กางแผนยุทธศาสตร์ KBank จะสร้าง การเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับ ความยั่งยืน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ได้อย่างไร ?

กางแผนยุทธศาสตร์ KBank จะสร้าง การเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับ ความยั่งยืน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ได้อย่างไร ?

6 ก.พ. 2023
หนึ่งในจุดมุ่งหมายของการทำธุรกิจยุคใหม่ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
คงหนีไม่พ้นการทำธุรกิจที่เน้นเรื่อง “ความยั่งยืน”
เพราะนอกจากจะเป็นกลยุทธ์ที่สามารถเอาชนะใจลูกค้าได้แล้ว
ยังหมายถึงการมุ่งพัฒนาธุรกิจให้มีคุณภาพ
ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความมั่นคง และสามารถสร้างกำไรได้ในระยะยาว
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ที่เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทย ที่หลาย ๆ คนก็รู้จักกันเป็นอย่างดี เปิดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ ปี 2566
ความน่าสนใจคือ KBank จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
ด้วยการเป็น “ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability)”
ซึ่งการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนของ KBank มีจุดมุ่งหมายคือ เพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life & Business)
อย่างไรก็ดี การมุ่งสู่ความยั่งยืนก็ต้องควบคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจ
ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ ยังมีปัจจัยความท้าทายรอบด้าน ที่ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง
พอเป็นแบบนี้ KBank ได้วางแผนยุทธศาสตร์ไว้อย่างไรบ้าง ?
1. มุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ด้วยหลักการ ESG
หลัก ๆ ก็คือ KBank จะขับเคลื่อนธุรกิจบน “หลักการ ESG”
โดยจะมีกลยุทธ์การทำงานอย่างเป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล ที่จะครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- สิ่งแวดล้อม เช่น ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
- สังคม เช่น การให้ความรู้และขยายการให้บริการทางการเงินอย่างครอบคลุม
- ธรรมาภิบาล เช่น การปล่อยสินเชื่อที่จะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ และสังคม
นอกจากนี้ KBank ยังตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในโลกธุรกิจที่มีนวัตกรรม และขีดความสามารถในการทำธุรกิจที่ต่อยอดจากธนาคารแบบเดิม ๆ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อีกทั้ง KBank ยังต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ภายใต้แบรนด์เดียวคือ “ธนาคารกสิกรไทย (KASIKORNBANK)” เพื่อตอกย้ำภาพจำให้ลูกค้านึกถึงได้ง่าย ๆ อีกด้วย
2. ต่อยอดยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า
ปี 2566 นี้ KBank จะยังคงสานต่อโครงการด้านยุทธศาสตร์ ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น
- ยังคงมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล
- การยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล
อย่างในปีที่แล้ว KBank ได้เปิดตัวบริการ “K PAY LATER” ที่มอบสินเชื่อให้คนตัวเล็กไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นธนาคารแรกในประเทศไทย
- การขยายการให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทุนและประกัน
- การเจาะตลาดและขยายการเติบโตทางธุรกิจใน AEC+3
โดยเมื่อปีที่แล้ว KBank ได้เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น เช่น การเปิดสาขาที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย เป็น 67.5%
- การยกระดับประสบการณ์การให้บริการและการขายแก่ลูกค้า ผ่านการประสานการให้บริการอย่างไร้รอยต่อระหว่างช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร
โดยมี K PLUS เป็นช่องทางหลักในการเชื่อมโยงทุกช่องทางเข้าด้วยกัน
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
KBank ตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบ End-to-End ที่เรียกได้ว่าจะครอบคลุมการทำงาน 5 ด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำที่หมายถึงระบบหลังบ้าน ไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งก็คือบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะส่งถึงมือลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น
- ด้าน Data จะมีการพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
- ด้าน HR จะเป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุด สำหรับการเรียนรู้และการเป็นผู้นำ
- ด้าน IT จะมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค
ซึ่งทั้งหมดนี้ นอกจากจะเป็นกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนและสร้างการเติบโตแล้ว
ก็ยังสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของ KBank ที่อยากจะเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิต และธุรกิจของลูกค้า นั่นเอง..
ในประกาศแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ KBank ยังได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินประจำปี 2566 ด้วย
ก่อนอื่น KBank ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2566 นี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเติบโตที่ 3.7% ด้วยปัจจัยหนุนอย่างภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศจีนกลับมามีนโยบายเปิดประเทศแล้ว
อย่างไรก็ดี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้ามาสู่โหมดปกติ หรืออยู่ในระดับก่อนเกิดโรคระบาด ในปี 2567 หรือปีหน้า ประกอบกับปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการส่งออก
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะยังคงเติบโตแบบ “K Shape” ที่การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในทุกอุตสาหกรรม ท่ามกลางต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทั้งอัตราค่าจ้าง, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
ดังนั้นแล้ว เป้าหมายทางการเงินประจำปี 2566 ของ KBank จึงตั้งเป้าว่า
- การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) จะอยู่ที่ 5-7% ซึ่งโตขึ้นกว่าปีที่แล้ว ที่อยู่ 3.03%
โดยคาดว่าเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อตามกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค AEC+3 โดยเฉพาะจีน, เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ประกอบกับการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจบรรษัท คาดว่าจะเติบโตมากที่สุด 4-6%
ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SME จะเติบโต 1-2% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลจะเติบโต 2-4%
- เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio (Gross)) ที่ต่ำกว่า 3.25%
โดยการเติบโตแบบ K Shape แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อคุณภาพเงินให้สินเชื่อ
แต่ KBank จะยังคงบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
- รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) ทรงตัว
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการทำธุรกรรม
แต่ KBank จะขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวกับ Wealth Management เพื่อช่วยบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า รวมถึงการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป
มาถึงตรงนี้ คงพอจะเห็นว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจและเป้าหมายทางการเงินของ KBank ในปี 2566 นี้ จะเป็นอย่างไร
ถ้าให้สรุปสั้น ๆ ก็คือ KBank ยังคงมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเติบโต ด้วยการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้า
เช่น การพัฒนาบริการต่าง ๆ บนระบบดิจิทัล, การยกระดับการปล่อยสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น, การขยายตลาดไปใน AEC+3
ซึ่งกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ นอกจากจะสร้างการเติบโตและความยั่งยืนได้แล้ว
ยังทำให้ KBank รักษาความมั่นคงในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทยได้อีกด้วย
เรื่องนี้ก็สอดคล้องกับที่คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “KBank ยังคงเดินหน้าเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และนำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.