
อธิบาย จิตวิทยากับละครคุณธรรม คอนเทนต์ย่อยง่าย ถูกใจสมอง เหตุผลที่หลายคนชอบดู จนหยุดไม่ได้
17 พ.ค. 2025
-หลายคนน่าจะเคยดูละครคุณธรรมกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรายการ “ฟ้ามีตา” ในแพลตฟอร์มโทรทัศน์สมัยก่อน มาจนถึงละครคุณธรรมที่มีอยู่มากมายในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นบน TikTok
ตัวอย่างละครคุณธรรมที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันก็คือประโยคที่ว่า “ฉันเป็นประธานบริษัท” ของคุณพลอย ชิดจันทร์ ที่สอดแทรกข้อคิดและคุณธรรมในเรื่องราว
หรือจะเป็นละครคุณธรรมแบบใหม่ ที่เน้นความเฮฮา และเรื่องราวสนุกสนาน แบบช่อง “afteryumfilm” ของคุณแต๋ง-กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว
ความน่าสนใจของคอนเทนต์ประเภทนี้ก็คือ ทำให้ผู้ชมสนใจ และหยุดดูได้ง่าย จนมีครีเอเตอร์หลายคนผลิตคอนเทนต์ประเภทนี้ออกมา พร้อมกับขายสินค้าไปด้วยในตัวแบบเนียน ๆ
ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี เพราะสามารถสร้างการรับรู้ได้เป็นวงกว้าง และคนดูก็ไม่ได้รู้สึกถูกยัดเยียดขายสินค้ามากจนเกินไป ส่งผลให้หลาย ๆ แบรนด์ เริ่มหันมาใช้คอนเทนต์ประเภทนี้ในการ Tie-in สินค้ามากขึ้น
แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมหลาย ๆ คนถึงสนใจ และชอบดูละครคุณธรรม ? MarketThink จะวิเคราะห์เหตุผลในมุมมองจิตวิทยาและการทำงานของสมองมนุษย์ให้ฟังกัน
1. ละครคุณธรรมมีเนื้อหาเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน
เส้นเรื่องโดยทั่วไปของละครคุณธรรมแบบเดิม ๆ คือ มักจะมีตัวละครทำพฤติกรรมที่ไม่ดีกับคนอื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และบทสรุปสุดท้ายก็คือ คนที่ประพฤติตัวไม่ดีก็จะได้รับการลงโทษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ด้วยความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนของเนื้อเรื่อง เมื่อเทียบกับคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ นี้เอง ที่ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนดูได้เป็นจำนวนมาก ทุกเพศทุกวัย และมันยังถูกใจสมองส่วนสัญชาตญาณของมนุษย์เราอีกด้วย
อธิบายเล็กน้อย สมองส่วนสัญชาตญาณเป็นส่วนหนึ่งของสมอง ที่ทำหน้าที่ตอบสนองพฤติกรรมง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้เหตุและผลก่อนตัดสินใจ และใช้เวลาในการตอบสนองเพียง 13 มิลลิวินาที
ดังนั้น เนื้อหาละครที่เบาสมอง ดูเพลิน ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดหนัก ๆ จึงดึงดูดให้สมองส่วนสัญชาตญาณสนใจและตัดสินใจดูละครขึ้นมาได้ในทันที
2. ละครคุณธรรมมักจะมีช่วงไคลแมกซ์หรือจุดหักมุมบางอย่าง
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องของละครคุณธรรม เป็นไปตามกฎ Peak-end Rule ที่ทำให้ละครเรื่องนั้น ๆ เป็นที่จดจำ
อธิบายง่าย ๆ คือ สมองของมนุษย์มักจะจดจำและตัดสินใจว่า สิ่งนั้นดีหรือไม่ดีจากจุดแค่ 2 จุด คือ จุดพีกและจุดจบของแต่ละเหตุการณ์
และไม่ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละเหตุการณ์จะดีหรือแย่แค่ไหนก็ตาม มนุษย์ก็มักจะจดจำและตัดสินผลลัพธ์ทั้งหมดจาก 2 จุดนี้เท่านั้น
ในกรณีของละครคุณธรรม ก็มักจะมีจุดพีกและจุดจบเป็นการตอกกลับคนที่มีนิสัยแย่ ๆ จึงมักเป็นที่จดจำได้ง่าย
เช่น ละครคุณธรรมกับประโยค “ฉันเป็นประธานบริษัท” คือตัวอย่างที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน
โดยเรื่องราวย่อ ๆ ก็คือ มีพนักงานบริษัททำตัวไม่ดี ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น โดยเฉพาะกับ รปภ. แต่สุดท้าย รปภ. ก็เฉลยว่า ที่จริงตัวเองเป็นประธานบริษัท และไล่พนักงานนิสัยไม่ดีคนนั้นออกไป
จะเห็นได้ว่า จุดที่คนจดจำได้มากที่สุดมีอยู่ 2 จุด คือ จุดที่ รปภ. เฉลยว่าตัวเองเป็นประธานบริษัท และบทสรุปตอนท้ายที่พนักงานโดนไล่ออก
เมื่อการเล่าเรื่องของละครคุณธรรมเรื่องนี้ เป็นไปตามกฎ Peak-end Rule จึงทำให้คนจดจำได้ง่าย ถึงขนาดที่ประโยค “ฉันเป็นประธานบริษัท” กลายมาเป็นวลีสุดฮิตไปช่วงหนึ่งเลย
3. ละครคุณธรรมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา
สมองส่วนสัญชาตญาณวิวัฒนาการมาเพื่อตอบสนองเรื่อง “ความปลอดภัย” เป็นหลัก เพื่อให้มนุษย์ในยุคโบราณ สามารถ “เอาชีวิตรอด” จากสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายได้
และสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ก็ทำให้มนุษย์ทุกคนแสดงพฤติกรรมสนใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองก่อนเสมอ
ทีนี้ถ้าพูดถึงละครคุณธรรม หลายคนก็น่าจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาบ้าง เช่น โดนคนอื่นพูดดูถูก พูดต่อว่า เหยียดหยาม
ดังนั้น เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับใครหลายคน และเป็นเรื่องที่สมองส่วนสัญชาตญาณจะสนใจและนึกออกได้ง่ายมากกว่าเรื่องราวไกลตัว เช่น ข่าวเศรษฐกิจ หรือสารคดีวิทยาศาสตร์
4. ละครคุณธรรมกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ร่วมได้ง่าย
สมองส่วนสัญชาตญาณของมนุษย์ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ได้ง่าย โดยเฉพาะอารมณ์เชิงลบจะถูกกระตุ้นได้ดีมากกว่าอารมณ์เชิงบวก
ซึ่งละครคุณธรรมหลาย ๆ เรื่อง ตัวละครหลักมักจะมีชีวิตที่ลำบากหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีในช่วงแรก ทำให้เรารู้สึกสงสารและเอาใจช่วยให้ตัวละครหลักผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านั้นไปได้
โดยในช่วงนี้จะกระตุ้นให้เรามีอารมณ์เชิงลบก่อน รวมถึงทำให้เรารู้สึกคาดหวังและผูกพันกับตัวละคร
และเมื่อเรื่องราวทุกอย่างคลี่คลาย ก็จะถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์เชิงบวกแทน และทำให้เกิดการจดจำมากขึ้น
และเมื่อเรื่องราวทุกอย่างคลี่คลาย ก็จะถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์เชิงบวกแทน และทำให้เกิดการจดจำมากขึ้น
5. ละครคุณธรรมสามารถตอบสนองความต้องการบางอย่างให้กับคนในยุคปัจจุบันได้ดี
ตัวอย่างเช่น
- ความโหยหาถึงโลกที่เป็นธรรม
ชีวิตจริงหลายคนอาจจะมีชีวิตยากลำบากหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี แต่ในชีวิตจริงก็ไม่สามารถตอบโต้กลับไปได้ทุกสถานการณ์ หรือไม่รู้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นควรจะต้องทำอย่างไร
ดังนั้น การได้รับชมละครคุณธรรมก็เปรียบเสมือนการโหยหาถึงโลกในอุดมคติของตัวเองแบบหนึ่ง
- อยากหลีกหนีจากความเครียดและโลกความเป็นจริง
บางคนก็ใช้ละครคุณธรรมเป็นสิ่งบรรเทาความเครียด เพราะด้วยเนื้อหาที่เบาสมอง ไม่จำเป็นต้องถามหาเหตุผลที่มาที่ไปใด ๆ
และละครคุณธรรมสมัยใหม่ก็มีการแทรกมุกตลกขำขันลงไป เพื่อไม่ให้ Mood & Tone ดูเครียดและจริงจังมากจนเกินไป ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ละครคุณธรรมเข้าไปอยู่ในใจของคนสมัยนี้มากขึ้นด้วยนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็คือ การวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาว่าทำไม ละครคุณธรรมถึงกลับมาได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน และดึงให้คนที่ไม่เคยรับชมมาก่อนต้องลองหามาดูตามเทรนด์ไปด้วย
และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ แบรนด์ เริ่มนำคอนเทนต์รูปแบบนี้ไปใช้ Tie-in สินค้าด้วย เพราะสามารถสร้างการรับรู้ได้เป็นวงกว้าง โดยที่ลูกค้าไม่รู้สึกรำคาญการโฆษณานั่นเอง
อ้างอิง :
- https://www.forbes.com/sites/nicolelipkin/2022/10/25/our-brains-want-to-be-lazy-
- https://medium.com/@pawarat.im/the-peak-end-rule
- https://contentmarketinginstitute.com/content-optimization/the-neuroscience-of-storytelling
- https://stepstraining.co/content-5-reasons-why-people-love-storytelling-content/
- https://stepstraining.co/content-5-reasons-why-people-love-storytelling-content/
- https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34609
- https://www.forbes.com/sites/nicolelipkin/2022/10/25/our-brains-want-to-be-lazy-
- https://medium.com/@pawarat.im/the-peak-end-rule
- https://contentmarketinginstitute.com/content-optimization/the-neuroscience-of-storytelling
- https://stepstraining.co/content-5-reasons-why-people-love-storytelling-content/
- https://stepstraining.co/content-5-reasons-why-people-love-storytelling-content/
- https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34609