กรณีศึกษา Flash Express คู่แข่งที่ทำให้ Kerry Express นอนไม่หลับ

กรณีศึกษา Flash Express คู่แข่งที่ทำให้ Kerry Express นอนไม่หลับ

4 มี.ค. 2020
เคอรี่ มียอดส่งพัสดุ 2 ล้านกล่องต่อวัน และรถขนส่งกว่า 20,000 คัน
โดยในปี 2561 มีรายได้ 13,668 ล้านบาทและมีกำไร 1,085 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ เคอรี่ เตรียมใช้นามสกุล “มหาชน” เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 
เพื่อระดมทุน ขยายธุรกิจตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับธุรกิจที่เติบโต
แต่..เรื่องที่ไม่ธรรมดาก็คือ เคอรี่ ประกาศว่าในอีกไม่ช้า ตัวเองจะมียอดขนส่งพัสดุ
แซงหน้าผู้ครองตลาดนี้มายาวนานอย่าง ไปรษณีย์ไทย
แต่ในวันที่ เคอรี่ กำลังไล่ล่าตำแหน่งเบอร์ 1 ในตลาดขนส่งพัสดุเมืองไทย
กลับมีผู้เล่นรายใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ 2 ปี และกำลังสร้างความกังวลใจให้เคอรี่ ไม่น้อย บริษัทนั้นมีชื่อว่า “แฟลช เอ็กซ์เพรส”
แล้วทำไม เคอรี่ ต้องหวั่นเกรงผู้เล่นหน้าใหม่
รู้หรือไม่ว่า ถ้าเทียบระยะเวลาในการทำธุรกิจกับสิ่งที่ทำได้
แฟลช เอ็กซ์เพรส ดูโดดเด่นกว่าเคอรี่ ขึ้นมาทันที
เคอรี่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย 13 ปี โดยเริ่มต้นขนส่งพัสดุให้องค์กรต่างๆ 
จนเมื่อ 7 ปีที่แล้วถึงทำธุรกิจขนส่งพัสดุทั่วไป
โดยมีสาขาแรกที่อโศกและมียอดส่งพัสดุวันแรกไม่ถึง 10 ชิ้น แต่ปัจจุบันเคอรี่ มียอดส่งพัสดุ 2 ล้านกล่องต่อวัน
ขณะที่แฟลช เอ็กซ์เพรส กลับใช้เวลาเพียง 2 ปี มียอดส่งพัสดุ 5 แสนชิ้นต่อวัน 
คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของลูกค้าเคอรี่ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพราะหลังจากคุณ คมสันต์ ลี เจ้าของ บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด
เลือกจะยกเลิกการร่วมทุนกับนักลงทุนจากประเทศจีน
ซึ่งทำให้วันนี้ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เป็นแบรนด์ไทยอย่างเต็มตัว
เขาเลือกที่จะลงทุนอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศูนย์บริการลูกค้าเป็น 3,500 สาขา
และมีพนักงานมากกว่า 10,000 คน จนถึงใช้ Presenter อย่าง ติ๊ก เจษฎาภรณ์ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
แต่...หมัดเด็ดที่แย่งชิงลูกค้า จนทำให้ เคอรี่ ถึงกับนอนไม่หลับก็คือ
ค่าบริการที่ถูกกว่า โดยเฉพาะบริการรับพัสดุถึงหน้าบ้านฟรีตั้งแต่ชิ้นแรก พร้อมให้บริการ 365 วัน ไม่มีวันหยุด
ปฎิเสธไม่ได้ว่า กำแพงในใจใหญ่สุดเวลาเราจะส่งพัสดุในแต่ละครั้งนั้นคือ “ความขี้เกียจ” ไปที่สาขา
ซึ่งแม้เคอรี่ จะมีบริการมารับพัสดุถึงหน้าบ้านเรา
แต่…ก็มีการบวกค่าบริการเพิ่ม 5 - 20 บาทจากราคาปกติ ซึ่งนั่นอาจทำให้เราตั้งคำถามว่า
เคอรี่ จะบวกราคาเพิ่มทำไม ในเมื่อคู่แข่งอย่างแฟลช เอ็กซ์เพรส ไม่มีการบวกราคาเพิ่ม
แถมเรายังจะใช้บริการนี้กี่ครั้งก็ได้ใน 1 วัน ส่วน เคอรี่ จำกัดแค่ 1 ครั้งต่อวัน
ยิ่งเมื่อเราลองเทียบน้ำหนัก ขนาดกล่องพัสดุที่เท่ากัน จะพบว่าแฟลช เอ็กซ์เพรส  มีค่าบริการถูกกว่าพอสมควร
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ทำให้ลูกค้าที่ในอดีตเคยใช้เคอรี่ ย่อมเกิดความลังเลใจ
จนสุดท้ายหลายคนปันใจมาใช้บริการแฟลช เอ็กซ์เพรส
ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ราคาถูกกว่าคู่แข่ง แต่แฟลช เอ็กซ์เพรส ยังยกระดับบริการของตัวเองให้มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการส่งพัสดุภายในวันถัดไปหลังใช้บริการ และพัสดุถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
เพราะแฟลช เอ็กซ์เพรส คงอ่านเกมขาดแล้วว่า ตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้งบโฆษณามหาศาลเท่ากับเคอรี่ และเลือกที่จะกำไรน้อยลงนิดหน่อย เพื่อทำราคาดึงดูด
จากนั้นเมื่อลูกค้าทดลองใช้แล้วรู้สึกดีในบริการ ก็จะเกิดการบอกปากต่อปากในโลกออนไลน์ และสุดท้ายจะเกิดลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
นับเป็นวิธีการสร้างแบรนด์ชนะใจลูกค้าผ่านประสบการณ์ใช้งานจริง
แล้ว สงคราม ครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร?
เพราะเวลานี้...ในตลาดขนส่งพัสดุมีให้เราเลือกใช้บริการมากมายเต็มไปหมด 
ซึ่งเราเองก็คงจะยังฟันธงไม่ได้ว่าใครจะประสบความสำเร็จ ใครจะล้มเหลว
แต่ที่ตอบได้แน่ๆ ในตอนนี้คือใครที่มีค่าบริการถูก, มารับพัสดุถึงหน้าบ้านฟรีตั้งแต่ชิ้นแรกไม่บวกเพิ่ม, และส่งพัสดุรวดเร็วถึงที่หมายปลอดภัย จะเป็นผู้ชนะใจลูกค้าไปในที่สุด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.