กลุ่มธนจิรา ดัน “Marimekko” ขยายธุรกิจร้านคาเฟ่ ต่อเนื่อง พร้อมเล็งขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

กลุ่มธนจิรา ดัน “Marimekko” ขยายธุรกิจร้านคาเฟ่ ต่อเนื่อง พร้อมเล็งขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

24 ก.ค. 2023
บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ยอดนิยมของคนไทยหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น
-Pandora แบรนด์เครื่องประดับ จากเดนมาร์ก
-Marimekko สินค้าไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นด้านลายพิมพ์และสีสัน จากฟินแลนด์
-Cath Kidston สินค้าไลฟ์สไตล์วินเทจ จากอังกฤษ
-HARNN ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ และสปาแบบองค์รวม
ฉลองความสำเร็จครบรอบ 8 ปีของ Marimekko (มารีเมกโกะ) ในประเทศไทย
พร้อมประกาศกลยุทธ์ เดินหน้ารุกตลาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9
โดยคุณธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป
ได้เผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์, อินไซต์นักช็อป และแผนธุรกิจในอนาคต
Marimekko เป็นแบรนด์ที่มีประวัติยาวนานมากกว่า 70 ปี
ซึ่งธนจิรา กรุ๊ป ได้นำแบรนด์เข้ามาทำตลาดในไทย นับตั้งแต่ปี 2558
หลังจากนั้น สินค้าของ Marimekko ก็กลายเป็นที่นิยมและรู้จักอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่กระเป๋า Tote bag และขยายไปสู่สินค้า Ready to wear และ Home Collection ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนไทยมากยิ่งขึ้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Marimekko ประเทศไทย ได้วางตำแหน่งการตลาด และกลยุทธ์ไว้อย่างชัดเจน
โดยมีเป้าหมายให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง DNA ของสินค้า
และกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ คือ YWN มาจาก Youth (คนรุ่นใหม่), Women (ผู้หญิง) และ Netizen (ชาวเน็ต)
ในช่วงเวลาหลายปีที่ Marimekko ทำตลาดในไทย
นอกจากแบรนด์จะเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทย มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
ในแง่ของธุรกิจ ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งด้านยอดขาย และจำนวนสาขา
และยิ่งยุคปัจจุบัน ที่ทุกคนติดตาม ข่าวสาร และรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ต เมื่อแบรนด์มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สามารถขยายการส่งต่อประสบการณ์ของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้นด้วย
จากกระแสตอบรับที่ดีของสินค้าหมวด Ready to wear และ Home Collection
ทาง Marimekko จึงสานต่อความสำเร็จ ด้วยการต่อยอดธุรกิจ จากสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่น สู่ “ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม”
โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้นำร่องเปิดตัว “Marimekko Kafé” แห่งแรกที่เซ็นทรัล เอมบาสซี
และล่าสุดเพิ่งขยาย Marimekko Kafé สาขาใหม่ที่ ดิ เอ็มโพเรียม
ในรูปแบบ Store Format ขนาดเล็ก ที่คัดสรรสินค้า ที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายในโลเคชันนั้น ๆ
ซึ่งทั้ง 2 สาขา ก็ได้เสียงตอบรับอย่างดีจากลูกค้า
นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิด Marimekko Kafé เพิ่มอีก 1 สาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายในปีนี้อีกด้วย
สำหรับเหตุผลที่ ธนจิรา กรุ๊ป ปั้น Marimekko Kafé ขึ้นมา และขยายธุรกิจนี้
เป็นเพราะว่าบริษัทฯ ต้องการสร้างแบรนด์ Marimekko ให้แข็งแกร่งกว่าเดิม
เนื่องจากเมื่อแบรนด์แข็งแกร่ง ก็จะอยู่ใน Top of Mind ของผู้บริโภค ซึ่งมีผลต่อยอดขาย
ดังนั้นแบรนด์จึงต้องเดินหน้าสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และหนึ่งในกลยุทธ์นั้นคือ การเปิดตัว Marimekko Kafé ที่ถือว่าเป็นการรวมคีย์ไฮไลต์ของแบรนด์มาไว้ในที่เดียว
โดยร้าน Marimekko Kafé จะช่วยแบรนด์ Marimekko ในเรื่องการขยายการรับรู้และเข้าถึงแบรนด์ ผ่านการมีประสบการณ์ร่วม ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
โดยร้านจะใช้ จาน ชาม และของตกแต่งบ้านจาก Home Collection ของแบรนด์
เข้ามาเป็นจุดเชื่อมโยงให้ผู้บริโภค มีโอกาสได้สัมผัสและเปิดประสบการณ์กับสินค้าจาก Marimekko และลายพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์
และเมื่อแบรนด์สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนไทย ได้มากยิ่งขึ้น ผ่านร้านอาหารและเครื่องดื่มแล้ว
สุดท้าย กลุ่มเป้าหมายก็อาจจะสนใจหรืออินในแบรนด์
และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของยอดขายของสินค้าฝั่ง Ready to wear และ Home Collection นั่นเอง
-เจาะอินไซต์กลุ่มลูกค้า Marimekko ในประเทศไทย
กลุ่มสินค้า Ready-to-wear มาแรงเบอร์หนึ่ง
Customer Insight ของกลุ่ม YWN เป็นเป้าหมายสำคัญของแบรนด์ จากการซื้อสินค้าในราคาเริ่มต้น ผ่านประสบการณ์การใช้งานจริง จนเกิดความชื่นชอบ และสนใจเรียนรู้เรื่องราวของแบรนด์
รวมไปถึงสตอรีของลายพิมพ์ต่าง ๆ เกิดความสนใจที่จะติดตามเรื่องราว ข่าวสาร และกลายเป็นแฟนของแบรนด์อย่างแท้จริง
กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นผู้ส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ของ Brand Journey เป็นกระบอกเสียง และเติบโตไปพร้อมกับแบรนด์
โดย Marimekko ประเทศไทย มีสัดส่วนยอดขายจากกลุ่มสินค้า Ready-to-wear มากที่สุด คิดเป็น 49% ซึ่งแตกต่างจาก Marimekko ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ที่ยอดขายส่วนใหญ่ จะเป็นสินค้ากลุ่ม Home Collection
สำหรับกลุ่มลูกค้า Ready-to- wear เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีกำลังซื้อสูง
รองลงมาคือ สินค้ากลุ่ม Bags & Accessories คิดเป็น 30%
และถัดมาคือกลุ่ม Home Collection 20%
-ความท้าทายของการปั้นแบรนด์ Marimekko ในตลาดประเทศไทย
ความท้าทายของ Marimekko ในตลาดประเทศไทย คือการหากลุ่มลูกค้าใหม่ ที่ยังเป็น non-user ให้เป็น user เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยังมีผู้บริโภคที่มองว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาสูง
จึงต้องพยายาม สื่อสารและพัฒนาคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และเลือกใช้สินค้าของแบรนด์มากยิ่งขึ้น
อีกความท้าทายคือ ความหลากหลายของประเภทสินค้า (Category) ที่ทำให้ยังเกิดความสับสนว่า Marimekko เป็นแบรนด์แฟชั่น หรือแบรนด์ของใช้ในบ้าน
ซึ่งบริษัทฯ​ พยายามตีความให้ Marimekko เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่ครอบคลุมทุกบริบทในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า กระเป๋า หรือ จาน ชาม
แต่เป็นแบรนด์ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน
-สเต็ปต่อไปของ Marimekko ประเทศไทย
คือการขยายการรับรู้ของแบรนด์ออกไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ให้มีประสบการณ์ร่วมมากยิ่งขึ้น
รวมถึงการมองแผนการขยายแบรนด์ Marimekko สู่ตลาดต่างประเทศใน Asia Pacific หรือเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
ซึ่งคุณธนพงษ์ เปิดเผยว่า ทางธนจิรา กรุ๊ป เพิ่งได้สิทธิ์ในการขยายธุรกิจ Marimekko ไปยังตลาดต่างประเทศ เพิ่ม 1 ประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนแบรนด์ในพอร์ตขึ้นในอนาคต
รวมถึงเล็งขยายกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะนำเข้าแฟรนไชส์ร้านอาหารพรีเมียม จากยุโรป เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย อีกด้วย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.