
ทั้ง ๆ ที่ซื้อในช่วงอื่น ก็อาจจะได้ราคาดีไม่ต่างกัน ?
คำตอบของเรื่องนี้น่าสนใจ.. เพราะลึก ๆ แล้วมันมีเหตุผลทางจิตวิทยาซ่อนอยู่..
แล้วมันเป็นเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ในบทความนี้ MarketThink จะขออาสาไปรวบรวมคำตอบของเรื่องนี้ มาสรุปให้ทุกคนได้เข้าใจกัน..
มีผลสำรวจของ “คุณสก็อตต์ ริก” รองศาสตราจารย์จาก Michigan Ross School of Business ได้บอกว่า
ในเทศกาลช็อปปิงนั้น เอื้อให้เกิด “Shopping Momentum” อาการที่เมื่อคนเราได้เริ่มซื้อของที่ราคาถูกมาก ๆ หรือของลดราคาสักชิ้นหนึ่งแล้ว “เราจะอยากได้ชิ้นต่อไปเรื่อย ๆ”
เพราะในช่วงเทศกาลช็อปปิง มันเป็นเรื่องปกติมากที่หลายแบรนด์เหมือนจะถูกบังคับอ้อม ๆ ให้ต้องทำโปรโมชันลดแลกแจกแถม
ลองนึกดูว่า ถ้าเราเป็นคนทำธุรกิจ แล้วคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันทำโปรโมชันแบบนี้กันหมด
ถ้าเราไม่ทำบ้าง ก็จะดูเสียโอกาส จนอาจถูกตัดออกจากตัวเลือกของผู้บริโภคได้ง่าย ๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะให้บ้าจี้ลดราคาสินค้าที่มีความต้องการสูงของแบรนด์ตามกันไปหมด มันก็ไม่ใช่เรื่อง..
หลายแบรนด์จึงเลือกใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “Loss Leader Pricing”
(การยอมลดราคาของอย่างใดอย่างหนึ่ง จนถูกมากถึงขั้นยอมขาดทุน เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้าน)
มาใช้กับสินค้าที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมของแบรนด์
หรือใช้กับสินค้าที่เลยจุดคุ้มทุนมาแล้ว แต่ยังเหลือในสต็อกแทน
แล้วลดราคาสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงของตัวเอง “แค่เล็กน้อย” เพื่อให้เข้ากับเทรนด์ของเทศกาลช็อปปิง
พูดให้เห็นภาพคือ สมมติว่าร้านขายทีวี แทนที่จะลดราคาทีวีเยอะ ๆ ในเทศกาล Black Friday
แต่พวกเขาเลือกที่จะลดราคาขาตั้งทีวีในราคาลด 90%
เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร้าน แล้วมาเจอทีวีที่กำลังลดราคาเพียงแค่ 10% แทน
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอแบบนี้ แม้แต่คนที่ยังไม่มีแผนจะซื้อทีวี ยังอาจต้องสนใจซื้อขาตั้งทีวีเก็บไว้ก่อน
ซึ่งตรงนี้แหละที่อาการ “Shopping Momentum” มันเกิดขึ้น
เพราะเมื่อเราซื้อของสักชิ้นหนึ่งที่ราคาถูกมาก ๆ มาแล้ว
เราจะเริ่มมีแรงกระตุ้นให้อยากซื้อของอีกชิ้นต่อทันที
จนทำให้ทีวีที่ลดราคาเพียงแค่ 10% นั้น ดูน่าสนใจขึ้นมาทันที..
โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะเห็นกลยุทธ์แบบนี้บนแพลตฟอร์ม E-Commerce ตามวันสำคัญ ๆ เช่น 11.11 หรือช่วง Flash Sale
ที่มักจะเต็มไปด้วยของราคาถูก เช่น
- ไม้หนีบ ลดเหลือ 9 บาท
- ดินสอสี ลดเหลือ 20 บาท
- ผ้าอเนกประสงค์ ลดเหลือ 9 บาท
จะเห็นได้ว่าของพวกนี้ ถ้ารวมกับค่าส่งที่ถูกมาก ๆ ในสมัยนี้
การจะกดซื้อมาไว้ก่อน ก็ไม่ได้เสียหายอะไร..
โดยยังมีผลสำรวจบอกเราอีกด้วยว่า นิสัยของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะลดราคามากหรือน้อย “ก็ชอบของลดราคาอยู่ดี”
จึงทำให้พวกเราแทบไม่ลังเลเลย ที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า
ตอนเจอข้อเสนอชนิดที่ลดราคาถึง 70-90% “แม้เราจะยังไม่ต้องการใช้มันก็ตาม”
ตรงนี้แหละที่เป็นตัวกระตุ้นชั้นดี ให้พวกเราหยิบสินค้าลงตะกร้า แล้วซื้อของชิ้นถัดไปได้ง่ายขึ้น
และเพิ่มโอกาสให้แพลตฟอร์มพวกนี้มีรายได้มากขึ้น
และเมื่อแทบทุกร้านจัดโปรโมชันแบบนี้พร้อม ๆ กันในเทศกาลช็อปปิง
มันจึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นของทุกอย่างดูคุ้มค่าคุ้มราคาไปหมด
นั่นก็เพราะเรามีโอกาสสูง ที่จะโดนล่อซื้อจากข้อเสนอลดราคาโหด ๆ ของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งไปแล้ว จนเกิดอาการ “Shopping Momentum” แล้วมองทุกอย่างน่าซื้อไปหมดนั่นเอง..
และรู้หรือไม่ ในช่วง Black Friday ในปีนี้ ชาวอเมริกัน มียอดการจับจ่ายเฉลี่ยต่อคน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 321,210 ล้านบาท)
แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติเงินเฟ้อสูง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก็ตาม..
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเริ่มได้คำตอบในใจแล้วว่า
ทำไมหลายแบรนด์ ถึงเริ่มมองหาช่องทางในการทำเทศกาลช็อปปิงเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น
- Cyber Monday ที่ต่อยอดมาจาก Black Friday
- การเล่นกับวันเลขซ้ำ ตั้งแต่ 1.1 ไปจนถึง 12.12 ที่ต่อยอดมาจากเทศกาลคนโสด 11.11
และนี่ยังไม่นับการทำ Flash Sale ที่จัดกันแทบจะรายวัน
เพราะแบรนด์แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ แค่ลดราคาของที่คุ้มทุนแล้ว หรือของค้างสต็อก
ก็มีโอกาสเพิ่มยอดขายให้ของชิ้นใหญ่ของตัวเอง ได้ง่าย ๆ..
อ้างอิง:
-https://www.cnbc.com/2019/11/29/psychology-of-black-friday-shopping-phenomenon-and-crowds-explained.html?__source=iosappshare%7Ccom.facebook.Messenger.ShareExtension&fbclid=IwAR09U9vcTR_YljqHYAwsPMtwBhT0Sg3ygQyd5_z4i6x80Gi5CB7zKNfPA9I
-https://www.reuters.com/business/retail-consumer/adobe-says-black-friday-online-sales-hit-record-9-bln-2022-11-26/?fbclid=IwAR1z82722dU5kZ74JXHaR36PnCzBFzJS7xZv-Gj7EC9PH1vUKh4XKGo_Ylg
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.