Transsion บริษัทจีน ชื่อไม่คุ้นหู แต่ขายสมาร์ตโฟน มากที่สุด Top 5 ของโลก

Transsion บริษัทจีน ชื่อไม่คุ้นหู แต่ขายสมาร์ตโฟน มากที่สุด Top 5 ของโลก

25 ม.ค. 2024
หากลองสุ่มถามคนทั่วไป ว่าสมาร์ตโฟนแบรนด์ไหน ขายดีสุด 5 อันดับแรกในปีที่แล้ว
เชื่อว่าคำตอบที่ได้ คงหนีไม่พ้นแบรนด์ดัง ที่คนทั่วไปคุ้นหู
ไม่ว่าจะเป็น Apple
Samsung
Xiaomi
หรือ OPPO
ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ ก็คือแบรนด์ที่ขายสมาร์ตโฟนได้มากที่สุด 4 อันดับแรก ครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนรวมกัน 60%
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แบรนด์สมาร์ตโฟนที่มียอดขายอันดับ 5 กลับไม่ใช่แบรนด์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นหู
ไม่ใช่ Vivo
ไม่ใช่ Realme
และไม่ใช่ Huawei
แต่เป็นแบรนด์สมาร์ตโฟนจากบริษัทสัญชาติจีน ชื่อว่า “Transsion”
ที่มียอดขายสมาร์ตโฟนเกือบ 100 ล้านเครื่อง ในปีที่แล้ว
โดยภาพรวมส่วนแบ่งตลาดจำนวนยอดขายสมาร์ตโฟนที่ขายได้ในปี 2023 ของทั้งโลก อ้างอิงจากสถิติของ IDC
อันดับ 1 Apple ยอดขาย 234.6 ล้านเครื่อง
อันดับ 2 Samsung ยอดขาย 226.6 ล้านเครื่อง
อันดับ 3 Xiaomi ยอดขาย 145.9 ล้านเครื่อง
อันดับ 4 OPPO ยอดขาย 103.1 ล้านเครื่อง
อันดับ 5 Transsion ยอดขาย 94.9 ล้านเครื่อง
ที่น่าสนใจคือ หากไปถามคนทั่วไปว่ารู้จักบริษัทที่ชื่อว่า Transsion หรือไม่ ?
คนส่วนใหญ่ น่าจะให้คำตอบว่า “ไม่รู้จัก”
แล้ว Transsion ทำอย่างไร จึงกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับ 5 ของโลกได้ ทั้งที่คนทั่วไป อาจไม่ได้รู้จักบริษัทที่ชื่อว่า Transsion เลย
ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องอธิบายก่อนว่า Transsion คือบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติจีน ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2006 ในวันที่คนทั่วโลกยังใช้โทรศัพท์มือถือปุ่มกด กันเป็นส่วนใหญ่
แต่ Transsion เป็นบริษัทที่มีกลยุทธ์ในการทำตลาดสมาร์ตโฟน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นหลัก
โดยเลือกทำตลาดผ่านแบรนด์ลูกของ Transsion ที่คนไทยอาจเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ได้แก่
- Tecno แบรนด์สมาร์ตโฟน ที่จับกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลาง มีกล้องคุณภาพดี มีเทคโนโลยีล้ำ ๆ
- Infinix แบรนด์สมาร์ตโฟน สำหรับกลุ่มคน Gen Z เน้นดิไซน์สวยงาม มีความเป็นแฟชั่น
- Itel แบรนด์สมาร์ตโฟนราคาถูก เน้นความน่าเชื่อถือ และความคงทน
โดยที่ทั้ง 3 แบรนด์ มีจุดเด่นด้านหนึ่งร่วมกัน
คือ การเป็นแบรนด์สมาร์ตโฟน ที่มีราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับแบรนด์สมาร์ตโฟนอื่น ๆ ในท้องตลาด
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนทั่วโลก อาจไม่คุ้นกับชื่อ Transsion ก็เป็นเพราะ Transsion เป็นบริษัทที่เน้นการทำตลาดสมาร์ตโฟน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นหลัก
แล้วถ้าถามว่า Transsion มีดีอะไร ทำไมคนในทวีปแอฟริกาจึงนิยมใช้สมาร์ตโฟนของ Transsion มากขนาดนี้
เรื่องนี้อธิบายได้แบบง่าย ๆ เลยว่า Transsion ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Localization ในการพัฒนาสมาร์ตโฟน ให้เหมาะกับลูกค้าและตลาดที่ให้ความสำคัญ
แล้ว Transsion ใช้กลยุทธ์ Localization อย่างไร ?
สิ่งที่ Transsion ทำ คือการพัฒนาสมาร์ตโฟน ให้เหมาะกับประเทศกำลังพัฒนา ในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ
ทั้งในด้านสเป็กที่ต้องแรงเพียงพอ มีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน ตัวเครื่องที่ทนทาน เหมาะกับการใช้งานของคนในทวีปแอฟริกา
รวมถึงราคา ที่ต้องไม่แรงเกินไป
ให้ลองนึกภาพตามว่า คนในทวีปแอฟริกาจำนวนมาก เพิ่งจะมีสมาร์ตโฟนกันเป็นครั้งแรก และหลายคนมีกำลังซื้อไม่ได้สูง
การซื้อสมาร์ตโฟนสักเครื่องหนึ่ง จึงต้องตอบโจทย์ทั้งการทำงานเพื่อสร้างรายได้ และการใช้งานส่วนตัว ในเครื่องเดียว
แต่ที่เรียกว่าเป็นการใช้กลยุทธ์ Localization อย่างชัดเจนที่สุด คือ Transsion ตั้งใจพัฒนาซอฟต์แวร์กล้องในสมาร์ตโฟนของตัวเอง ให้สามารถถ่ายภาพคนผิวสีในแอฟริกา ได้สวยที่สุด
เพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วสมาร์ตโฟนแบรนด์อื่น ๆ มักมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ของกล้อง ให้เหมาะกับคนผิวขาวมากกว่า
ส่วนในด้านภาษา Transsion ก็มีการติดตั้งภาษาท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา มาให้พร้อมใช้งานทันทีตั้งแต่เปิดเครื่องครั้งแรก
ทำให้ผู้ใช้งาน ไม่จำเป็นต้องไปหาภาษาของตัวเอง ติดตั้งเพิ่มเติมให้ยุ่งยากอีกต่อไป
และด้วยกลยุทธ์เหล่านี้เอง ทำให้แบรนด์สมาร์ตโฟนของ Transsion ทั้ง 3 แบรนด์ คือ Tecno, Infinix และ Itel ครองส่วนแบ่งตลาดในทวีปแอฟริกา ได้เป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 48% ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2023
หรือคิดง่าย ๆ ว่า สมาร์ตโฟน 100 เครื่อง ที่ขายในทวีปแอฟริกา เกือบ 50 เครื่อง จะเป็นแบรนด์ในเครือของ Transsion
ในขณะที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Samsung ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 26%
ตามมาด้วย Xiaomi ด้วยสัดส่วน 11%
และ OPPO ด้วยสัดส่วน 4%
ส่วนในด้านผลประกอบการของ Transsion นั้น มีรายได้ทะลุ 200,000 ล้านบาท และกำไรอีกปีละเกิน 10,000 ล้านบาท ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในปี 2022 เครือ Transsion
มีรายได้ 240,000 ล้านบาท
กำไร 12,000 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวที่น่าสนใจของ Transsion บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับ 5 ของโลก ที่แม้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ
แต่กลับสร้างยอดขายได้ปีละเกือบ 100 ล้านเครื่อง จากกลยุทธ์ Localization ที่โฟกัสไปที่ทวีปแอฟริกา
ที่สำคัญคือ บริษัทรู้ว่าลูกค้าของตัวเองคือใคร
และจะทำอย่างไร ให้ลูกค้าของตัวเอง เกิดความพึงพอใจสูงสุด
จนแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากแบรนด์ใหญ่ได้
แม้คนจำนวนมากในโลกนี้ จะไม่คุ้นชื่อพวกเขาเลย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.