กรณีศึกษา Intel Inside กลยุทธ์เปลี่ยนแบรนด์ “ที่ไม่มีใครรู้จัก” สู่แบรนด์ชิปเซตที่ทุกคนคุ้นหู ของ Intel

กรณีศึกษา Intel Inside กลยุทธ์เปลี่ยนแบรนด์ “ที่ไม่มีใครรู้จัก” สู่แบรนด์ชิปเซตที่ทุกคนคุ้นหู ของ Intel

22 พ.ค. 2023
Intel บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม “ชิปเซต” ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปได้เกิน 60%
แต่รู้หรือไม่ว่า ในยุคสมัยหนึ่ง Intel เคยเป็นแบรนด์ที่คนทั่วไปไม่รู้จัก 
เพราะ Intel เป็นผู้ผลิตชิปเซต ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไป จะให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะในยุคที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทในครัวเรือนของคนทั่วไป ในช่วงยุคปี 1980-1990
แม้ว่าก่อนหน้านั้น Intel จะเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าองค์กร และลูกค้าระดับมืออาชีพ รู้จักชื่อเสียงมาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม
ลองจินตนาการง่าย ๆ ว่า ในช่วงเวลานั้น หากต้องการซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องหนึ่ง ขอแค่มีชิปเซต ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ ก็เพียงพอแล้ว
แบรนด์ของชิปเซต จึงไม่ได้ส่งผลต่อการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ของคนทั่วไปเท่าไรนัก
แถมในยุคนั้น Intel ยังตั้งชื่อชิปเซตของตัวเอง ด้วยชื่อที่เข้าใจยาก ในมุมมองของคนทั่วไป เช่น Intel 286, Intel 386 และ Intel 486
ด้วยชื่อที่เข้าใจยาก ยิ่งทำให้แบรนด์ Intel กลายเป็นแบรนด์ที่ “เข้าถึงยาก” มากขึ้นไปอีก
และ Intel ก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
คำถามคือ Intel แก้ปัญหาที่ว่านี้ได้อย่างไร และทำอย่างไร ให้คนทั่วไปรู้จักแบรนด์ Intel มากขึ้น ?
คำตอบก็คือ ในปี 1991 Intel ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Ingredient Branding ซึ่งก็คือการสร้างแบรนด์ให้กับ “วัตถุดิบ” หรือส่วนประกอบที่อยู่ภายใน ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
โดย Intel เลือกที่จะสร้างแบรนด์ให้กับ “ชิปเซต” ที่เคยหลบตัวอยู่ “เบื้องหลัง” ให้ออกมาอยู่ “เบื้องหน้า”
ด้วยการใช้คำว่า Intel Inside ซึ่งเป็นคำที่สั้น เข้าใจง่าย ได้ใจความ และคุ้นหูคุ้นตาในทันที ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นหรือได้ยิน
และที่สำคัญที่สุดก็คือ Intel Inside เป็นคำที่สื่อสารได้ในทันที ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ มีชิปเซตของ Intel อยู่ภายใน แบบไม่ต้องตีความซ้ำอีกครั้ง
จึงทำให้แบรนด์ Intel มีความแตกต่าง จากคู่แข่งในอุตสาหกรรมชิปเซตรายอื่น ในยุคนั้นทันที
ยิ่งไปกว่านั้น Intel ไม่ได้ต้องการบอกเพียงแค่ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องใด ที่ใช้ชิปเซตของ Intel เพียงอย่างเดียว
แต่ Intel ต้องการสื่อสารด้วยว่า คอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปเซตของ Intel เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพสูง จากการทำงานของชิปเซต Intel ที่อยู่ภายใน
นั่นยิ่งเป็นการทำให้คนทั่วไป ผูกคำว่า Intel Inside เข้ากับ “คุณภาพ” ไปโดยปริยาย
และหากคอมพิวเตอร์เครื่องใด ที่ใช้ชิปเซตจากผู้ผลิตรายอื่น และไม่มีการทำการตลาดด้วยคำว่า Intel Inside ก็ย่อมทำให้คนทั่วไปบางส่วน ตีความไปว่า คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น มีประสิทธิภาพที่ไม่มากเท่า คอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปเซตของ Intel นั่นเอง
นอกจากนี้ Intel ยังจับจุดถูกด้วยว่า หาก Intel ทำการตลาดด้วยการใช้คำว่า Intel Inside ด้วยตัวเองเพียงลำพัง คงไม่พอที่จะสร้างการรับรู้ได้มากพอ
Intel จึงไปจับมือกับบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ซื้อชิปเซตจาก Intel ไปประกอบคอมพิวเตอร์
และนำคำว่า Intel Inside ไปใช้กับโฆษณาคอมพิวเตอร์ของแต่ละบริษัท ในทุกรูปแบบ ทั้งโฆษณาทางทีวี สื่อนอกบ้าน และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ Intel ยังให้ส่วนลด กับแบรนด์ที่ยอมทำการตลาดด้วยคำว่า Intel Inside ด้วยการให้ส่วนลดค่าชิปเซต 6% เพื่อนำเงินส่วนต่าง ไปสนับสนุนการทำโฆษณา
จนหลังจากนั้นเพียง 1 ปี มีบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์มากกว่า 500 แห่ง ที่นำคำว่า Intel Inside ไปใช้ในการโฆษณาขายคอมพิวเตอร์
โดยที่ Intel ใช้งบประมาณด้านการตลาดไปทั้งหมด ราว ๆ 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,750 ล้านบาท)
จำนวนเงินดังกล่าว แม้จะฟังดูเหมือนมาก แต่อย่าลืมว่า Intel Inside เป็นกลยุทธ์การตลาด ที่สร้างชื่อให้กับ Intel ในมุมมองของคนทั่วไปอย่างมหาศาล ในยุคที่คอมพิวเตอร์ เพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนทั่วไป
และในทุกวันนี้ เราก็ยังสามารถเห็น และจดจำ Intel Inside ได้อยู่เช่นเดิม แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายสิบปี แล้วก็ตาม..
--------------------------
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ มากมาย
ให้คุณได้เพลิดเพลินทั้ง ช้อป กิน เที่ยว
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ 
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> http://www.specialoffers.jcb/th/promotion/japan_contents_of_ASEAN/
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ 
Facebook : JCB Thailand
LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
#อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
--------------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.