เปิดแผนกลยุทธ์ โออิชิ กรุ๊ป ปี 66 เน้นปรับพอร์ต เร่งขยายกลุ่มลูกค้า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

เปิดแผนกลยุทธ์ โออิชิ กรุ๊ป ปี 66 เน้นปรับพอร์ต เร่งขยายกลุ่มลูกค้า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

31 ม.ค. 2023
โออิชิ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในเครือไทยเบฟ ภายใต้การนำของ คุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า
ผลประกอบการ ปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 12,696 ล้านบาท เติบโต 29.3% มีกำไร 1,199 ล้านบาท เติบโต 120% ซึ่งเกือบเท่ากันกับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด
โดยสัดส่วนรายได้ มาจากธุรกิจเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท เติบโต 16.7%
และกลุ่มธุรกิจอาหาร 5,404 ล้านบาท เติบโต 51.5%
ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจาก NielsenIQ (ประเทศไทย) ระบุว่า โออิชิ กรีนที ยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่ม โดยครองส่วนแบ่งตลาดมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 48%
จากตัวเลขทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ของโออิชิ กรุ๊ป ยังคงตอกย้ำจุดยืนด้านคุณภาพ ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพจากต้นตำรับประเทศญี่ปุ่น ที่ยึดมั่นในมาตรฐานการผลิตขั้นสูง ตลอดจนการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม โปรดักต์ และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มความน่าตื่นเต้นให้กับตลาดเสมอมา
วันนี้ MarketThink จะขอพาทุกคน ไปเปิดแผนกลยุทธ์ โออิชิ กรุ๊ป ปี 66 เพื่อดูวิธีคิดและกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ของผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น กัน
ธุรกิจเครื่องดื่ม
- ขยายกลุ่มลูกค้าครบทุกเซกเมนต์
ในปี 2565 ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมีมูลค่าตลาด 13,229 ล้านบาท เติบโต 22%
ซึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดเติบโต มาจากการขยายกลุ่มตลาดชาพรีเมียม ภายใต้แบรนด์โออิชิ โกลด์, การขยายกลุ่มตลาดชาผสมโซดา ภายใต้แบรนด์ โออิชิ ชาคูลล์ซ่า ที่ขายดีในกลุ่มโรงเรียน
และที่สำคัญคือ การแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจับเทรนด์ตลาดคนรักสุขภาพ ด้วยชาเขียวน้ำตาล 0% เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก
โดยแผนกลยุทธ์ในปี 2566 ของธุรกิจเครื่องดื่ม ประกอบไปด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
1) สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว
สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชิน ที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด เนื่องจากใบชามีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง มีสารคาเทชิน โดยเฉพาะยอดอ่อนใบชา 3 ใบ
และจากข้อมูลในหลาย ๆ งานวิจัยพบว่า คาเทชินทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียต่าง ๆ และเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่น
2) ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น
ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น อย่างเช่นในอดีต ที่โออิชิเคยทำบรรจุภัณฑ์ลายดาบพิฆาตอสูร หรือ Demon Slayer
3) ขยายเซกเมนต์น้ำตาล 0%
สร้างการเติบโตในกลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออิชิ ฮันนี เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน
รวมถึง โออิชิ โกลด์ ที่ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ โดยส่วนผสมหลัก ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัล ต่าง ๆ มากมาย
4) ขยายตลาดส่งออก
โดยโฟกัสไปที่ตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ธุรกิจอาหาร
- ขยับจากบุฟเฟต์ ออกมาโฟกัส A la carte มากขึ้น
เดิมทีแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ตของโออิชิ กรุ๊ป ส่วนใหญ่จะเป็นบุฟเฟต์ 80-90% แต่หลังจากนี้จะมีการปรับสัดส่วนให้มีความสมดุล เน้นอาหารแบบสั่งทานหรืออาหารจานด่วน (A la carte) และโฟกัสแบรนด์ใหม่มากขึ้น
ประเดิมด้วยการส่ง โออิชิ บิซโทโระ ร้านอาหารจานด่วนสไตล์ญี่ปุ่น ลุยแฟรนไชส์ครั้งแรก โดยใช้งบลงทุนเบื้องต้น 3 ล้านบาทต่อสาขา
สาเหตุที่เลือก โออิชิ บิซโทโระ มาทำเป็นโมเดลแฟรนไชส์ครั้งแรก ก็เพราะโมเดลธุรกิจมีขนาดเล็ก สามารถขยายสาขาได้ง่าย รวมถึงใช้คอนเซปต์ “Good Value for Money” ที่ราคาอาหารไม่เกิน 200 บาทต่อเซ็ต จึงทำให้แบรนด์ สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น โมเดลการขยายสาขาในอนาคต จะเน้นขยายสาขานอกศูนย์การค้ามากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง เช่น การปิดเมือง และการเปิดให้บริการ ที่ยืดหยุ่นได้มากกว่า
เป้าหมายในปีนี้ โออิชิ เตรียมขยายสาขาแบรนด์ในเครือรวมทั้งหมด 30 สาขา ซึ่งปกติจะขยายสาขาเพียง 12-15 สาขาต่อปี
เนื่องจากมีการปรับโมเดลธุรกิจให้เล็กลง และหลากหลายมากขึ้น จึงทำให้สามารถขยายสาขาเข้าไปเจาะตลาดเมืองรองได้ง่ายขึ้นและคล่องตัวมากขึ้น นั่นเอง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.