คุยกับผู้บริหาร Mazda กับคอนเซปต์ “Love of Cars”

คุยกับผู้บริหาร Mazda กับคอนเซปต์ “Love of Cars”

23 เม.ย. 2024
เชื่อไหมว่า “Key Message” ที่ดีจะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ของเราได้ง่าย
ต่อให้ลูกค้าจะไม่เห็นสินค้าของเราเลยก็ตาม.. ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าได้ยินคำว่า “Just Do It” ต่อให้ไม่เห็นสินค้า
เราก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือโฆษณาของรองเท้า Nike 
ถ้าได้ยินคำว่า “บิด ชิมครีม จุ่มนม” ต่อให้ไม่เห็นว่า
บิดอะไร หลายคนก็น่าจะรู้ได้ทันทีว่านี่คือ OREO
นอกจากนี้ในโลกธุรกิจยังมีอีกหลายคำเลย
ที่จะทำให้เราจำแบรนด์ได้ โดยที่ไม่เห็นสินค้า 
หนึ่งในนั้นก็คือ “Feel the Drive” Key Message 
ขึ้นหิ้งของ Mazda ที่ใช้สื่อถึงความรู้สึก ความสนุกสนานเวลาขับรถ 
จน Mazda กลายเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์สปอร์ต, โฉบเฉี่ยว และกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์แรก ๆ ที่วัยรุ่น 
หรือคนเพิ่งเริ่มทำงานคิดถึงเวลาอยากจะซื้อรถสักคัน มาโดยตลอด
อย่างไรก็ดีในงาน Motor Show 2024 ที่เพิ่งผ่านมานี้ 
ทาง Mazda ได้มีการจัดบูทด้วยคอนเซปต์ที่ค่อนข้างแปลกตาไปจาก Mazda ที่พวกเรารู้จักไปพอสมควร 
เพราะแทนที่ Mazda จะสื่อสารโดยเน้นไปที่ความสนุกเร้าใจ
ขณะขับรถให้สมกับ Key Message ที่ว่า Feel the Drive เหมือนที่ผ่าน ๆ มา 
แต่ปีนี้ Mazda กลับจัดบูทด้วยคอนเซปต์ชื่อว่า “Love of Cars” 
ที่จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “รถ” ที่เติบโตผ่าน
เรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างทางไปจนถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้พร้อม ๆ กัน มากกว่า
แล้วทำไมปีนี้ Mazda ถึงเลือกคอนเซปต์แบบนี้ ?
MarketThink ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษคุณธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ 
รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ถึงเบื้องหลังของการเลือกคอนเซปต์ “Love of Cars” 
ว่าจะส่งผลอย่างไรกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ Mazda หลังจากนี้
ก่อนจะเข้าเรื่องแบรนด์ เราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
ต้นกำเนิดของรถยนต์ Mazda กันก่อน 
Mazda เกิดและเติบโตมาจากเมืองฮิโรชิมา โด่งดังมาจากรถสามล้อชื่อว่า
“GREEN PANEL” ที่โดดเด่นมาก ๆ ในเรื่องของการควบคุมรถ 
ซึ่งเป็นเหมือนสารตั้งต้นที่ทำให้รถยนต์ของ Mazda ทุกรุ่นจะถูกปรับจูนมา
เพื่อให้ความสนุกเร้าใจเวลาขับขี่เสมอ
โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์ Mazda ก็คือในปี 1945 ที่เมืองฮิโรชิมา โดนทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ 
จนตัวเมืองได้รับความเสียหายอย่างมาก 
ตอนนั้น Mazda ได้ใช้โรงงานของตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นโรงพยาบาลรักษาคนที่ได้รับบาดเจ็บ
เป็นโรงงานที่คอยผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ จากซากปรักหักพัง 
และด้วยสปิริต “Can-do” ที่เชื่อว่าไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ของชาวฮิโรชิมา
ก็ทำให้ชาวเมืองสามารถผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาได้ในระยะเวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น
เรื่องราวในครั้งนั้นทำให้ Mazda มีแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ 
ที่เน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง “Human Centric” มาโดยตลอด 
แม้กระทั่งตอนนี้ ในส่วนของภายในของรถยนต์ Mazda ทุกรุ่น จะมีการออกแบบให้พวงมาลัย, ที่นั่ง รวมไปถึงฟังชันต่าง ๆ สอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัสทั้งห้าของสรีระร่างกายของมนุษย์
และในส่วนของภายนอกก็จะมีการออกแบบ ให้มีดิไซน์ประณีตแบบ Timeless คือ
ไม่ตกยุค และใช้งานได้ยาว ๆ 
เห็นได้จาก เส้นสายและรูปทรงของรถยนต์ Mazda ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบของความเร็วและความแข็งแกร่ง แต่ก็ยังแฝงไปด้วยความหรูหราได้ในเวลาเดียวกัน  
ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุค ก็ยังสะกดสายตาของผู้คนบนท้องถนนได้อยู่หมัด 
โดย Mazda เรียกดิไซน์แบบนี้ว่า KODO DESIGN..
ทีนี้ เมื่อนำเรื่องราวและภูมิหลังที่ว่ามารวมกับเทคโนโลยี
ขับเคลื่อนที่ขับสนุกและเร้าใจชื่อว่า SKYACTIV Technology เฉพาะของ Mazda
ก็ยิ่งเสริมให้รถยนต์ของ Mazda สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในแง่ของ
Functional คือขับสนุก ช่วงล่างแน่น
และทำได้ดีมาก ๆ ในแง่ของการตอบโจทย์เรื่อง Emotional
คือขับแล้วได้ภาพลักษณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร  
ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแบรนด์รถยนต์ไหนสามารถเลียนแบบจุดยืนตรงนี้ของ Mazda ได้เลย..
คุณธีร์เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมา Mazda พยายามใช้จุดยืนดังกล่าวในการสื่อสารแบรนด์มาโดยตลอด 
เห็นได้จาก Key Message และแคมเปญต่าง ๆ ของ Mazda ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ 
เริ่มตั้งแต่ “Zoom Zoom” (ซูม-ซูม) แคมเปญสร้างชื่อของ Mazda 
ที่เป็นการนำ คำที่เด็ก ๆ ใช้เล่นของเล่นรถ (ถ้าเป็นในไทยจะใช้คำว่า “บรืน บรืน”) 
มาช่วยถ่ายทอดถึงประสบการณ์ที่จะได้รับเวลาขับรถยนต์ Mazda 
ว่าสนุกและเร้าใจเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก 
โดยเฉพาะในยุคที่ Mazda เพิ่งนำ Mazda3 เข้ามาจำหน่ายในไทยแรก ๆ 
และทำให้แบรนด์เริ่มมีที่ยืนในใจลูกค้า ว่าเป็นแบรนด์ที่
ตอบโจทย์เรื่องของการขับขี่มาตั้งแต่ตอนนั้น  
ต่อมาคือ “Feel the Drive” แคมเปญที่สื่อสารว่ารถยนต์
ไม่ใช่แค่ยานพาหนะ 
แต่เปรียบเสมือน สิ่งที่ขับเคลื่อนผู้คนไปสู่ความสำเร็จ 
และทุก ๆ เป้าหมายของชีวิต 
ซึ่งแคมเปญนี้จัดเป็นอีกหนึ่งแคมเปญในตำนานที่ Mazda 
เลือกที่จะไม่ใส่รถยนต์เข้าไปในโฆษณาเลย 
แต่จะใช้เพียงแค่คนขับที่กำลังมีความรู้สึกต่าง ๆ หลังพวงมาลัย 
มาช่วยสื่อสารถึงความรู้สึกที่มีต่อรถยนต์ได้เป็นอย่างดี
มาถึงเหตุผลที่ Mazda เลือกใช้คอนเซปต์
“Love of Cars” ในบูทของ Motor Show ปีนี้ โดยมีลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งในทุกประสบการณ์ของการเดินทาง เป็นศูนย์รวมความสุขของผู้ที่รักในรถยนต์
คุณธีร์เล่าให้ฟังว่า ทั้ง Mazda กับกลุ่มลูกค้าที่รู้จัก Mazda 
มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ตอนนี้ เริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นแล้ว
พูดง่าย ๆ คือวัยรุ่นที่รู้จัก Mazda ในอดีต.. ในวันนี้คนเหล่านั้น
เริ่มโตขึ้นและมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย
ในฝั่งของ Mazda เอง ถ้านับตั้งแต่วันที่เข้ามาทำตลาดในไทย 
ก็มี Segment เพิ่มขึ้นเยอะ
จนตอนนี้ครอบคลุมแทบจะทุกความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มแล้ว 
ยกตัวอย่างเช่น 
- Mazda2 และ Mazda3 เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ที่ชอบความโฉบเฉี่ยว
- Mazda CX-3 และ Mazda CX-5 เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ที่เริ่มมีครอบครัว
- มาสด้า CX-30 Crossover SUV พร้อมเติมเต็มความหมายให้กับทุกด้านของชีวิตอย่างมีสไตล์
- มาสด้า CX-8 ครอสโอเวอร์อเนกประสงค์ระดับพรีเมียม ที่สะท้อนภาพลักษณ์แห่งความภูมิฐาน และความสมบูรณ์แบบ ให้ทุกช่วงเวลามีคุณค่าร่วมกัน
- Mazda BT-50 ตอบโจทย์ คนที่อยากขับกระบะ แต่อยากได้ภาพลักษณ์แบบรถเอสยูวี
ดังนั้นการมาพร้อมกับคอนเซปต์ Love of Cars 
ที่สื่อถึงความผูกพันระหว่างรถยนต์กับคนขับที่เติบโตมาพร้อม ๆ กัน 
จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับ Mazda ที่ในตอนนี้ เป็นมากกว่ารถยนต์ 
ที่ให้ความสนุกเร้าใจ เวลาขับขี่
แต่เป็นแบรนด์ที่พร้อมจะสร้างความสุข และความรู้สึกดี ๆ คอยเติมเต็มชีวิตที่ดี ของลูกค้าในทุก ๆ ด้าน มากกว่า
ด้วยแนวทางแบบนี้ คุณธีร์บอกว่า มันคือการทำ Fanbase Marketing 
คือช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเดิมของ Mazda ที่มีอยู่กว่า 700,000 คัน ในประเทศไทย 
เป็นตัวช่วยในการบอกต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวลูกค้ากับรถยนต์ของ 
Mazda ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย 
ซึ่งคุณธีร์บอกเองว่าถ้าทำแบรนด์แล้ว ลูกค้าถึงขั้นไปบอกต่อได้
นี่แหละคือประสบความสำเร็จแล้ว..
โดยทั้งหมดที่ว่ามา ทาง Mazda ก็ได้สอดแทรกคอนเซปต์ Love of Cars 
ผ่านการจัดบูท ที่งาน Motor Show 2024 ที่ผ่านมาได้อย่างสร้างสรรค์ไม่น้อย 
ยกตัวอย่างเช่น การจัดแสดง “New Mazda MX-5” หนึ่งในโมเดลระดับตำนานของ Mazda 
ที่มาพร้อมกับ โซนจัดแสดงโมเดลรถของเล่น The Memorable Love of Cars 
โดยนำรถของเล่นที่ได้รับบริจาคมาจากโครงการ มาสด้า ปันสุข มาสร้างเป็นกำแพงของเล่นขนาดยักษ์
ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความผูกพันระหว่าง “คน” กับ “รถยนต์” ได้เป็นอย่างดี 
หรือจะเป็นการนำ Mazda MX-30 รุ่นพิเศษที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า e-SKYACTIV R-EV
แต่มีการใช้เครื่องยนต์โรตารีที่เป็นเหมือนลายเซ็นของ Mazda มาใช้ปั่นกระแสไฟในการขับเคลื่อน 
เป็นการสื่อถึงการเติบโตของแบรนด์ Mazda กับลูกค้าที่เติบโตข้ามผ่านกาลเวลามาได้เป็นอย่างดี
ปิดท้ายด้วยคำถามที่ชวนให้ประทับใจว่า 
ถ้าให้คุณธีร์ลองหลับตาแล้วนึกถึงลูกค้าของ Mazda คนคนนั้นจะเป็นคนแบบไหน ?
คำตอบคือ คนคนนั้นต้องเป็นคนที่มีความเป็นตัวเองสูง และไม่ได้มองรถยนต์ว่าเป็นแค่ยานพาหนะที่ไปส่งจากจุด A ไปยังจุด B 
แต่มองว่ารถยนต์เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของตัวเอง
ที่มีความพิเศษไม่เหมือนใครออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด นั่นเอง
ที่สำคัญ มาสด้ายังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นแบรนด์หนึ่งเดียวที่สร้างความรักความผูกพันกับลูกค้า โดยมุ่งเน้นไปที่แก่นแท้ของรถยนต์ นั่นคือ “ความสุขในการขับขี่” Joy of Driving เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน สร้างสรรสังคม และโลกที่น่าอยู่และคงความสวยงามตลอดไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.