สินค้าที่ขายใน Outlet มาจากไหน ซื้อได้หรือไม่ เป็นของจริงหรือของปลอม ?

สินค้าที่ขายใน Outlet มาจากไหน ซื้อได้หรือไม่ เป็นของจริงหรือของปลอม ?

27 ม.ค. 2024
สินค้าจากแบรนด์ดัง ติดป้าย SALE ด้วยตัวอักษรสีแดงตัวใหญ่ แสดงส่วนลดดูล่อตาล่อใจ คือภาพที่เห็นกันอย่างชินตาจาก Outlet ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่า ทำให้ในบางครั้ง สินค้าจาก Outlet อาจถูกตั้งคำถามได้ว่า สินค้าชิ้นนั้นเป็นของจริง หรือของปลอมกันแน่
และจริง ๆ แล้ว เราควรซื้อสินค้าจาก Outlet หรือไม่ ?
เพื่อจะตอบคำถามนี้ได้ ก่อนอื่นต้องอธิบายกันก่อนว่า..
- Outlet คืออะไร ?
Outlet ก็คือร้านค้าปลีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1930
โดยในช่วงแรก เริ่มจากการขายสินค้าของแบรนด์ ให้กับพนักงานของตัวเองโดยเฉพาะ โดยไม่ได้ขายสินค้าให้กับคนทั่วไป
ซึ่งสินค้าที่นำมาขาย คือ สินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานการผลิต (สินค้าหลุด QC) เช่น เสื้อผ้าที่มีการตัดเย็บไม่เรียบร้อย มีตำหนิเล็กน้อย แต่ยังสวมใส่ได้ตามปกติ
และสินค้าค้างสต็อก ที่ผลิตมาเกินความต้องการ ซึ่งหากขายไม่หมด ก็จะกลายเป็นสินค้าตกรุ่น และขายไม่ได้ เพราะสินค้าชิ้นนั้นอาจล้าสมัยไปแล้ว
ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้อง “ระบาย” สินค้าเหล่านี้ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการ
แต่แทนที่จะนำสินค้าไปทำลายทิ้ง โดยไม่สร้างมูลค่าใด ๆ ก็นำมาขายให้กับพนักงานของตัวเอง ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดแทน
แต่ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากสินค้าเหล่านี้เพิ่มเติม
จึงเป็นจุดเริ่มต้น ในการเปิดร้าน Outlet เพื่อขายสินค้าเหล่านี้ให้กับคนทั่วไป โดยไม่ผ่านตัวกลาง
ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของสินค้าที่วางขายในร้าน Outlet คือ ราคาที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับสินค้าที่วางขายในช่องทางอื่น ๆ
- Outlet ในปัจจุบัน หน้าตาเป็นอย่างไร ?
ในปัจจุบัน สินค้าที่วางขายอยู่ใน Outlet นั้น มีที่มาที่หลากหลายมากกว่าเดิมมาก ไม่ได้มีเฉพาะสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน และสินค้าค้างสต็อกเท่านั้น
เพราะในปัจจุบัน สินค้าบางชิ้นที่วางขายอยู่ใน Outlet คือสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นสำหรับการวางขายในร้าน Outlet โดยเฉพาะก็มี และไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าปลีกทั่วไป
หรือนั่นก็หมายความว่า สินค้าเหล่านี้ ไม่ใช่สินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน และไม่ใช่สินค้าค้างสต็อกที่ขายไม่ออก
แต่เป็นสินค้าที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกผลิตออกมา ให้มีราคาที่ถูกลง สำหรับการวางขายในร้าน Outlet โดยเฉพาะ
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า และเครื่องประดับ ที่วางขายอยู่ใน Outlet อาจมีการเลือกใช้เนื้อผ้าที่ด้อยกว่า มีการออกแบบที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่สุดท้ายก็สามารถสวมใส่ได้เหมือน ๆ กัน
ซึ่งลูกค้าหลายคน ก็ยอมรับได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ มีราคาที่ถูกกว่าอย่างชัดเจน และหากไม่ได้นำสินค้าไปเปรียบเทียบกันโดยตรง ก็ยากที่จะรู้สึกถึงความแตกต่าง
นอกจากนี้ สินค้าอีกหนึ่งชนิดที่ยังคงวางขายอยู่ใน Outlet ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือสินค้าค้างสต็อกที่ขายไม่ออก
สินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ ซึ่งมีอายุในการทำตลาดค่อนข้างสั้น
หากไม่รีบขายออกไปให้หมด ก็จะเข้าสู่ภาวะ “ตกรุ่น” และกลายเป็นของที่ตกเทรนด์ไปในที่สุด
การนำสินค้าแฟชั่นที่ตกรุ่นเหล่านี้มาวางขายใน Outlet ในราคาที่ถูกกว่าปกติ จะเป็นการเคลียร์สินค้าออกไปจากสต็อก
ซึ่งเป็นผลดีกับแบรนด์มากกว่า แทนที่จะนำสินค้าไปทำลาย หรือเก็บไว้เฉย ๆ ให้ทุนจม
ซึ่งจะเห็นได้ว่าความจริงแล้ว สินค้าที่วางขายอยู่ใน Outlet ก็คือสินค้าที่เป็น “ของแท้” ไม่ได้ต่างอะไรจากการซื้อสินค้าจากช่องทางอื่น ๆ เลย
เพราะสินค้าที่วางขายอยู่ใน Outlet ก็เป็นของที่ออกจากโรงงานของแบรนด์ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
แบรนด์ที่มีการเปิดร้าน Outlet ในประเทศไทย มีอยู่หลากหลายแบรนด์ ตัวอย่างเช่น
Adidas, Nike, Vans, Under Armour
หรือจะเป็นแบรนด์หรูอย่าง Balenciaga และ Burberry ก็มีการเปิดร้าน Outlet เป็นของตัวเองเช่นกัน..
ในกรณีของแบรนด์หรู การนำสินค้ามาวางขายในร้าน Outlet ในราคาที่ถูกกว่า
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน สินค้าค้างสต็อก หรือสินค้าที่ผลิตมาเพื่อขายใน Outlet โดยเฉพาะ
มีข้อดีคือ สามารถช่วยให้แบรนด์หรู ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนที่มีอายุน้อย ให้สามารถเข้าถึงสินค้าของแบรนด์หรูได้ ในราคาที่ย่อมเยาลง
และที่สำคัญคือ คนกลุ่มนี้ในอนาคตจะมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของแบรนด์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า Outlet จะมีสินค้าราคาถูก จากทุกแบรนด์มาวางขายเสมอไป
เพราะแบรนด์หรูหลายแบรนด์ ไม่มีนโยบายนำสินค้ามาขายในร้าน Outlet โดยเด็ดขาด
โดยเฉพาะแบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton, Hermès และ Chanel ที่เราจะไม่เคยเห็นสินค้าของแบรนด์เหล่านี้ในร้าน Outlet อย่างแน่นอน
เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์หรู ที่จะไม่ประนีประนอมเรื่องราคากับลูกค้า
อย่างในกรณีของ Louis Vuitton ถึงกับมีการอธิบายผ่านหน้าเว็บไซต์ของตัวเองอย่างชัดเจนเลยว่า จะไม่มีการนำสินค้าไปวางขายที่ Outlet รวมถึงจะไม่มีหน้าร้าน Outlet ของ Louis Vuitton อย่างแน่นอน
หากเราเจอสินค้าของ Louis Vuitton ในร้าน Outlet นั่นหมายความว่า เรากำลังเจอกับ Louis Vuitton ปลอมเข้าให้แล้ว
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าสินค้าต่าง ๆ ที่อยู่ในร้าน Outlet ก็คือสินค้าที่เป็น “ของแท้” ไม่ได้ต่างอะไรจากสินค้าที่เราซื้อกันในห้างสรรพสินค้า หรือหน้าร้านของแบรนด์เอง
เพียงแต่สินค้าที่วางขายอยู่ใน Outlet อาจมีที่มาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละแบรนด์ ว่าจะจัดการกับสินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาแล้วอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แต่อย่าลืมว่า การซื้อสินค้าจาก Outlet ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม นั่นคือความน่าเชื่อถือของ Outlet แต่ละแห่ง
ถึงแม้ว่าหลายแบรนด์จะมีการนำสินค้าของตัวเอง มาวางขายใน Outlet จริง แต่เราในฐานะคนซื้อก็ควรเลือกซื้อสินค้าจาก Outlet ที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่รู้จัก
เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจาก Outlet ที่ซื้อมา จะเป็นของแท้ อย่างแน่นอน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.