ไตรมาส 4/2565 CENTEL พลิกทำกำไรสูงสุด 498 ล้านบาท รับอานิสงค์การเปิดประเทศและเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และเฉลิมฉลอง

ไตรมาส 4/2565 CENTEL พลิกทำกำไรสูงสุด 498 ล้านบาท รับอานิสงค์การเปิดประเทศและเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และเฉลิมฉลอง

28 ก.พ. 2023
คุณกันย์ ศรีสมพงษ์, ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ CENTEL) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 5,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากไตรมาส 4/2564
โดย % EBITDA Margin อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงแรมที่จังหวัดท่องเที่ยวหลักซึ่งมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 498 ล้านบาท หรือเติบโต 228% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปี 2565 บริษัทฯมีรายได้รวม 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 4,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท หรือเติบโต 123% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท) 
สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2566 แม้ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกการเริ่มเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เร็วกว่าคาด แต่ยังคงต้องติดตาม และบริหารจัดการต้นทุนอาหาร พลังงาน และค่าจ้างแรงงานที่มีการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้มีการวางแผนเพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวขึ้นของต้นทุนดังกล่าว เช่น การวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบทดแทน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า การจัดสรรกำลังบุคลากรวิถีใหม่ และรวมถึงแผนการจ่ายคืนเงินต้นก่อนกำหนดสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
การเติบโตของธุรกิจในปีนี้ จะมาจากทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร โดยโรงแรมในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยการเติบโตมาจากโรงแรมระดับ 5  ดาว รวมถึงแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ (Centara Reserve) ทั้งในกรุงเทพและแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวหลัก เป็นสำคัญ
สำหรับโรงแรมที่มัลดีฟส์คาดว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปี 2566 การเติบโตของรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดโรงแรมใหม่ (Inorganic Growth) โดยบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการดำเนินงานโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
ภาพรวมปี 2566 คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 65% - 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30% - 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,250 – 3,400 โดยการเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากโรงแรมในต่างประเทศที่เมืองดูไบและประเทศญี่ปุ่นที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย
สำหรับธุรกิจอาหารคาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินตามปกติ บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) ไม่รวมกิจการร่วมทุน เติบโต 7% - 9% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 13% - 15% เทียบปีที่ผ่านมา
สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิรวมแบรนด์ร่วมทุน ประมาณ 120-150 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) เทียบกับปี 2565 โดยแบรนด์ที่เน้นการขยายสาขาเพิ่มได้แก่ เค เอฟ ซี, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์, สลัดแฟคทอรี, ส้มตำนัว และ ชินคันเซ็น ซูชิ
นอกจากการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตตามแผนที่วางไว้ บริษัทยังให้ความสำคัญประเด็นเรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero 2050) ภายในปี 2593 มีการกำหนดเป้าหมายระยะแรก 10 ปี (long term plan 2020-2029) การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี 2572 ด้วยการบริหารจัดการการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565:
ธุรกิจโรงแรม:
ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 107% อยู่ที่ 3,473 บาท จากการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจาก 33% ในไตรมาส 4/2564 เป็น 68% ในไตรมาส 4/2565 ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ทรงตัวเทียบปีก่อน ที่ 5,091 บาท  
ไตรมาส 4/2565 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,363 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 117% จากปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,314  ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 121% และมี EBITDA จำนวน 899 ล้านบาท
โดย % EBITDA Margin ที่ 38% เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน (ไตรมาส 4/2564: 27%) ธุรกิจโรงแรม มีกำไรสุทธิ 359 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 31 ล้านบาท หรือดีขึ้น 1,258%
ธุรกิจอาหาร:
มีการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (%SSS) 12% และภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) อยู่ที่ 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2565 มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,580 สาขา เพิ่มขึ้น 197 สาขา เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 4/2564 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 3,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เทียบปีก่อน มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย  ดอกเบี้ยจ่าย  และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 632 ล้านบาท ลดลง 8% เทียบกับปีก่อน
โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 20% ลดลงเทียบปีก่อน (ไตรมาส 4/2564: 26%)  เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายสืบเนื่องจากการขยายสาขา และมีกำไรสุทธิ 139 ล้านบาท ลดลง 44 ล้านบาท หรือลดลง 24% จากอัตราการทำกำไรที่ปรับตัวลงเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลการดำเนินงานปี 2565:
ธุรกิจโรงแรม:
ภาพรวมอัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้น จาก 19% เป็น 52% และราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 7% เทียบปีก่อน เป็น 4,791 บาท ส่งผลให้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เพิ่มขึ้น 193% เทียบปีก่อน เป็น 2,486 บาท 
ปี 2565 ธุรกิจโรงแรม มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงิน (EBITDA) จำนวน 1,796 ล้านบาท (ปี 2564: ขาดทุน 494 ล้านบาท) เติบโต 464% และมี % EBITDA Margin อยู่ที่ 27% ดีขึ้นเทียบปีที่ผ่านมา (ปี 2564: -21%) ขาดทุนสุทธิจำนวน 161 ล้านบาท
ขาดทุนลดลงเทียบปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,945 ล้านบาทในปี 2564 หรือปรับตัวดีขึ้น 92% ผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2565 สืบเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของโรงแรมระดับห้าดาวและระดับลักชัวรี่ (Luxury) ในสถานที่ท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ, พัทยา, ภูเก็ต และเกาะสมุย
ธุรกิจอาหาร:
ยอดขายสาขาเดิม (SSS) มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% และมีอัตราการเติบโตรายได้รวม (TSS) เฉลี่ย 26% รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 11,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เทียบปี 2564 มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 2,615 ล้านบาท เติบโต 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 22% ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 348 ล้านบาท เทียบปีก่อน หรือเติบโต 165% โดยกลุ่มแบรนด์หลักที่ผลการดำเนินงานฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องเทียบปีก่อน คือ เค เอฟ ซี,  อานตี้แอนส์, โอโตยะ และเปปเปอร์ลันช์
Tag:CENTEL
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.