กรณีศึกษา “All Thai Taxi” จากนครชัยแอร์ ที่เคยสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร แต่ไปไม่ถึงฝัน..

กรณีศึกษา “All Thai Taxi” จากนครชัยแอร์ ที่เคยสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร แต่ไปไม่ถึงฝัน..

10 ธ.ค. 2022
“ส่งรถครับ”
“พี่ขอคิดราคาเหมาได้ไหม”
“พี่ต้องไปเติมแก๊ส”
คงจะเป็นคำพูดที่เราได้ยินกันจนชิน
เมื่อเราโบกแท็กซี่ แล้วพบว่าจุดหมายปลายทางในใจของเรา กับจุดหมายปลายทางของพี่คนขับ ดันไม่ตรงกัน..
ซึ่งการถูกแท็กซี่ปฏิเสธ เป็นปัญหาที่คาราคาซังในสังคมไทยกันมานาน แล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นง่าย ๆ
จนหลัง ๆ นอกจากการภาวนาให้พี่คนขับรับเราแล้ว หลายคนก็ต้องหันไปพึ่งบริการจากแพลตฟอร์ม อย่าง GrabTaxi และ LINE MAN Taxi กันมากขึ้น เพราะสามารถคาดเดาราคาได้แน่นอน แถมยังมีระบบการชำระเงินที่หลากหลาย
ต่างจากแท็กซี่ทั่วไป ที่แม้ว่านี่จะเป็นปี 2022 แล้ว แต่เรื่องง่าย ๆ อย่าง การขอชำระค่าโดยสารผ่าน
QR Code ก็ยังทำให้เราต้องลุ้นกันจนเกร็งว่า พี่แท็กซี่จะรับหรือเปล่า..
อย่างไรก็ตาม รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้ ก็เคยมีแบรนด์รถแท็กซี่ที่สามารถแก้ปัญหาของแท็กซี่ไทยได้เกือบหมด ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มเรียกรถยอดนิยมในปัจจุบันอยู่เหมือนกัน
นั่นก็คือ “All Thai Taxi” แบรนด์รถแท็กซี่ของนครชัยแอร์ ที่มีภาพจำเป็นรถ Toyota Prius คันสีเหลือง ที่มีจุดเด่นคือ
- ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร
- เรียกได้ผ่านแอป
- เน้นบริการดี สุภาพ คนขับใส่ยูนิฟอร์มสีชมพู
- ชำระเงินผ่าน QR Code ได้
แต่ก็น่าเสียดายที่ All Thai Taxi เปิดให้บริการได้แค่ไม่กี่ปี ก็ต้องมาประกาศขายรถ Toyota Prius เกือบทั้งหมดของบริษัท กันไปแบบดื้อ ๆ
โดยในบทความนี้ MarketThink จะขออาสาสรุปกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ว่าทำไมแท็กซี่ที่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ถึงไปไม่รอดในท้ายที่สุด..
- จุดเริ่มต้นของ “All Thai Taxi”
จากผลสำรวจของธนาคารออมสิน พบว่า คนขับแท็กซี่ไทย มีรายได้เฉลี่ยวันละ 405 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งพูดกันตามตรง “มันอาจน้อยเกินไป” เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเมือง หรือการต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว
ทำให้แท็กซี่ (บางส่วน) ต้องคำนวณจุดหมายปลายทางให้คุ้มต่อการเดินทางแต่ละครั้ง เพื่อลดโอกาสการตีรถเปล่ากลับมาหาลูกค้าคนต่อไปให้ได้มากที่สุด
สุดท้ายก็กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารของแท็กซี่เมืองไทย..
พอเป็นแบบนี้ นครชัยแอร์ จึงได้เกิดไอเดียที่มาแก้ปัญหา
โดยการทำแบรนด์แท็กซี่ที่ “ให้เงินเดือนคนขับ” คล้ายกับการจ้างพนักงานเงินเดือน
เพื่อจูงใจให้แท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะไม่ว่าจะวิ่งไปไกลหรือใกล้ ก็ได้เงินเดือนจากบริษัทอยู่ดี ขอแค่ทำงานให้ครบชั่วโมงก็พอ..
นอกจากจะเป็นแท็กซี่ที่เรียกไปไหนก็ไปแล้ว All Thai Taxi ยังดึงดูดผู้ใช้ด้วยการนำรถ Toyota Prius ที่ดูเป็น “ของใหม่” สำหรับผู้บริโภคในตอนนั้น มาวิ่งแท็กซี่ พ่วงด้วยบริการเรียกรถผ่านแอป ที่คิดค่าเรียกเริ่มต้นที่ 40 บาทอีกด้วย..
และด้วยแนวทางที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้แบบนี้
จึงทำให้ All Thai Taxi เข้าไปนั่งในใจของผู้บริโภคได้ไม่ยากนัก
- ความล้มเหลวของ All Thai Taxi ไม่ได้เกิดจากฝั่งคนนั่ง แต่เกิดจากฝั่งคนขับต่างหาก..
แน่นอนว่าการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบกับทางฝั่งผู้ใช้แน่ ๆ
แต่ก็น่าสนใจ เพราะถ้าลองดูที่ตัวเลขในฝั่งของคนขับ All Thai Taxi
ปี 2559 มีคนขับ 549 คน
ปี 2560 มีคนขับ 420 คน
ปี 2564 เหลือคนขับเพียง 137 คนเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า All Thai Taxi มีคนขับน้อยลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด 19 เสียอีก
จึงทำให้พออนุมานได้ว่า ระบบ “เงินเดือน” ของบริษัท น่าจะเจอกับปัญหาอะไรบางอย่าง ที่จูงใจให้คนขับอยู่ต่อไม่ได้..
เรื่องนี้ก็มีหลายคนบนโลกออนไลน์ที่มาแชร์ประสบการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า คนขับ All Thai Taxi หลายคนอาศัยช่องโหว่จากระบบเงินเดือน มาเอาเปรียบบริษัท
- บางคนแค่สมัครเอารถมาวิ่งเฉย ๆ ให้ครบเวลา โดยไม่รับผู้โดยสาร
- บางคนจอดรถนอนเล่นที่ปั๊มน้ำมัน รอให้เวลาหมด
- บางคนเอารถไปปล่อยให้คนอื่นเช่าอีกต่อหนึ่ง เพื่อเอารายได้ 2 ทาง..
เพราะไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็ได้เงินเดือนอยู่แล้ว จะแคร์ไปทำไม..
พอเป็นแบบนี้ บริษัทจึงต้องแก้เกมด้วยการปรับเงื่อนไขการให้เงินเดือนยากขึ้น เช่น ต้องทำเวลาให้ครบกำหนด หรือต้องวิ่งทำยอดให้ได้ตามเกณฑ์
จนสุดท้ายเงื่อนไขก็เยอะ จนความคุ้มค่าของการเป็นพนักงาน All Thai Taxi ก็ดูจะสู้ผลตอบแทนของการวิ่งแท็กซี่แบบเก่า ๆ ไม่ได้
แถมช่วงนั้นยังมี Grab ที่มาพร้อมกับค่าตอบแทนที่จูงใจกว่า
และไม่มีกฎระเบียบยุ่งยากมาเป็นตัวเลือกให้คนขับอีก
สรุปคือ All Thai Taxi จูงใจคนขับรายใหม่ ๆ ก็ไม่ได้
รั้งคนเก่าให้อยู่กับบริษัทต่อ ก็ยากขึ้นทุกวัน
และในเมื่อไม่มีคนมาวิ่งรถ ก็ยากมากที่บริษัทจะหารายได้มาดำเนินธุรกิจต่อไปได้นั่นเอง..
- ซ้ำร้ายกับการเลือกใช้รถ “Toyota Prius” มาวิ่งแท็กซี่..
มีผลสำรวจว่า ค่าบำรุงรักษารถแท็กซี่ทั่วไปนั้นอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อปี
เพราะแท็กซี่ส่วนใหญ่ใช้รถ Toyota Altis ที่มีอะไหล่ในท้องตลาดคอยรองรับเยอะ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาถูกมาก
ผิดกับรถ Toyota Prius ของ All Thai Taxi ที่เอาแค่ราคาแบตเตอรี่ไฮบริดในตอนนั้น ก็เริ่มต้นที่ราว ๆ 50,000 บาทเข้าไปแล้ว..
ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถของ All Thai Taxi นั้น สูงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไปในตลาดมาก
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าวิ่งรถในระยะทางเท่ากัน All Thai Taxi จะมีกำไรน้อยกว่าแท็กซี่ทั่วไปหลายเท่า..
จึงไม่แปลกเลยที่ All Thai Taxi จะหันหลังให้กับตลาดแท็กซี่ทั่วไปอย่างช้า ๆ และเริ่มหันไปโฟกัสที่ตลาด Taxi Premium ในช่วงหลัง ๆ..
อย่างการนำรถยนต์ Mercedes-Benz มาทำแท็กซี่ เพราะสามารถเพิ่มราคา (Markup) ได้ง่ายกว่าแท็กซี่ทั่วไป ซึ่งต้องมีราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท ตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง
สรุปก็คือ แม้ All Thai Taxi ในภาพจำที่เป็นรถ Toyota Prius คันสีเหลือง จะยังไม่หยุดให้บริการแบบถาวรในวันนี้ แต่ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ
โดยล่าสุด All Thai Taxi เหลือรถ Toyota Prius ที่เป็นภาพจำของใครหลายคนอยู่แค่ 137 คัน
แต่อยู่ในช่วงประกาศขายไปแล้ว 119 คัน (ไม่มีข้อมูลว่าตอนนี้ขายหมดหรือยัง)
เท่ากับว่าตอนนี้ อาจจะเหลือคนที่ขับรถให้ All Thai Taxi อยู่จริง ๆ ไม่ถึง 20 คนแล้ว..
จากเรื่องราวทั้งหมด มันก็น่าเสียดายที่เราต้องเสียแบรนด์แท็กซี่ที่บริการดี และไม่มีวันปฏิเสธผู้โดยสารไป
และมันก็น่าคิดตามว่า ถ้า All Thai Taxi ยังได้รับความนิยมอยู่เหมือนเมื่อก่อน น่าจะสามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มอย่าง Grab หรือ LINE MAN ได้อย่างสูสี
เพราะนอกจากการบริการที่พอฟัดพอเหวี่ยงแล้ว
ต้องไม่ลืมว่าแม้แพลตฟอร์มเหล่านี้จะกดเรียกตอนไหนก็ได้
แต่บางครั้งเราไม่สามารถไปยืนโบก LINE MAN Taxi หรือ GrabTaxi ตามถนน ให้จอดรับเราตรงนั้นเลย เหมือนกับที่ All Thai Taxi ทำได้
ซึ่งนั่นก็คงช่วยให้หลายคนไม่ต้องโบกแล้วภาวนา ว่าจะได้ขึ้นไหม.. เหมือนกับทุกวันนี้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.