Grammarly สตาร์ตอัปมูลค่า 4 แสนล้านบาท ผู้สร้างเครื่องมือช่วยแก้แกรมมาร์ ของคนทั่วโลก

Grammarly สตาร์ตอัปมูลค่า 4 แสนล้านบาท ผู้สร้างเครื่องมือช่วยแก้แกรมมาร์ ของคนทั่วโลก

3 เม.ย. 2023
ถ้าใครได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน และยิ่งเป็นการเขียนประโยคภาษาอังกฤษแบบยาว ๆ
คงต้องรู้จัก Grammarly แพลตฟอร์มช่วย “แก้แกรมมาร์” ให้กับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษนับพันล้านคนทั่วโลก อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ อย่างคนไทย ยิ่งมีโอกาสได้ใช้ Grammarly อยู่ไม่น้อย..
ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่า ในปัจจุบัน Grammarly เป็นบริษัทสตาร์ตอัป ที่มีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 แสนล้านบาท)
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานเกิน 30 ล้านคน เป็นประจำทุกเดือน
แถมยังมีลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ที่ใช้ Grammarly เป็นเครื่องมือในการทำงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 50,000 ทีม ทั่วโลก
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไม Grammarly จึงประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ?
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปหาคำตอบกัน..
ก่อนอื่น ต้องทำความรู้จักกับจุดเริ่มต้นของ Grammarly กันก่อนว่า เกิดจาก 2 ผู้ก่อตั้ง “ชาวยูเครน” ที่มีชื่อว่า Max Lytvyn และ Alex Shevchenko
ซึ่งในขณะนั้น ทั้ง 2 คนกำลังเป็นนักศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งหนึ่ง ในยูเครน
และได้ค้นพบว่า ปัญหาการคัดลอกข้อมูลของนักศึกษา เป็นปัญหาใหญ่ ที่นำมาซึ่งความปวดหัวให้กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั่วโลก
Max Lytvyn และ Alex Shevchenko จึงร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่สามารถตรวจจับการคัดลอกข้อมูลของนักศึกษาได้
ก่อนที่ Turnitin ซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกที่ได้รับความนิยมในกลุ่มมหาวิทยาลัยทั่วโลก จะถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ..
อ่านมาจนถึงตรงจุดนี้ หลายคนอาจถามว่า แล้วซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกข้อมูลของนักศึกษา มีความเกี่ยวข้องกับ Grammarly อย่างไร ?
เรื่องนี้ต้องบอกว่า ในความจริงแล้ว ซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกข้อมูลของนักศึกษา ที่ทั้ง 2 คนช่วยกันพัฒนานั้น ได้กลายมาเป็น “ไอเดีย” ที่ทำให้เกิด Grammarly ขึ้นมานั่นเอง
เพราะหลังจากประสบความสำเร็จกับซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอก และขายกิจการไป
พวกเขาก็เกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า ความจริงแล้ว คงไม่มีนักศึกษาคนไหน ที่อยากจะคัดลอกข้อมูลจากคนอื่น ๆ
เพียงแต่การอธิบายข้อมูลด้วยภาษาของตัวเอง อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จนในท้ายที่สุดแล้ว ต้องลงเอยด้วยการคัดลอกข้อมูลจากคนอื่น ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
และนั่นก็เลยกลายเป็นไอเดีย ที่ทำให้ทั้ง 2 คน พัฒนา Sentenceworks ขึ้นมาในปี 2009 
ซึ่งมุ่งช่วยคนให้สามารถเขียนงานได้อย่างถูกต้อง แทนที่จะจับผิดเรื่องการคัดลอก
ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อจาก Sentenceworks เป็น Grammarly อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้..
รวมถึงมี Dmytro Lider เข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคนที่ 3 ของ Grammarly
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ๆ ของการพัฒนา Grammarly พวกเขาได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่มีปัญหาในการเขียนภาษาอังกฤษ
ซึ่งในบางครั้ง ผู้ที่พบปัญหาในการเขียนภาษาอังกฤษให้ถูกต้องนั้น กลับกลายเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
และหากช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ นักศึกษาก็จะมีความมั่นใจในการใช้ภาษาเขียนของตัวเอง จนไม่ต้องไปคัดลอกข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ อีกต่อไป
แต่การจับเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ช่วยทำให้ Grammarly เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
เพราะจุดเปลี่ยนสำคัญของ Grammarly เกิดขึ้นในปี 2015 ด้วยการเปิดให้คนทั่วไป ได้ใช้ Grammarly เวอร์ชันพื้นฐาน แบบฟรี ๆ 
แทนที่จะเก็บไว้ให้นักศึกษา รวมถึงลูกค้าองค์กรใช้ได้เพียงอย่างเดียว
เพราะอย่าลืมว่า มีคนทั่วโลก ที่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การส่งอีเมล หรือแม้แต่การแช็ตกับคนอื่น ๆ 
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า Grammarly มีโอกาสในการได้คนทั่วโลก มาเป็นลูกค้านั่นเอง..
ทำให้ Grammarly เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ จากเดิมที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษา และลูกค้าองค์กร
สู่การขยายบริการ ไปยังลูกค้าที่เป็นคนทั่วไป โดยใช้โมเดลธุรกิจแบบ “Freemium” ที่ให้ลูกค้าได้ใช้บริการ Grammarly แบบฟรี ๆ 
แต่หากต้องการใช้ฟีเชอร์ที่มากขึ้น ก็ต้องจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิก เป็นรายเดือน..
และการตัดสินใจในครั้งนั้น ก็ทำให้ Grammarly ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 2 ปี..
รวมถึงยังทำให้ Grammarly ดึงดูดนักลงทุนได้อย่างมหาศาลด้วย..
โดยในปัจจุบัน Grammarly เป็นบริษัทสตาร์ตอัป ที่ผ่านการระดมทุนจากนักลงทุนไปแล้ว 3 รอบ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,760 ล้านบาท)
และถูกประเมินมูลค่ากิจการไว้ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 แสนล้านบาท)
ส่วนผู้ร่วมก่อตั้ง Grammarly ทั้ง 3 คน ก็ได้กลายเป็น “มหาเศรษฐี” ไปโดยปริยาย..
โดยเฉพาะผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนแรก อย่าง Max Lytvyn และ Alex Shevchenko ที่มีการประเมินกันว่า ถือหุ้นของ Grammarly อยู่ในสัดส่วนคนละ 35%
ทำให้ทั้งคู่ มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 แสนล้านบาท) เลยทีเดียว
จากเรื่องราวของ Grammarly ที่เราได้อ่านกันมาทั้งหมดนี้ ทำให้เรารู้ว่า
ความสำเร็จของ Grammarly เกิดจากความเข้าใจในปัญหาที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
และการแก้ไขปัญหานี้ของ Grammarly นั้น ทำให้ Grammarly มีโอกาสเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพ และฐานลูกค้ามหาศาล เพราะมีอยู่เป็นจำนวนหลายพันล้านคนทั่วโลก..
--------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.