อธิบาย Scent Marketing ไอเดียการตลาดผ่าน “กลิ่น” ที่ทำให้ ร้านชิโอะปัง ขายดีแบบไม่ต้องตะโกน

อธิบาย Scent Marketing ไอเดียการตลาดผ่าน “กลิ่น” ที่ทำให้ ร้านชิโอะปัง ขายดีแบบไม่ต้องตะโกน

19 พ.ค. 2025
กลิ่นหอม ๆ ของชิโอะปัง (Shio Pan) หรือขนมปังเกลือ เมนูยอดฮิตในช่วงนี้ ไม่ว่าใครที่เดินผ่านหน้าร้านเบเกอรี ก็น่าจะอยากลิ้มลองรสชาติอร่อย ๆ ด้วยตัวเอง
รู้หรือไม่ว่า “กลิ่น” ที่เตะจมูกแบบนี้ จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่กลิ่นที่ลอยไปตามสายลม แต่เป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง ที่บรรดาร้านเบเกอรีตั้งใจ
แล้วกลิ่นจะเป็นกลยุทธ์การตลาดได้อย่างไร ? MarketThink จะอธิบายให้อ่านกันในโพสต์นี้
การตลาดผ่านกลิ่น หรือ Scent Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้ประสาทสัมผัสการได้กลิ่น ในการกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำบางอย่าง ที่ช่วยทำให้ลูกค้าเกิดการเชื่อมโยง และจดจำแบรนด์ได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ กลิ่นหอม ๆ ยังช่วยกระตุ้นทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และใช้เวลาในร้านนานขึ้น กลิ่นจึงมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขาย ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
ที่น่าสนใจคือ คนเราสามารถจดจำกลิ่นได้ดีกว่าการรับรู้ทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ
รวมถึงคนเรายังสามารถจดจำกลิ่นนั้น ๆ ได้ราว 65% หลังจากระยะเวลาผ่านไปแล้ว 3 เดือนอีกด้วย
ในขณะที่คนเราจะจดจำภาพต่าง ๆ ที่มองเห็น ได้เพียง 50% เท่านั้นในระยะเวลาเท่ากัน
นั่นหมายความว่า แบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำกลิ่นไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์
หลังจากเข้าใจแล้วว่า การตลาดผ่านกลิ่นหอม คืออะไร
ทีนี้ เราลองมาดูตัวอย่างดีกว่าว่า กลิ่นแต่ละกลิ่น ช่วยกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำ อย่างไร
- กลิ่นดอกไม้ ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าอยู่ในร้านนานขึ้น
- กลิ่นหนัง ช่วยกระตุ้นความรู้สึกหรูหรา ความแพง
- กลิ่นผ้าลินิน ช่วยกระตุ้นความรู้สึกสดชื่น และความสะอาด
- กลิ่นลาเวนเดอร์ ช่วยกระตุ้นความผ่อนคลาย
- กลิ่นวานิลลา ช่วยกระตุ้นความรู้สึกอบอุ่น
- กลิ่นกาแฟ ช่วยกระตุ้นความรู้สึกกระตือรือร้น และความผ่อนคลาย
- กลิ่นในโทนเปรี้ยว เช่น ซิทรัส ให้ความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
เช่นเดียวกันกับกลิ่นหอม ๆ ของชิโอะปัง หรือขนมเบเกอรีอื่น ๆ จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหาร
รวมถึงเป็นการชักชวนให้ลูกค้าเดินเข้าร้าน เพื่อมาลิ้มลองชิโอะปังหอม ๆ ที่เพิ่งอบออกมาจากเตา โดยไม่จำเป็นต้องเรียกลูกค้าด้วยวิธีอื่น ๆ เลย เพราะกลิ่นหอม ๆ ได้ทำหน้าที่เรียกลูกค้าด้วยตัวเองไปแล้ว
โดยตัวอย่างของร้านเบเกอรี หรือร้านอาหารอื่น ๆ ที่นำกลิ่นหอม ไปใช้เป็นกลยุทธ์ในการเรียกลูกค้า ก็อย่างเช่น
- Yamazaki กับกลิ่นขนมปังอบเสร็จใหม่ ๆ ที่อบอวลอยู่ตลอดทั้งวัน
- Auntie Anne's กับกลิ่นขนมปังเพรทเซลอบร้อน ๆ
- Starbucks กับกลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟ
- Major Cineplex หรือโรงภาพยนตร์อื่น ๆ กับกลิ่นหอมของพ็อปคอร์น ที่เรียกให้คนที่มาดูภาพยนตร์ ซื้อพ็อปคอร์นติดไม้ติดมือไปด้วย
รวมถึงหน้าร้านของธุรกิจอื่น ๆ ก็มีการใช้กลิ่นหอม เป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่งเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ร้าน CC Double O
ที่มีการใช้น้ำหอมกลิ่น SUEDE FOR HIM มาฉีดเพื่อสร้างบรรยากาศภายในร้าน จนเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ใคร ๆ ก็จดจำกลิ่นของร้าน CC Double O ได้ แม้เพียงเดินผ่านจากระยะไกลก็ตาม
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ Scent Marketing หรือ การตลาดผ่านกลิ่นหอม ที่ร้านชิโอะปัง รวมถึงร้านประเภทอื่น ๆ ใช้ในการเรียกลูกค้า กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ รวมถึงทำให้เกิดการจดจำแบรนด์ผ่านกลิ่น ได้ในระยะยาว
ครั้งต่อไป เวลาเดินผ่านร้านต่าง ๆ แล้วได้กลิ่นหอม ๆ ก็ไม่แน่ว่า เราอาจกำลังถูกดึงดูดให้เดินเข้าร้าน ด้วยกลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่ง แบบที่เราอาจไม่ทันได้รู้ตัวนั่นเอง..
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.