ปัญหาสำคัญ รถยนต์ EV มือสอง ราคาตกเยอะ ตกเร็วกว่า รถสันดาป

ปัญหาสำคัญ รถยนต์ EV มือสอง ราคาตกเยอะ ตกเร็วกว่า รถสันดาป

19 ม.ค. 2024
ปี 2022 มียอดรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งมอบ 11 ล้านคันทั่วโลก
ปี 2023 มียอดรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งมอบ 15 ล้านคันทั่วโลก
ปี 2024 คาดการณ์ว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งมอบ 18 ล้านคันทั่วโลก
และในอีก 7 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่ารถยนต์ทั้งหมดที่ส่งมอบ “ครึ่งหนึ่ง” บนโลกใบนี้จะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า..
ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
และกลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของคนในยุคปัจจุบัน ถ้าอยากจะซื้อรถยนต์สักคันไปแล้ว
แน่นอนว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีข้อดีหลาย ๆ อย่างมากกว่ารถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
แต่ก็มีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี คือเรื่อง “ราคาขายต่อ”
สำหรับคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาเพื่อใช้งานไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดถึงราคาขายต่อ
เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาอะไร
แต่แน่นอนว่า ก็มีหลาย ๆ คนที่จะซีเรียสเรื่องนี้เหมือนกัน
เพราะล่าสุดมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก iSeeCars เว็บไซต์เกี่ยวกับรถยนต์ชื่อดัง
ที่ได้ศึกษาราคารถยนต์มือสองจากปี 2018 จำนวน 1.1 ล้านคัน ที่จำหน่ายระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2022 ถึงตุลาคม 2023
แล้วพบว่าราคาเฉลี่ยของรถยนต์ไฟฟ้ามือสอง จะลดลงมากถึง 52% หลังจากใช้งานไป 3 ปี
ขณะที่ค่าเฉลี่ยของรถยนต์ทั่วไป จะลดลงประมาณ 39.1% ในระยะเวลาเท่ากัน
โดยสถิติจาก iSeeCars ในปี 2023 ที่ผ่านมา ถ้าลองดูรถยนต์อายุ 5 ปี ที่มีราคาขายต่อลดลงมากที่สุด 5 อันดับแรก
1. Tesla Model S มูลค่าลดลง 55.5%
2. Chevrolet Bolt EV มูลค่าลดลง 51.1%
3. Nissan Leaf มูลค่าลดลง 50.8%
4. Tesla Model X มูลค่าลดลง 49.9%
5. Tesla Model 3 มูลค่าลดลง 42.9%
ก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมดล้วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งนั้นเลย
ทีนี้แล้วอะไรบ้างที่ทำให้ ราคารถยนต์ไฟฟ้ามือสองร่วงได้เร็วขนาดนี้ ?
MarketThink ลองชวนทุกคนมาวิเคราะห์กัน..
ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจก่อนว่า สาเหตุที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ครั้งละ
500-600 กิโลเมตร ด้วยการชาร์จเพียงครั้งเดียว เหมือนทุกวันนี้
เป็นเพราะว่ารถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีการใช้ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
ที่พัฒนามาอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีนี้ มาใช้เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน
โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน จะมีข้อดีคือเก็บไฟได้เยอะ มีอายุการใช้งานที่นาน และชาร์จไฟได้เร็ว
ส่วนข้อเสียก็คือ ตัวแบตเตอรี่จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง
โดยทั่วไปแล้วคิดเป็น 30% ของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน
ตามที่ Dirk Weddigen von Knapp ประธานกรรมการของ Volkswagen ได้บอกเอาไว้
จากที่ว่ามาทำให้แบตเตอรี่นั้น กลายเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
เพราะต่อให้แบตเตอรี่ชนิดนี้จะดีสักแค่ไหน แต่ตามธรรมชาติของแบตเตอรี่
ไม่ว่าอย่างไรมันก็ต้องเสื่อมอายุตามเวลาและการใช้งานในสักวันหนึ่งอยู่ดี
ดังนั้น พอแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ผู้ใช้ก็ต้องเสียเงินก้อนใหญ่มาเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่สถานเดียว ไม่อย่างนั้นก็ขับรถต่อไม่ได้
ทำให้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าส่วนมาก จะมีการรับประกันแบตเตอรี่ไว้นานระดับที่สอดคล้องกับอายุการใช้งาน เช่น ประมาณ 8 ปี
เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าระหว่างนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับแบตเตอรี่ ลูกค้าจะไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่
ซึ่งตรงนี้ก็เป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้านั้นตกลงได้เยอะเมื่อนำมาขายต่อ..
เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า โดยเฉลี่ยแล้วรถยนต์ทั่วไป
จะมีมูลค่าลดลงไปประมาณ 40% หลังจากใช้งานไป 5 ปี
เช่น สมมติซื้อรถยนต์มา 1,000,000 บาท หลังจากขับไป 5 ปี
ราคาขายต่อก็จะเหลือ 600,000 บาท
ซึ่งนี่คือกรณีของรถยนต์ทั่วไป ที่ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะเสื่อมวันไหน
ทีนี้กับกรณีของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานมา 5 ปี
และเหลือระยะเวลารับประกันแบตเตอรี่แค่ 3 ปี จาก 8 ปี
หมายความว่าคนที่ซื้อต่อไปจะสามารถใช้รถ
แบบอุ่นใจได้จริง ๆ แค่ 3 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นก็ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่
ดังนั้น ถ้าจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใช้แล้วอายุ 5 ปี ในราคาที่คิดค่าเสื่อมเท่ากันกับรถยนต์สันดาปที่ประมาณ 40% ของมูลค่าเต็ม
เช่น จากรถยนต์ราคา 1,000,000 บาท เหลือ 600,000 บาท
แต่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ ลูกละ 300,000 บาท
(สมมติให้ราคาเปลี่ยนแบตเตอรี่คิดเป็น 30% ของราคารถ ตามข้อมูลจาก Volkswagen)
รวมกันแล้วเป็น 900,000 บาท ซึ่งห่างกับรถยนต์ใหม่มือ 1 แค่นิดเดียว
ทำให้ผู้ขายรถหลาย ๆ คนต้องจำใจลดราคารถยนต์ของตัวเองลง
เพื่อจูงใจให้คนที่จะมาซื้อต่อ ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
จนทำให้ค่าเฉลี่ยราคาขายต่อของรถยนต์ไฟฟ้ามือสองนั้นต่ำกว่ารถยนต์สันดาป
ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการซื้อมารองรับแบบที่เป็นอยู่เยอะเหมือนกัน นั่นเอง..
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่คอยมากดราคาขายต่อของรถยนต์ไฟฟ้ามือสองอีกหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาครัฐของหลายประเทศกำลังผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าแบบสุด ๆ
เพราะอยากให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเยอะ ๆ
- ไทย มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรการนำเข้าพวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
- นอร์เวย์ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ต้องเสียภาษีจดทะเบียนและภาษีมูลค่าเพิ่ม แถมภาครัฐยังให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า
- เยอรมนี ให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และจะไม่เก็บภาษียานยนต์เป็นระยะเวลา 5-10 ปี ตามช่วงเวลาที่ออกรถ
นี่ยังไม่นับเรื่องของ “สงครามราคา” ที่เริ่มโดยรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีน
ที่ใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ในประเทศ ผลิตสินค้ามาทีละเยอะ ๆ จนต้นทุนถูกลง
และสามารถขายได้ถูกกว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอื่น ๆ
จนแบรนด์อื่น ๆ โดยเฉพาะ Tesla ต้องปรับลดราคาลงกันหมด เพื่อป้องกันส่วนแบ่งของตัวเอง
ทั้งหมดที่ว่ามาทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นหลัง ๆ มีราคาเริ่มต้นที่ “ถูกลงเรื่อย ๆ”
จนตอนนี้ไม่ต้องใช้เงินเป็นล้าน ก็ออกรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ได้แล้ว
และรถยนต์ไฟฟ้ามือสองก็ขายออกยากขึ้นไปอีก
เพราะถ้าบวกราคาที่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เข้าไปแล้ว ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ามือสองก็จะขยับเข้า
ไปใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ปรับลดราคาลงมาทันที
ทำให้คนที่จะขายก็คงไม่มีทางเลือกนอกจาก “ลดราคา” อีกเช่นเคย..
อย่างไรก็ดี ตอนนี้หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่า แนวโน้มหลังจากนี้แบตเตอรี่
ลิเทียมไอออนจะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ
ทำให้การเปลี่ยนแบตเตอรี่ อาจจะไม่ได้แพงแบบนี้อีกแล้วก็ได้..
เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้ หลายบริษัทก็เริ่มจริงจังกับการทำแบตเตอรี่มากขึ้นแล้ว
อย่างเช่น Tesla ตอนนี้ก็มีโรงงานทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมไปถึงจีน
ทำให้ในอนาคตกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจะเยอะขึ้น
ซึ่งน่าจะส่งผลให้ราคาของมันถูกลงเองไปตามกลไก
สุดท้ายนี้ ถ้าจะให้ฟันธงว่าซื้อรถยนต์สันดาปนั้นดีกว่าซื้อรถยนต์​ไฟฟ้า
ก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก
เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลอดระยะเวลาการใช้งานของรถยนต์สันดาป
จะต้องเติมน้ำมันที่ “ราคาแพงกว่าการชาร์จไฟ” หลายเท่า
แถมด้วยอะไหล่เฉลี่ย 30,000 ชิ้นของรถยนต์สันดาป
เมื่อเทียบกับอะไหล่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ 20,000 ชิ้น
ยังทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าจะ
ค่อนข้างถูกกว่ารถยนต์สันดาปอยู่พอสมควร
ซึ่งคำตอบของคำถามที่ว่า ระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์สันดาป
ซื้อรถประเภทไหนคุ้มกว่าในตอนนี้ ?
คำตอบก็คงจะเป็น ขึ้นอยู่กับ “ความพอใจ” ของแต่ละคนมากกว่า
และสำหรับคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ โดยไม่ได้คิดเรื่องขายต่อเลย
ก็อาจจะไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปัญหาเลยก็ได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.