กรณีศึกษา ห้างเปิดอาจเป็น “ฝันร้าย” ธุรกิจร้านอาหาร

กรณีศึกษา ห้างเปิดอาจเป็น “ฝันร้าย” ธุรกิจร้านอาหาร

19 พ.ค. 2020
หลายคนคงคิดว่าการเปิดศูนย์การค้า ที่เพิ่งผ่านไป
น่าจะเป็นเสมือนการชุบชีวิตธุรกิจร้านอาหารหลังจากต้องปิดบริการไปเกือบ 2 เดือนจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล
เรื่องนี้...อาจจะไม่เป็นจริงอย่างที่คิด และต่อจากนี้ไปเราคงต้องดูกันยาวๆ
เรื่องนี้อาจพลิกล็อกจากหน้ามือเป็นหลังมือก็เป็นได้
เพราะ ณ วันนี้ร้านอาหารในศูนย์การค้าต่างๆ ต้องเว้นระยะห่างที่นั่งลูกค้า เพื่อความปลอดภัย
ซึ่งหากในช่วงเวลาขายดีอย่างในวันหยุดที่บางเวลาลูกค้าแน่นร้านจนต้องต่อคิว
จากที่เคยจุลูกค้าได้ 70 - 80 ที่นั่ง ณ วันนี้ก็อาจจะเหลือเพียง 30 - 40 ที่นั่งเท่านั้น
อีกทั้งบางร้านยังมีการหยุดบริการ 1 ชั่วโมงต่อวันเพื่อทำความสะอาดป้องกันเชื้อ COVID-19
ส่วนอีกมุมหนึ่งก็ยังมีหลายคนหวาดระแวงกับการไปกินอาหารในร้านต่างๆ
ถึงแม้...ทุกแบรนด์ร้านอาหารจะออกมาประกาศว่ามีมาตรการป้องกันที่ดีเยี่ยม
แต่ก็ใช่ว่า...ทุกคนจะไว้ใจ
อุปสรรคสุดท้ายก็คือ กำลังซื้อของลูกค้านั่นเอง อย่าลืมว่าในช่วงการระบาดของ COVID-19
หลายคนถูกลดเงินเดือน และก็มีหลายคนที่ต้องโชคร้าย ตกงาน
เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา น่าจะทำให้ลูกค้าน้อยลงอย่างมากหากเทียบกับช่วงเวลาปกติ
ซึ่งก็กลายเป็นความลำบากใจของร้านอาหารในศูนย์การค้า
โดยเฉพาะร้านอาหารที่เน้นให้ลูกค้านั่งทานในร้าน และทานร่วมกันอย่าง สุกี้ชาบู, ปิ้งย่าง, ร้านขนมหวาน และอื่นๆ
และเมื่อมองแล้วว่าลูกค้าต่อสาขาน่าจะลดน้อยลงไปมาก ก็เลยทำให้หลายร้านอาหารเลือกจะลดจำนวนพนักงานลง
บางศูนย์การค้าเริ่มประกาศว่ามีนโยบายลดค่าเช่าพื้นที่นาน 2 - 3 เดือน
ทั้งหมดก็เพื่อช่วยลดต้นทุนร้านอาหาร ต่อลมหายใจในช่วงเริ่มต้นกลับสู่ทำเลศูนย์การค้าอีกครั้ง
ขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ร้านอาหารรายเล็กๆ ในศูนย์การค้า
ที่ไม่ได้ทำสัญญาระยะยาวกับซัพพลายเออร์เหมือนร้านอาหารรายใหญ่ๆ
และยังต้องซื้อวัตถุดิบเป็นรายครั้ง ก็จะมีต้นทุนตรงนี้สูงขึ้นทันที
เพราะเมื่อลูกค้าเข้าร้านน้อยลง การสั่งซื้อวัตถุดิบก็จะน้อยลงตามไปด้วย
ซึ่งทำให้ ราคาขายต่อกิโลกรัมของซัพพลายเออร์ก็จะแพงขึ้น หากเทียบกับการซื้อในจำนวนเยอะๆ เหมือนในอดีต
ผลที่ตามมาก็คือวัตถุดิบต่อจานที่เสิร์ฟลูกค้า แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถขยับราคาขายให้แพงขึ้นตามไปด้วย
และหากสถานการณ์นี้ยังคงกินระยะเวลายาวต่อไปเรื่อยๆ
อาจทำให้บางร้านอาหารต้องมานั่งประเมินสถานการณ์ว่า “ได้คุ้มเสียหรือไม่”
อย่าลืมว่าเมื่อเปิดสาขา ต้นทุนบางอย่างที่เคยนิ่ง ก็จะกลับมามีค่าใช้จ่ายในทันที
และหากรายได้ไม่สามารถหล่อเลี้ยงต้นทุนที่เกิดขึ้นได้ในการเปิดสาขาต่างๆ ในศูนย์การค้า
ลองคิดดูหากเราเป็นเจ้าของร้านอาหาร ก็อาจต้องปิดสาขานั้นไว้ชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป
ส่วนบางร้านที่อาจได้ผลกระทบในเรื่องนี้น้อยกว่าร้านอาหารประเภทอื่นๆ
ก็น่าจะเป็นร้านอาหารที่แข็งแกร่งในธุรกิจ Delivery อย่างพิซซ่า และไก่ทอด
ซึ่งการเปิดสาขาในช่วงนี้ อาจจะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการบริการลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ
ส่วนลูกค้าที่นั่งทานในร้านอาจเป็นเรื่องรองลงมา
สุดท้ายแล้ว หากร้านอาหารไม่สามารถยืนหยัดได้ในช่วงเริ่มต้นเปิดศูนย์การค้า
เรื่องนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามๆ กัน
เจ้าของศูนย์การค้าก็อาจจะมีรายได้น้อยลง หากร้านอาหารเลือกจะปิดสาขาเหมือนเดิม
ส่วนซัพพลายเออร์ที่ขายวัตถุดิบต่างๆ ก็จะมีรายได้ที่ลดน้อยลงตามไปด้วย
คำถามก็คือ จะดีกว่านี้ไหม หากศูนย์การค้าจะเพิ่มความช่วยเหลือ ลดค่าเช่าพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่
หรือแม้แต่ช่วยโปรโมตร้านอาหารต่างๆ ในศูนย์การค้าตัวเอง
ขณะที่ ซัพพลายเออร์ อาจต้องยอมกำไรน้อยลง และขายวัตถุดิบในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
เพราะสุดท้ายแล้ว ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ซัพพลายเออร์ ก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
หากขาดใครไปคนหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่ออีกคนไม่มากก็น้อย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.