รู้จัก BLC บริษัทผู้ผลิตยาและจำหน่ายยาของคนไทย ที่ส่งออกไป 10 ประเทศทั่วโลก กำลัง IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์

รู้จัก BLC บริษัทผู้ผลิตยาและจำหน่ายยาของคนไทย ที่ส่งออกไป 10 ประเทศทั่วโลก กำลัง IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์

26 พ.ค. 2023
หนึ่งในอุตสาหกรรมของโลกยุคนี้ ที่กำลังโตระเบิด ก็คือ “อุตสาหกรรมยา”
เมื่อเวลานี้ประชากรบนโลก ต้องพบกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทั้งการเกิดขึ้นของโรคร้ายใหม่ ๆ มากมาย เช่น COVID-19 ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้โลกใบนี้ต้องหยุดชะงัก
ขณะเดียวกัน เวลานี้หลายประเทศก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ไม่อาจหนีกฎทางธรรมชาติพ้น
ก็คือยิ่งมนุษย์มีอายุมากขึ้น ก็ต้องเผชิญกับโรคต่าง ๆ มากขึ้นตามอายุเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ “อุตสาหกรรมยาและสินค้าเพื่อสุขภาพ” กลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลกธุรกิจ
อย่าง “อุตสาหกรรมยา” ในประเทศไทย ก็เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ประเทศไทยเอง
ก็มีบริษัทผลิตและจำหน่ายยาที่ส่งออกไป 10 ประเทศทั่วโลก
ที่มีชื่อว่า บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC
ซึ่งปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ มีช่องทางการจัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมยากว่า 8,000 ราย
โดยบริษัทก่อตั้งในปี 2535 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นบริษัทมีเป้าหมายทางธุรกิจคือ
เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาคุณภาพดี และประเทศมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน BLC มีสินค้าที่ผลิตและจัดจำหน่าย 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
หนึ่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ (Generic Drugs and New Generic Drugs) ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Herbal Medicines) และผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ (Animal Medicines)
สอง ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ อย่างเครื่องสำอาง (Cosmetic) สำหรับบำรุงผิวหน้าและผิวกายในรูปแบบต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) สำหรับดูแลสุขภาพและความงาม
โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแรกอย่างยาสามัญนั้น เป็นธุรกิจที่สำคัญ
เพราะเป็นธุรกิจสุขภาพที่ใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างคนไทย
และหากลงลึกทางข้อมูลจะพบว่า ธุรกิจยาสามัญ เป็นกลไกระบบสุขภาพทั่วโลก
เพราะยาต้นแบบใช้เงินทุนสูง และใช้เวลาคิดค้นนานมาก
สิ่งที่ตามมาคือ ราคาขายก็สูงตาม จนถึงการผูกขาดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
กลไกที่ว่าก็คือ หลังจากยาต้นแบบหมดสิทธิบัตร
ผู้ประกอบการยาสามัญ ก็มีสิทธิในการวางตลาดยาสามัญ ที่มียาตัวสำคัญเหมือนกับยาต้นแบบ
แต่ขายในราคาที่ต่ำกว่ายาต้นแบบ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
และยังสามารถสนับสนุนให้ยาดังกล่าวใช้ได้ในกองทุนสุขภาพของประเทศ ทำให้ลดการนำเข้ายาต้นแบบจากต่างประเทศ ประหยัดงบประมาณภาครัฐ
และช่วยสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ส่วนยาสามัญใหม่นั้นที่น่าสนใจคือ ยาสามัญใหม่ของ BLC นอกจากจะผ่านกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรอง มาตรฐาน GMP PIC/S
เป็นมาตรฐานการผลิตยาสูงสุดในระดับสากลแล้ว ยังผ่านการศึกษาชีวสมมูล ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ยามีประสิทธิผลเทียบเท่ากับยาต้นแบบ จึงได้รับความไว้วางใจจากแพทย์
ส่วนผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ก็มีการยกระดับให้ทันสมัย
เช่น สกัดพืชสมุนไพรทำในรูปแบบยาแคปซูล อย่างไรก็ตาม ยาสมุนไพรยังได้รับการยอมรับไม่มากนักเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เพราะขาดการวิจัยพัฒนาปริมาณสารสำคัญออกฤทธิ์ทางยาในสมุนไพรให้เป็นมาตรฐานที่ชัดเจน และขาดผลพิสูจน์ทางคลินิกในด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย
ทาง BLC Research Center จึงสร้างนวัตกรรมสมุนไพรให้ได้รับการยอมรับในการใช้รักษาโรคควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน อย่างหลากหลายวิธี
เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยพัฒนาในประเทศ สกัดพืชสมุนไพรเป็นสารสกัดมาตรฐาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และผ่านกระบวนการผลิตตามมาตรฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (GMP)
ที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมสมุนไพรไทย ช่วยลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย
จะเห็นได้ว่า โรงงานผลิต และศูนย์วิจัย BLC ได้รับรองมาตรฐานด้านคุณภาพต่าง ๆ มากมาย
เช่น GMP PIC/S, ISO/IEC 17025, ISO 22000, Good Hygiene Practices, Hazard Analysis and Critical Control Point System, ISO 14001 เป็นต้น
พอเป็นแบบนี้ทำให้ทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับความเชื่อถือในเรื่องคุณภาพจากโรงพยาบาล
ทั่วประเทศ และร้านขายยา จนถึงร้านสะดวกซื้อ รวมกันแล้ว ทำให้บริษัทมีช่องทางการขายกว่า 8,000 ราย
และเมื่อสินค้าได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทรงพลัง
ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ ต่างเคยใช้ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ ของบริษัท
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว BLC มีสินค้าที่ใกล้ตัวคนไทยมาก ๆ เพียงแต่อาจไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก
โดยล่าสุด BLC เตรียม IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้บริษัทจากที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก
ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ การเติบโตของ BLC ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ตลาดในประเทศ
เมื่อทางบริษัทมีการขยายธุรกิจไปยัง 10 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดในแถบอาเซียน
ที่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อเวลานี้จำนวนประชากร 10 ประเทศในอาเซียน มีราว ๆ 622 ล้านคน
โดยมี GDP รวมกันราว ๆ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มากเป็นอันดับ 5 ของโลก
ที่สำคัญ ประชากรในภูมิภาคนี้ ก็เดินตามเมกะเทรนด์ของโลกคือ “รักสุขภาพของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม”
สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ ที่บุกตลาดอาเซียนจริงจัง
จนถึงการขยายสาขาของร้านขายยาต่าง ๆ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม
และยังมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรที่ค่อนข้างสูง หรือระบบเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ดิจิทัล เป็นต้น
จะเห็นว่า BLC ขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่าง Dynamic ทั้งการพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพยา
จนถึงการขยายช่องทางการขาย
สิ่งที่ตามมาก็คือ ผลประกอบการของบริษัทที่เติบโตนั่นเอง
โดยในช่วงปี 2563-2565 บริษัทมีกำไรขั้นต้นหรือ Gross Profit เติบโตเฉลี่ยปีละ 13%
ส่วนผลประกอบการล่าสุดคือ ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ 1,296.0 ล้านบาท กำไร 129.7 ล้านบาท
โดยแบ่งสัดส่วนรายได้เป็น ผลิตภัณฑ์ยา 84% และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 16%
ถ้าจะให้สรุปสูตรสำเร็จของบริษัท BLC จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรมากมาย
โดยสรุปออกมาเป็น 4P อย่างเข้าใจง่าย ๆ
Product : บริษัทมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุม ตอบโจทย์ทุกกลุ่มปัญหาด้านสุขภาพ
และมีศูนย์วิจัย BLC ที่วิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ที่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพการผลิต ตามมาตรฐานสากล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในอนาคตจะเน้นผลิตภัณฑ์ยาตัวใหม่ให้รวดเร็วต่อเนื่องกว่าเดิมเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และลดการพึ่งพิงการซื้อยาหรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
Place : เมื่อสินค้ามีคุณภาพ ก็เสมือนเป็นใบเบิกทางในการกระจายช่องทางการจัดจำหน่าย
ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้รับการยอมรับและไว้วางใจ จากวิทยาลัยแพทย์ สถานพยาบาล
และร้านขายยาทั่วประเทศไทย กว่า 8,000 ราย รวมถึงช่องทางร้านค้าปลีก ครบทุกแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยในอนาคต จะเน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
โดยในประเทศ ก็จะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนในต่างประเทศ จะเน้นการส่งออก ผ่านการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และคู่ค้าในรูปแบบต่าง ๆ
Process : นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน และการผลิต
โดยบริษัทดำเนินธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
จนสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตในราคาที่แข่งขันได้
พร้อมกับสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพของคนไทย และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนในอนาคต มีแผนการลงทุนในโรงงานผลิตยาอาคารใหม่
พร้อม Solar Roof ช่วยส่งเสริมการผลิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งทำให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด หรือ Economy of Scale
และประหยัดพลังงานมากขึ้น
People : ประสบการณ์และวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และความเชี่ยวชาญของบุคลากรคุณภาพในตลาดสุขภาพ โดยในอนาคตจะสร้างส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างบุคลากรเก่าที่มีประสบการณ์สูง
กับบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีไอเดียสดใหม่ ทำให้บริษัทจะมีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ก็คือ เมื่อ BLC ตัดสินใจ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ก็จะได้เงินทุนมาพัฒนาและขยายธุรกิจ จากที่เติบโตดีอยู่แล้วให้เติบโตขึ้นไปอีก
Reference
- เอกสารข้อมูล บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.