อมรินทร์กรุ๊ป ประกาศทิศทางธุรกิจ Omni Media - Omni Channel ทุ่มงบลงทุน 2,100 ล้านบาท ใน 3 ปี

อมรินทร์กรุ๊ป ประกาศทิศทางธุรกิจ Omni Media - Omni Channel ทุ่มงบลงทุน 2,100 ล้านบาท ใน 3 ปี

24 พ.ค. 2023
หลังจากที่ อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการ
เพื่อแสดงให้เห็นว่า “อมรินทร์กรุ๊ป” มีธุรกิจอื่น ๆ ที่มากกว่า พริ้นติ้ง และพับลิชชิง และกลยุทธ์ที่อมรินทร์กรุ๊ป จะมุ่งไปข้างหน้า ก็คือ Omni Media - Omni Channel
ในวันนี้ คุณระริน อุทกะพันธ์ุ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า อมรินทร์กรุ๊ป เป็นองค์กรด้านการสื่อสารแบบครบวงจร ผ่านโมเดลธุรกิจที่เป็นกลยุทธ์หลัก นั่นคือ Omni Media - Omni Channel
มีสื่อที่ครอบคลุม ทั้งสื่อ On Print, Online, On Ground, On Air และ On Shop ที่ผสานรวมกันเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการมีสื่อที่ครอบคลุมนี้ กลายเป็นจุดแข็ง และกลยุทธ์สำคัญ ในการทำธุรกิจของอมรินทร์กรุ๊ป
โดยในปัจจุบัน ธุรกิจของอมรินทร์กรุ๊ป ประกอบไปด้วย 5 กลุ่มธุรกิจหลัก และ 2 ธุรกิจร่วมทุน ได้แก่
1. ธุรกิจสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์
ให้บริการตั้งแต่การพิมพ์หนังสือเล่มเดียว ไปจนถึงการพิมพ์หนังสือในหลักล้านเล่ม
ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้น เป็นธุรกิจที่อมรินทร์กรุ๊ป เพิ่งเริ่มต้นมาได้ราว 2 - 3 ปี ที่ผ่านมานี้
2. ธุรกิจสำนักพิมพ์
ที่อมรินทร์กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ เพื่อเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย โดยต้องการผลิตหนังสือเล่ม 500 ปก และหนังสือดิจิทัล 770 เรื่องต่อปี ให้ได้ภายในปี 2025
ภายในใต้กลยุทธ์ Multi-Platform ที่ลูกค้าสามารถอ่านหนังสือได้ในหลากหลายรูปแบบตามความต้องการ ทั้งหนังสือเล่ม หนังสือดิจิทัล หรือ Audio
ซึ่งในปัจจุบัน คุณระริน ให้ข้อมูลว่า หนังสือในหมวด How To กลายเป็นหมวดหนังสือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเทียบเท่าหนังสือนิยาย ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3. ธุรกิจจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ และ Digital Content
โดยในปัจจุบัน บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด มีเครือข่ายร้านพันธมิตร มากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ส่วนร้านนายอินทร์ ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกหนังสือ มีลูกค้ารวมทั้งสิ้นกว่า 26 ล้านรายต่อปี
นอกจากนี้ ยังมี Mareads ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ สำหรับการอ่านนิยายเป็นตอน ๆ มาช่วยในการขยายฐานการอ่านเพิ่มเติม
4. ธุรกิจมีเดียแอนด์อิเวนต์
เป็นธุรกิจที่มีทั้งสื่อ นิตยสาร สื่อออนไลน์ รวมถึงธุรกิจจัดงานแฟร์ และอิเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการจัดแคมเปญ วางแผนการตลาด รวมถึงจัดงานอิเวนต์
5. ธุรกิจดิจิทัลทีวี ช่อง AMARIN TV 34HD โดยบริษัท อมรินทร์เทเลวิชั่น จำกัด
เป็นช่องทีวีดิจิทัล ที่ได้รับความนิยมในระดับ Top 7 ของประเทศ มีรายการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศ เฉลี่ย 10 ล้านคนต่อวัน และมีผู้ติดตามในสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม ราว 42 ล้านคน
นอกจากธุรกิจหลักทั้ง 5 ธุรกิจข้างต้นนี้แล้ว อมรินทร์กรุ๊ป ยังมีธุรกิจร่วมทุนอีก 2 ธุรกิจ คือ บริษัทคาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในตลาด Light Novel และ Manga
และบริษัท เด็กดี อินเตอร์ แอคทีฟ จำกัด ผู้นำในตลาดนิยาย และแพลตฟอร์มการศึกษา
ส่วนในด้านผลประกอบการ ในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น อมรินทร์กรุ๊ป
มีรายได้รวม 4,274 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 44.4% โดยมีสาเหตุหลักมาจาก
- รายได้ธุรกิจผลิตงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ
ที่เติบโต 91.5% จากการขยายตัวของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และการเติบโตของธุรกิจการจัดจำหน่ายหนังสือเล่มผ่านหน้าร้านหนังสือ และช่องทางออนไลน์ ที่เติบโต 83.4%
- รายได้ธุรกิจมีเดียและอิเวนต์
รวมการให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออนไลน์ การจัดงานแสดงสินค้า และงานอิเวนต์ ที่เติบโต 72.9%
- รายได้จากธุรกิจทีวีดิจิทัล
ที่มีรายได้ 1,287.33 ล้านบาท โดยสามารถรักษาระดับรายได้ไว้ใกล้เคียงกับปี 2564 แม้ยอดการซื้อสื่อทีวีดิจิทัล จะลดลงก็ตาม
ส่วนในด้านการลงทุน คุณระริน ได้ให้ข้อมูลว่า อมรินทร์กรุ๊ป จะมีการใช้เม็ดเงินการลงทุนราว 2,100 ล้านบาท ในช่วงปี 2566 - 2568 โดยแบ่งเป็น
- การลงทุนในธุรกิจใหม่ และการร่วมมือกับคู่ค้า 800 ล้านบาท
- การลงทุนในคอนเทนต์ หนังสือ ดิจิทัล และโทรทัศน์ ทั้งการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ และการสร้างคอนเทนต์ในประเทศ 600 ล้านบาท
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างสตูดิโอใหม่ และการพัฒนาพื้นที่เดิม 250 ล้านบาท
- การลงทุนในเทคโนโลยี เช่น AI และ Machine Learning 250 ล้านบาท
- การลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ทั้งด้านเครื่องจักร และเทคโนโลยีการพิมพ์ 250 ล้านบาท
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.