ต่างชาติจับตามอง ไทย อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม อาจกลายเป็น “โรงงานโลก” แห่งใหม่ ทดแทนจีน

ต่างชาติจับตามอง ไทย อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม อาจกลายเป็น “โรงงานโลก” แห่งใหม่ ทดแทนจีน

27 ธ.ค. 2022
ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา จีน เป็นประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานโลก” เป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท
แต่จากการล็อกดาวน์อย่างยาวนาน การใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) รวมถึงปัจจัยทางด้านความกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้จีนอาจหมดแรงดึงดูด และไม่ใช่ “โรงงานโลก” อีกต่อไป
แม้จีนจะเพิ่งมีการประกาศปลดล็อกให้ชาวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีการกักตัวอีกแล้วก็ตาม
ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ให้ความเห็นต่อสถานะโรงงานโลกของจีน ที่กำลังสั่นคลอน โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 ปัจจัยสำคัญ นั่นคือ ความกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในยุคที่ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของโจ ไบเดน
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สถานะโรงงานโลกของจีนสั่นคลอน เพราะปัจจัยสำคัญที่สุด คือสถานการณ์โควิด ที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มประเมินแล้วว่า ไม่ควรพึ่งพาจีน ในฐานะฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว
ทำให้ในขณะนี้ หลายประเทศทั่วโลก ถูกจับตามองว่ามีโอกาสกลายเป็น “โรงงานโลก” แห่งใหม่ ทดแทนจีน ซึ่งประเทศเหล่านั้น ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย
ในกรณีของอินเดีย เราได้เห็นความพยายามของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่าง Apple ในการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน ไปยังอินเดีย อย่างต่อเนื่อง
โดยคาดการณ์ว่า อินเดีย จะเป็นฐานการผลิต iPhone ในสัดส่วนราว 5% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ภายในปีนี้ และคาดการณ์ว่า iPhone ราว 1 ใน 4 จะผลิตในประเทศอินเดีย ภายในปี 2025
นอกจาก Apple แล้ว อินเดีย ยังมีศักยภาพที่จะกลายเป็นโรงงานโลกแห่งใหม่ ด้วยจำนวนแรงงานที่มาก บวกกับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย ที่ดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ
โดยอินเดีย มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) อยู่ที่ราว 83,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.9 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 ที่ผ่านมา
ส่วนเวียดนาม มีเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ อยู่ที่ราว 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยเม็ดเงินนี้ ราว 60% เป็นการลงทุนในภาคการผลิต
โดยจุดแข็งของเวียดนาม อยู่ที่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้า รองเท้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
และในขณะนี้ มีบริษัทระดับโลกหลายแห่ง ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตบางส่วน ไปที่เวียดนาม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้ง Samsung, Nike และ Adidas รวมถึง Apple ที่กำลังวางแผนกระจายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ MacBook ไปที่เวียดนาม ในช่วงกลางปีหน้า
ส่วนในกรณีของประเทศไทยเอง ก็ได้ประโยชน์จากการที่จีน สูญเสียสถานะโรงงานโลกเช่นกัน
โดย Business Insider รายงานว่า เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ของไทย เพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วงปี 2020 - 2021
ตัวอย่างของบริษัทระดับโลกที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย มีทั้ง Sony ที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์สมาร์ตโฟนมาจากจีน รวมถึง Sharp ที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเครื่องพิมพ์บางส่วนมาจากจีน เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ
นอกจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว ยังมีบริษัทสัญชาติจีน ที่สนใจย้ายฐานการผลิตมายังไทยเช่นเดียวกัน
เช่น JinkoSolar ซึ่งเป็นบริษัทด้านโซลาร์เซล โดยให้เหตุผลว่า ไทยมีค่าแรงที่ต่ำกว่า และต้องการหลีกเลี่ยงแรงกดดันทางการค้า และการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ
รวมไปถึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่สนใจขยายการลงทุนและฐานการผลิต เข้ามาในประเทศไทยด้วย
ส่วนเพื่อนบ้านของไทย อย่างมาเลเซีย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีโอกาสเป็นโรงงานโลก ทดแทนจีนเช่นกัน
ในกรณีของมาเลเซีย สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดสถานะการณ์โควิดระบาด โดยหน่วยงานด้านการลงทุนของมาเลเซีย เคยให้ข้อมูลในปี 2020 ว่า มาเลเซีย สามารถดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตจากจีน มายังมาเลเซีย ได้ทั้งสิ้น 32 โครงการ
นอกจากนี้ Micron บริษัทด้านการผลิตชิปเซ็ตรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยังตัดสินใจลงทุนในมาเลเซีย ด้วยเม็ดเงินกว่า 339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ของมาเลเซียนี้ ทำให้มาเลเซีย มีเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ มากถึง 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2021
ซึ่งนับว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยส่วนใหญ่ เป็นเม็ดเงินการลงทุนจากภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.