LinkedIn ทางเลือกใหม่ ใช้หาคู่เดต ทำไมถึงมีหลายคนใช้ แทน Tinder

LinkedIn ทางเลือกใหม่ ใช้หาคู่เดต ทำไมถึงมีหลายคนใช้ แทน Tinder

9 ม.ค. 2024
หากลองถามคนทั่วไป ว่าหากพูดถึงการหา “คู่เดต” จะนึกถึงแอปอะไรเป็นอันดับแรก
คำตอบที่ได้ น่าจะเป็นหนึ่งในแอปหาคู่เดตเหล่านี้
- Tinder แอปหาคู่เดตยอดนิยม ที่ใช้การปัดซ้าย ปัดขวา หาคนที่ถูกใจ
- Bumble แอปหาคู่เดตที่ให้สิทธิ์ผู้หญิง เลือกคุยกับผู้ชายที่ต้องการ
- Coffee Meets Bagel แอปหาคู่เดต ที่คัดเลือกคนจากความชอบที่เหมือนกัน
- Facebook Dating ฟีเชอร์หาคู่เดตในแอป Facebook
อย่างไรก็ตาม มีเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุด คือการใช้ “LinkedIn” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการหางาน และหาคอนเน็กชันของคนในสายอาชีพต่าง ๆ ไปใช้เป็นแพลตฟอร์มหา “คู่เดต”
แม้ฟังแล้วจะดูแปลก ๆ เพราะคงไม่มีใครกล้าหาคู่เดตจากแพลตฟอร์มที่มีความเป็นทางการสูงอย่าง LinkedIn
แต่เรื่องนี้ กลับมีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่กำลังใช้ LinkedIn แบบผิดวัตถุประสงค์ และหวังที่จะได้คู่เดต จากแพลตฟอร์มนี้จริง ๆ
ถึงขนาดที่ว่า มีคนทำคลิปวิดีโอสั้น แนะนำการหาคู่เดตบน LinkedIn ลงบน TikTok
หรือตั้งกระทู้แนะนำการหาคู่บน Reddit ซึ่งเป็นหน้าเว็บบอร์ดที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับ Pantip ของไทย
หรือผู้ใช้งาน LinkedIn บางคน เปิดเผยว่า เคยมีประสบการณ์แช็ตกับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ
คือในตอนแรกก็เป็นการแช็ตกันเรื่องตำแหน่งงานตามปกติ แต่เมื่อแช็ตไปสักระยะหนึ่ง วัตถุประสงค์กลับเปลี่ยนไปเป็นแนวชู้สาวเสียมากกว่า
คำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อโลกออนไลน์ มีแอปหาคู่เดตให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก แล้วทำไมยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ใช้ LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการหาคู่เดต ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
การที่จะตอบคำถามนี้ได้นั้น อยากชวนคิดกันก่อนว่า โดยปกติแล้วคนที่กำลังหาคู่เดต มีความต้องการอะไรบ้าง ?
โดยปกติแล้ว สิ่งที่คนทั่วไปต้องการจากคู่เดต หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “สเป็ก” ส่วนใหญ่แล้วก็หนีไม่พ้นเรื่องพื้นฐานเหล่านี้
- รูปร่าง หน้าตา ลักษณะภายนอกที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
- ความชอบ ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตคร่าว ๆ
- ระดับการศึกษา มหาวิทยาลัยที่เรียน สายอาชีพ หน้าที่การงานในปัจจุบัน
3 เรื่องนี้คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ ใช้พิจารณาคู่เดตของตัวเอง ก่อนที่จะตัดสินใจคุยต่อ หรือนัดเจอกัน เพื่อสานสัมพันธ์ในระยะยาว
และแน่นอนว่า แอปหาคู่เดตทุกแอป ก็ดูจะเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานเป็นอย่างดี เพราะแอปหาคู่เดตส่วนใหญ่ ก็มีตัวเลือกให้ระบุข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ กันเป็นปกติอยู่แล้ว
แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่อยู่บนแอปหาคู่เดต เป็นเรื่องจริง..
เพราะใคร ๆ ก็สามารถกรอกข้อมูล เพื่อสร้างโปรโฟล์ของตัวเอง ให้ดูดีกว่าความเป็นจริงได้เสมอ
จุดนี้เองกลายเป็นช่องว่าง ที่ทำให้ LinkedIn ถูกนำไปใช้งานเป็นแอปหาคู่เดต ของคนบางกลุ่ม
เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่ LinkedIn มีคือความ “น่าเชื่อถือ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แอปอื่น ๆ ไม่มี หรือมีแต่น้อยกว่า
แล้วถ้าถามว่า ทำไม LinkedIn จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ?
เรื่องนี้ ก็เป็นเพราะ LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับการหางาน มีความเป็นทางการสูง
จึงต้องมีฟีเชอร์ ที่เป็นเหมือน Portfolio สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้งานแต่ละคน
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ฟีเชอร์ “Connection” ที่เป็นเหมือนการ “เพิ่มเพื่อน” ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าผู้ใช้งาน LinkedIn คนนั้น “รู้จัก” กับคนสายอาชีพเดียวกันคนใดบ้าง
และ Connection ที่มีก็เป็นเหมือนการการันตีโปรไฟล์ และสร้างความน่าเชื่อถือ ไปในตัว
และด้วยความที่ LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการหางาน ทำให้ผู้ใช้งานแต่ละคน ต้องใส่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองเป็นจำนวนมาก
เช่น ทักษะการทำงาน ข้อมูลด้านประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานโดยละเอียด และความสำเร็จในแวดวงการทำงานของตัวเอง
ซึ่งข้อมูลบางส่วน ก็เป็นข้อมูลเดียวกัน ที่ต้องระบุในแอปหาคู่เดตอื่น ๆ อยู่แล้ว
เพราะอย่าลืมว่า การหาคู่เดตสักคนหนึ่ง การดูหน้าตาเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่การศึกษา และหน้าที่การงาน ก็มีความสำคัญ เป็นอีกหนึ่งสเป็ก ที่ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน
รวมถึง LinkedIn ยังมีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานพรีเซนต์จุดเด่นของตัวเอง ได้อีกด้วย
เช่น สิ่งที่ได้จากการลงคอร์สพัฒนาทักษะ สรุปเนื้อหาจากหนังสือที่อ่าน การได้เลื่อนตำแหน่ง ผลลัพธ์จากการทำงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
จากเหตุผลเหล่านี้ จึงกลายเป็นการตอบคำถามได้อย่างชัดเจนในทันที ว่าทำไม LinkedIn จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มหางาน ที่มีคนจำนวนไม่น้อยใช้หาคู่เดต
ก็เป็นเพราะโดยพื้นฐานแล้ว LinkedIn เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้ใช้งาน ได้นำเสนอด้านดี ๆ ที่อยากให้คนอื่นได้รับรู้ ไม่ต่างจากแอปหาคู่เดตอื่น ๆ เลย
คิดภาพตามง่าย ๆ ว่า หากเราอยากใช้รูปภาพที่ดูดีที่สุดในแอปหาคู่เดต ใน LinkedIn เราก็ต้องอยากพรีเซนต์จุดเด่นด้านการทำงานที่ดีที่สุด เช่นเดียวกัน
นั่นทำให้ LinkedIn กลายเป็นแพลตฟอร์มของคนที่ต้องการหาคู่เดต ที่มีโปรไฟล์ดี มีหน้าที่การงานมั่นคง ไปในที่สุด
แต่แน่นอนว่า เรื่องนี้ ผิดวัตถุประสงค์การใช้งานของ LinkedIn อย่างไม่ต้องสงสัย
และมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก
โดยเว็บไซต์ Passport Photo ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งาน LinkedIn ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,000 คน
ซึ่งพบว่า ผู้ใช้งาน LinkedIn ที่เป็นผู้หญิงกว่า 91% เคยได้รับข้อความในเชิงโรแมนติก และข้อความที่ไม่เหมาะสม
และกว่า 43% เคยกดรีพอร์ตพฤติกรรมการใช้งาน LinkedIn ที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ผู้ใช้งาน LinkedIn ที่เป็นผู้หญิงกว่า 74% ยอมรับว่า ใช้งาน LinkedIn น้อยลง หลังจากเจอกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จากผู้ใช้งานคนอื่น ๆ
ซึ่งจากสถิตินี้ เป็นการยืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
การใช้งาน LinkedIn เพื่อหาคู่เดต ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม แถมยังสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ อย่างชัดเจน
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการทำให้เราเห็นถึง “ช่องว่าง” ที่ผู้ที่กำลังหาคู่เดตต้องการ แต่แอปหาคู่เดตโดยเฉพาะ ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้
เพราะอย่าลืมว่า ในโลกของการหาคู่เดต มีคนที่ต้องการคู่เดตที่มีความน่าเชื่อถือ มีการศึกษาดี มีหน้าที่การงานที่มั่นคง นอกเหนือจากเรื่องอื่น ๆ อย่างเรื่องหน้าตา ลักษณะภายนอก และไลฟ์สไตล์
ซึ่งข้อมูลพื้นฐานในแอปหาคู่เดตที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ในยุคนี้
และเป็นการชี้ให้เห็นถึงความคาดหวัง และความต้องการ ที่คนที่กำลังหาคู่เดต ต้องการจากแอปหาคู่เดต
ซึ่งนักพัฒนา ก็จำเป็นที่จะต้องพัฒนาฟีเชอร์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ต่อไป
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้การใช้ LinkedIn เพื่อหาคู่เดต..
หลังจากที่ InCareer (LinkedIn ที่ให้บริการเฉพาะในประเทศจีน) ได้ปิดให้บริการไปในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2023
หลังจากนั้น พบว่ามีวัยรุ่นชาวจีน “หางาน” ในแอปพลิเคชันหาคู่เดตหลายแอป
ทั้งการระบุข้อความในโปรไฟล์ของตัวเอง ว่ากำลังหางาน
หรือแม้แต่การขอคำแนะนำเกี่ยวกับการหางาน จากผู้ใช้งานคนอื่นในแอปหาคู่เดต
แต่คำถามคือ คนที่มาหางานในแอปหาคู่เดตเหล่านั้น ได้งานจริง ๆ มากน้อยแค่ไหน ?
เพราะตรงนี้ก็ยังไม่มีข้อมูล หรือสถิติ มาเฉลย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.