“ยามาซากิ” ขนมปังที่ไม่ค่อยโฆษณา แต่รายได้ 1,000 ล้าน
18 ก.ย. 2023
เชื่อไหมว่ามีเบเกอรีอยู่ร้านหนึ่ง.. ที่เราแทบไม่เคยเห็นโฆษณาของแบรนด์เลย แต่ก็สามารถทำรายได้หลัก 1,000 ล้านบาท ได้แทบจะทุกปี
นั่นคือ “ยามาซากิ” แบรนด์เบเกอรีขนมอบ จากญี่ปุ่น
ที่มาทำตลาดในไทย ตั้งแต่ปี 1984 หรือเมื่อ 39 ปีที่แล้ว
โดยที่ผ่านมา แม้ยามาซากิ จะไม่ได้โฆษณาอะไรเยอะ
แต่เราก็ยังเห็นเมนูเด็ดที่กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอยู่เรื่อย ๆ
อย่างตอนนี้ก็คงเป็น ขนม “ซีบร้าครัวซองต์” ที่กระแสดีจนลูกค้าต้องแย่งกันซื้อ
หรือจะเป็นขนม “ช็อกโกแลตเมสซี่” ขนมปังไส้ช็อกโกแลต โรยด้วยผงโกโก้ ที่เข้มจนทานแล้วหลายคนสำลัก ก็กำลังกระแสดีไม่แพ้กัน
และรู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วยามาซากิ ไม่ได้มีสาขาแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีจุดกระจายสินค้าอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมกันแล้วกว่า 107,950 แห่ง
โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทแม่ของยามาซากิ (Yamazaki Baking) มีรายได้ถึง 260,765 ล้านบาท
และเคยถูกยกให้เป็นร้านเบเกอรีที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ 5 ของโลกมาแล้ว
ทีนี้ บางคนอาจจะอยากรู้แล้วว่า จุดเริ่มต้นของยามาซากิเป็นอย่างไร ?
แล้วแบรนด์ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ก่อนจะกลายมาเป็นเบเกอรีร้านโปรดของคนทั่วโลก ?
ในบทความนี้ MarketThink เลยอยากขออาสาพาทุกคน
ไปทำความรู้จักกับยามาซากิให้มากขึ้น..
ย้อนกลับไปในปี 1948 ที่ประเทศญี่ปุ่น
คุณโทจูโร อิอิจิม่า เห็นว่าขนมปังสไตล์ตะวันตก กำลังค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมีอิทธิพลมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ตัวเขาจึงตัดสินใจเปิดร้านขายขนมปังชื่อ “ยามาซากิ” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ๆ
จนต้องเริ่มทำโรงงานผลิตขนมปัง อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในปี 1951
หลังจากนั้นยามาซากิ ก็ยังคงขายดีขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งวันหนึ่ง คุณโทจูโร ก็ตัดสินใจนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตขนมปังที่ทันสมัย
รวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำแพ็กเกจจิงที่มีประสิทธิภาพจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป เข้ามาใช้ในโรงงาน
นี่เองทำให้ยามาซากิ ไม่ได้หยุดแค่ขนมปังอีกต่อไป
แต่ยังแตกไลน์สินค้าออกมาเป็น เค้กยุโรป, แซนด์วิช และขนมทานเล่นอื่น ๆ นับตั้งแต่ตอนนั้น
นอกจากนี้ การที่ยามาซากิ ลงทุนสร้างโรงงานขนมปัง และเพิ่มกำลังการผลิต แบบจัดเต็มขนาดนี้
สิ่งที่ตามมาคือ “การประหยัดต่อขนาด” หรือก็คือ ยิ่งผลิตเยอะ ยิ่งได้ต้นทุนการผลิตของสินค้าเฉลี่ยต่อชิ้น ที่ถูกลง
ทำให้ยามาซากิ กลายมาเป็นซัปพลายเออร์ด้านขนมปังรายใหญ่ ที่เหล่าซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ภายในญี่ปุ่น เลือกใช้บริการอีกด้วย
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามในญี่ปุ่นแล้ว
ยามาซากิ ก็เริ่มมองหาโอกาสเติบโตใหม่ ๆ ด้วยการขยายสาขาไปยังต่างประเทศ
โดยในปี 1977 ยามาซากิ ก็ได้ขยายสาขาออกไปยัง ฮ่องกง, สหรัฐฯ, ไต้หวัน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ยุโรป
รวมถึงไทยในปี 1984 นั่นเอง
ทีนี้ เรามาวิเคราะห์ถึงจุดแข็งของยามาซากิ ที่ทำให้แม้ไม่ต้องโฆษณา
แต่ก็ยังสามารถดึงดูดลูกค้า เข้ามาได้เรื่อย ๆ
ถ้าไม่นับเรื่องของคุณภาพที่ดีของสินค้า ที่ยามาซากิรักษามาตรฐานได้ดีมาตลอด และเรื่องของราคาที่เข้าถึงได้ง่ายแล้ว
ก็คงจะเป็นเรื่องของการออกแบบเมนู ที่ค่อนข้างฟังเสียงผู้บริโภคพอสมควร
ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมนูขนมปังมันหวาน และคุกกี้ชูครีม กำลังเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอยู่ในตอนนั้น
ทางยามาซากิ ก็ได้ทำขนมปังคล้าย ๆ กันออกมา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
หรือจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง กับเมนู “ช็อกโกแลตเมสซี่”
ขนมที่ลูกค้าบางคนเจอปัญหาทานแล้วมือเลอะ จากผงโกโก้ที่โรยอยู่ด้านบน
ทางแบรนด์ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการออกสินค้าที่ไม่โรยผงโกโก้ ออกมาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าอีกด้วย
นอกจากนี้ ยามาซากิ ยังมีเทคนิคเพิ่มความน่าสนใจให้สินค้าได้อย่างน่าประทับใจ
ยกตัวอย่างเช่น ทางร้านจะมีการบอกเวลาอบของขนมปังแต่ละชนิดเอาไว้
เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า สินค้าแต่ละชิ้นของยามาซากินั้น อบสดใหม่ทุกวัน
หรือจะเป็นการบอกอันดับความนิยมของสินค้าแต่ละชิ้นเอาไว้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น นั่นเอง
ปัจจุบัน บริษัท ไทย ยามาซากิ จำกัด
เจ้าของธุรกิจร้านยามาซากิ และแบรนด์อื่น ๆ ในเครือ ในประเทศไทย
ปี 2022 รายได้ 1,054 ล้านบาท
กำไร 58 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไร 5.5%
ซึ่งก็ถือว่าไม่เลว สำหรับแบรนด์ที่แทบจะไม่โฆษณาเลย..
สุดท้ายนี้ ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้านำกิจการยามาซากิของไทย มา IPO เข้าตลาดหุ้น ด้วยค่า P/E (มูลค่าบริษัท/กำไร) เดียวกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นคือ 34 เท่า
ยามาซากิ ในไทย ก็จะกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงเกือบ 2,000 ล้านบาท เลยทีเดียว..
—-------------------------------------
อ้างอิง: