ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ปี 2565 คนไทยเลี้ยงแมว - สุนัข เพิ่มขึ้น อาหารแมวเติบโต แต่อาหารสุนัขหดตัว

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ปี 2565 คนไทยเลี้ยงแมว - สุนัข เพิ่มขึ้น อาหารแมวเติบโต แต่อาหารสุนัขหดตัว

7 ธ.ค. 2022
Kantar บริษัทวิจัย และที่ปรึกษาทางการตลาด เปิดเทรนด์ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ประจำปี 2565 พบว่า มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งในด้านมูลค่าตลาด จำนวนผู้ซื้อ รวมถึงผู้เล่นที่มากขึ้น
โดยปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยเติบโต เกิดจากสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนนิยมมีลูกน้อยลง แต่แทนที่ด้วยการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข และแมว แทน
สิ่งที่น่าสนใจคือ เจ้าของสัตว์เลี้ยง มองสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกภายในครอบครัว หรือเรียกว่า Pet Humanization ทำให้ครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้มีพฤติกรรมที่คล้ายกับครัวเรือนที่มีเด็ก โดยจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง “ที่ดีที่สุด” ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเติบโตตามไปด้วย
โดย Kantar ได้สรุปข้อมูลตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ออกเป็น 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่
1. ครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเติบโต โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
จากข้อมูลพบว่า ในช่วงระหว่างไตรมาส 3 ปี 2564 และไตรมาส 3 ปี 2565 ของภาพรวมทั้งประเทศ ครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น
- ครัวเรือนที่เลี้ยงแมว เพิ่มขึ้น 2.4%
- ครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัข ลดลง 0.9%
- ครัวเรือนที่เลี้ยงทั้งแมว และสุนัข เพิ่มขึ้น 1.8%
และหากเจาะลึกไปที่พื้นที่กรุงเทพฯ จะพบว่า มีจำนวนครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมากที่สุด
- ครัวเรือนที่เลี้ยงแมว เพิ่มขึ้น 6.1%
- ครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัข เพิ่มขึ้น 7.4%
- ครัวเรือนที่เลี้ยงทั้งแมว และสุนัข เพิ่มขึ้น 16.3%
2. ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโดยรวมเติบโต
แม้ข้อมูลข้างต้น จะระบุว่าครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะเพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบัน มีครัวเรือนน้อยกว่าครึ่งที่ซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงแบบบรรจุหีบห่อ
ทำให้ยังคงมีช่องว่าง และโอกาส ที่แบรนด์ต่าง ๆ จะเข้าสู่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงได้
ในขณะนี้ อาหารแมวมีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่ดุเดือด โดยอาหารแมว 8 แบรนด์ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดไปได้ถึง 80%
ในขณะที่อาหารสุนัขมีผู้เล่นรายหลัก ๆ อยู่ราว 5 แบรนด์ และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้บริโภคจะซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง 2 แบรนด์ต่อปี
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า การเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในภาพรวมนั้น อยู่ที่ราว 4.5% โดยเป็นการเติบโตจากอาหารแมว ที่เติบโต 7.5% ในขณะที่อาหารสุนัขนั้น หดตัวลง 2%
ส่วนในด้านการใช้จ่ายเงิน และความถี่ในการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงนั้น พบว่า เจ้าของแมว มีความถี่ในการซื้อ 15.25 ครั้งต่อปี และใช้จ่ายเงินเฉลี่ย 125.4 บาทต่อครั้ง
ในที่ขณะที่เจ้าของสุนัข มีความถี่ในการซื้อที่น้อยกว่า ที่ 7.73 ครั้งต่อปี และใช้จ่ายเฉลี่ย 184.6 บาทต่อครั้ง
3. เทรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียมกำลังมาแรง
จากข้อมูลพบว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในภาพรวม อาหารสัตว์เลี้ยงแบบแห้งกำลังครองตลาด
หากเจาะลึกไปที่อาหารแมว จะพบว่า อาหารแมวแบบเปียก ขายได้ดีกว่าอาหารสุนัขแบบเปียก
อย่างไรก็ตาม อาหารแมวแบบเปียกยังคงมีสัดส่วนน้อย อยู่ที่ราว 15% เท่านั้น แต่หากนับเฉพาะการเติบโต จะพบว่า อาหารแมวแบบเปียก เติบโตเร็วกว่าอาหารแมวแบบแห้ง
นั่นหมายความว่า แบรนด์ต่าง ๆ ควรให้ความสนใจกับสินค้าในรูปแบบนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ อาหารแมว และอาหารสุนัข กำลังมีแนวโน้ม “พรีเมียม” มากขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพรีเมียม และซุปเปอร์พรีเมียมเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่สุด สวนทางกับอาหารสัตว์เลี้ยงในรูปแบบตัก กลับมีความนิยมลดลง เพราะเจ้าของสัตว์เลี้ยงหันไปซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงในรูปแบบบรรจุภัณฑ์แทน
4. ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เติบโต ส่วนออนไลน์น่าจับตามอง
ร้าน Pet Shop หรือร้านที่ขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง มีส่วนแบ่งมูลค่ายอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงมากที่สุด แต่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ก็กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ช่องทางออนไลน์ พบว่า ได้รับความนิยม ในกลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องการกักตุนสินค้าไว้
นั่นหมายความว่า แบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าในทุกช่องทาง ทั้ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.