ฟูจิฟิล์ม รุกธุรกิจแฮลท์แคร์ ในไทย ชูนวัตกรรมการถ่ายภาพทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคครบวงจร และแม่นยำ

ฟูจิฟิล์ม รุกธุรกิจแฮลท์แคร์ ในไทย ชูนวัตกรรมการถ่ายภาพทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคครบวงจร และแม่นยำ

16 ก.พ. 2023
บริษัท ฟูจิฟิล์ม เฮลท์แคร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ผู้ให้บริการ Total Healthcare Solution ชั้นนำระดับโลก
ประกาศรุกธุรกิจเฮลท์แคร์ ในประเทศไทย อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมโชว์ไลน์อัปโซลูชันการถ่ายภาพรังสีแบบครบวงจร ภายใต้คอนเซ็ปต์ One Stop, Total Healthcare Solution
โดยโซลูชันเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ จากฟูจิฟิล์ม จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความแม่นยำในการวินิจฉัยทางการแพทย์ ติดปีกวงการสาธารณสุขในประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญที่มีมูลค่าสูง โดยนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ จะสามารถเข้ามาช่วยยกระดับวงการแพทย์ให้รุดหน้าได้
ทั้งนี้ ฟูจิฟิล์ม ตั้งเป้ายอดขายทั่วโลกสำหรับธุรกิจโซลูชันทางการแพทย์ ไว้ที่ 7 แสนล้านเยน (179,600 ล้านบาท) ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2027
ซึ่งเติบโตจากปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2022 ถึง 30% 
และถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเป้ายอดขายรวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านเยน (256,500 ล้านบาท) สำหรับกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ทั้งหมดของบริษัท
มร. โนริยูกิ คาวาคูโบะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม เฮลท์แคร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจฟูจิฟิล์มว่า..
ก่อนหน้านี้ ฟูจิฟิล์ม เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฟูจิฟิล์มได้ปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการและโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ
เราได้พลิกโฉมองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายธุรกิจ และนำเสนอโซลูชันให้แก่หลากหลายอุตสาหกรรม 
โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง
ปัจจุบัน ฟูจิฟิล์ม เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขยายองค์กรที่ครอบคลุม 4 ภาคธุรกิจ ได้แก่ 
1. ธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพ 
2. ธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ 
3. ธุรกิจนวัตกรรมสิ่งพิมพ์เพื่อธุรกิจ 
4. ธุรกิจด้านการถ่ายภาพ
สำหรับธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ถือเป็นธุรกิจที่องค์กรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 
ฟูจิฟิล์มก้าวสู่ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ฟิล์มเอกซเรย์ที่เป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์ทั่วโลก
ต่อมาในปี ค.ศ.1981 ฟูจิฟิล์มเป็นบริษัทแรกของโลก ที่นำระบบดิจิทัลมาใช้แปรสัญญาณภาพเอกซ์เรย์เพื่อการวินิจฉัยเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้แผ่นไวแสงแบบพิเศษ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนำไปสู่การสร้าง Fuji Computed Radiography (FCR) ในปี ค.ศ 1983
และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา เทคโนโลยีภาพถ่ายดิจิทัลทางการแพทย์ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นการยกระดับวงการแพทย์และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทั่วโลก
ในปี 2021 ฟูจิฟิล์ม ได้เดินหน้าเสริมทัพธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ภายใต้เป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันเฮลท์แคร์แบบครบวงจร ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคด้วยภาพของ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด (Hitachi) และเปลี่ยนชื่อเป็น Fujifilm Healthcare Corporation
หลังจากนั้น ธุรกิจเฮลท์แคร์ของฟูจิฟิล์ม ก็แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเคย โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับการถ่ายภาพทางการแพทย์ เพราะนอกจากเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล, กล้องส่องตรวจระบบทางเดินอาหาร, เครื่องอัลตราซาวด์, เครื่องแมมโมแกรมตรวจเอกซเรย์เต้านม
ก็ยังได้เทคโนโลยี MRI และ CT Scan มาเสริมทัพให้โซลูชันการวินิจฉัยทางการแพทย์ของฟูจิฟิล์ม
และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเครื่องมือเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี AI ทางการแพทย์ของฟูจิฟิล์มอย่าง “REiLI” ก็ยกระดับการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้าน มร. โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า
หนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กร คือการปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลรักษา พร้อมช่วยลดภาระในการดูแลผู้ป่วย เพื่อยกระดับวงการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก รวมถึงชาวไทย
จุดเด่นของโซลูชันทางการแพทย์ของฟูจิฟิล์ม คือการนำนวัตกรรมการถ่ายภาพทางการแพทย์ของฟูจิฟิล์ม ซึ่งได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานจากทั่วโลก มาผสานกับการใช้เทคโนโลยี AI และโซลูชันด้านไอที เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถตรวจหาโรคได้อย่างทันท่วงที แม่นยำ และลดภาระในการทำงานของแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งหมายความถึงการรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของชุมชนห่างไกล นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยและคนทั่วโลก
หนึ่งในนวัตกรรมที่ถือเป็นไฮไลต์ของฟูจิฟิล์ม ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์แบบพกพา FDR Xair ที่เข้ามาตอบโจทย์การตรวจคัดกรองโรคนอกสถานพยาบาลของแพทย์ ด้วยน้ำหนักเพียง 3.5 กิโลกรัม สามารถพกพาและใช้งานได้ในหลายพื้นที่ เช่น ใช้ในการออกเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนห่างไกล ของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
FDR Xair มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ และออกแบบมาเพื่อการใช้งานนอกสถานที่อย่างแท้จริง เมื่อใช้งานร่วมกับ FDR-D EVO II แผ่น Detector ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Virtual Grid ที่ช่วยประมวลผลภาพแบบคมชัดสูงสุด
“ที่ผ่านมา ฟูจิฟิล์ม ประสบความสำเร็จในการนำโซลูชันเหล่านี้ มาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค จากการลงพื้นที่ในชุมชนห่างไกล ในจังหวัดเชียงราย ร่วมกับศูนย์บริการสุขภาพฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
นอกจากนี้ ยังได้ใช้ FDR Xair ในการคัดกรองวัณโรคในพื้นที่ห่างไกลในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็วและรับการรักษาได้ต่อไป”
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เข้ามายกระดับการตรวจวินิจฉัยระหว่างการผ่าตัด ได้แก่ FDR Cross เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลไร้สายที่มาพร้อมระบบ C-arm สำหรับการถ่ายภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูง ช่วยเสริมความคล่องตัวให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก เพราะสามารถเปลี่ยนแผ่น Detector ตามขนาดที่ต้องการใช้งานได้
พร้อมด้วยระบบ Flurocart อัจฉริยะ ไฮไลต์สำคัญคือฟังก์ชันการทำงานแบบ 2 in 1 ที่เป็นทั้งเครื่องเอกซเรย์ Fluoroscopy สำหรับตรวจอวัยวะภายในร่างกายแบบเรียลไทม์ และเป็นเครื่องเอกซเรย์ Radiography ดิจิทัลในหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ เมื่อปี 2019 บริษัท ฟูจิฟิล์ม เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ได้ร่วมกับภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดศูนย์ฝึกอบรม “MAHIDOL UNIVERSITY-FUJIFILM Asia Pacific Healthcare Learning Academy (MU-FAHLA) Center for Advanced Medical Imaging Informatics”
ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมทางด้านรังสีเทคนิคระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แห่งแรกในประเทศไทย 
ด้วยการผนึกกำลังระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาค และผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมการถ่ายภาพรังสีดิจิทัลและเวชศาสตร์สารสนเทศ
ศูนย์แห่งนี้จึงสามารถสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานและเป็นระบบ สำหรับนักรังสีเทคนิคและเจ้าหน้าที่ไอทีในโรงพยาบาลในประเทศไทยและทั่วโลก
โดยศูนย์ดังกล่าว ตั้งอยู่ที่อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้การอบรมแก่ผู้บริหารจัดการและวิศวกรระบบ PACS (Picture Archiving and Communication System - ระบบการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์) กว่า 50 คน ที่ปัจจุบันนำความรู้จากหลักสูตรไปใช้ในโรงพยาบาลในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และประเทศอื่น ๆ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.