สุกี้ แบรนด์รอง อยู่ได้ด้วยความ “ต่าง”

สุกี้ แบรนด์รอง อยู่ได้ด้วยความ “ต่าง”

28 ก.ค. 2019
สุกี้ MK มีรายได้ 13,125 ล้านบาท คิดเป็น 76% ของรายได้ธุรกิจอาหารของบริษัท
เป็นรายได้ในการขายสุกี้ที่มหาศาลผ่าน 452 สาขา ภายใต้แบรนด์ MK, MK Gold และ MK Live
รายได้ทะลุหมื่นล้านบาท จำนวนสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ นับเป็นร้านสุกี้ตัวเลือกอันดับแรกๆ ของผู้บริโภค
หลายคนอาจคิดว่าสุกี้แบรนด์อื่นๆ อาจเป็นได้แค่ตัวประกอบในตลาดร้านอาหารสุกี้เมืองไทยมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท
แต่คำว่า “ตัวประกอบ” ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจจะล้มเหลว เพราะ ณ วันนี้ สุกี้แบรนด์รองหลายรายเลยทีเดียว ต่างยังมีสุขภาพทางธุรกิจที่ดี
โคคา สุกี้ ที่อยู่ในเมืองไทยนาน 62 ปี มีสาขาในเครือ 67 สาขาทั้งในและต่างประเทศ ผ่าน 4 แบรนด์ โดยมีรายได้ในปี 2561 อยู่ที่ 441 ล้านบาท
นีโอ สุกี้ อยู่มานาน 20 ปี มีทั้งหมด 3 แบรนด์ รวม 23 สาขา ซึ่งร้าน นีโอ สุกี้ มีสาขามากที่สุด 21 สาขา และมีรายได้รวมทุกแบรนด์ในเครือ ปี 2561 อยู่ที่ 223 ล้านบาท
เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ อายุ 60 ปี มี 13 สาขา และรายได้ในปี 2561 อยู่ที่ 117 ล้านบาท
สิ่งที่ทำให้ร้านสุกี้เหล่านี้เป็นตำนานที่มีลมหายใจก็คือการปรับตัว และความ “ต่าง”
หากเบื่อรสชาติสุุกี้แบบ Mass ก็ต้องไปลองชิมสูตร สุกี้โบราณ ของ เอี่ยวไถ่ ที่น่าสนใจแม้จะมีเมนูหลักคือ สุกี้ แต่ เอี่ยวไถ่ ก็ยังเสิร์ฟความอร่อยด้วยสารพัดเมนูอาหารจีน
ส่วน โคคา สุกี้ เลือกจะเน้นขาย สุกี้ สไตล์จีนกวางตุ้งที่ราคาจะแพงกว่าคู่แข่ง และเรียกตัวเองว่าเป็น ภัตตาคาร พร้อมกับมีเมนูแปลกๆ ที่ร้านสุกี้รายอื่นไม่มี เช่น นกพิราบฮ่องกง, ไก่แช่เหล้า, ส้มตำหอยเป๋าฮื้อ
นีโอ สุกี้ เป็นแบรนด์สุกี้ที่เมนูอาหารต่างๆ ใกล้เคียงกับสุกี้ MK แต่เลือกใช้สร้างความ “ต่าง” ด้วยราคาขายที่ถูกกว่า
ที่น่าสนใจ 3 ตำนานร้านสุกี้ ที่เราเอ่ยถึง ปัจจุบันกลายเป็นมรดกทางธุรกิจสืบทอดมาสู่รุ่นลูกจนถึงรุ่นหลานอย่างร้าน เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ ที่มีอายุ 60 ปี ปัจจุบันบริหารงานด้วย GEN 3
นอกจากรุ่นลูกรุ่นหลานที่ไม่ละทิ้งธุรกิจที่พ่อแม่สร้างมากับมือแล้วนั้น มาวันนี้ พวกเขายังนำแนวคิดทันสมัยมาใช้ในการบริหาร ทั้งการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ จนถึงการทำตลาดที่เข้ากับยุคสมัย
เพื่อให้ได้ลูกค้าคนรุ่นใหม่มาอยู่ในมือมากขึ้นกว่าในยุคที่พ่อแม่เป็นเจ้าของธุรกิจ
เพราะผู้บริหาร GEN ใหม่เหล่านี้ รู้ดีว่าในอดีตฐานลูกค้าหลักตัวเองคือ กลุ่มคนมีอายุ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องเกษียณ อยู่บ้าน ทำให้อัตราความถี่ในการทานอาหารนอกบ้านน้อยลง
หากไม่หาฐานลูกค้าใหม่มารองรับย่อมอาจส่งผลต่อรายได้ในอนาคต
และเรื่องสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ในยุคที่ร้านอาหารเปิดขึ้นใหม่มากมาย สุกี้ แบรนด์รองเหล่านี้ ไม่ได้แข่งขันเฉพาะร้านสุกี้ ด้วยกันเอง แต่ยังต้องแข่งกับร้านอาหารประเภทอื่นๆ
ลองคิดดู ณ วันนี้หากเราไปเดินศูนย์การค้าต่างๆ รายล้อมด้วยสารพัดร้านอาหารมากมายจนเลือกไม่ถูกเลยทีเดียวว่าจะทานร้านไหนดี
นั่นแปลว่าใน 1 มื้อของเรามีตัวเลือกที่มากขึ้นกว่าในอดีต
ทำให้การเปลี่ยนแปลงของร้าน สุกี้ แบรนด์รอง ในยุคนี้ เหตุผลไม่ได้แข่งแค่ MK หรือร้านสุกี้ด้วยกัน แต่ต้องแข่งกับร้านอาหารทุกร้านในสมรภูมิศูนย์การค้า
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
References : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า - รายงานประจำปี 2561 และแบบแสดงข้อมูล MK - เว็บไซต์ของแต่ละร้านสุกี้ - mgronline
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.