กรณีศึกษา แกรมมี่ จากขาดทุน เป็นกำไร

กรณีศึกษา แกรมมี่ จากขาดทุน เป็นกำไร

21 ส.ค. 2019
รู้ไหมว่า นับตั้งแต่ปี 2555 จนมาถึงปี 2560 แกรมมี่ ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด
โดยปีที่ขาดทุนมากที่สุดคือปี 2557 มีรายได้ 10,268 ล้านบาท ขาดทุนถึง 2,314 ล้านบาท
แต่ในปี 2561 ที่ผ่านมา แกรมมี่ กลับมามีกำไรอีกครั้ง โดยมีกำไรอยู่ที่ 15.4 ล้านบาท
ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่เพิ่งผ่านมา แกรมมี่ มีกำไรถึง 126 ล้านบาท
จากบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลานาน 6 ปี แต่วันนี้กลับมามีกำไรอีกครั้ง
แล้ว “จุดเปลี่ยน” ครั้งนี้ของ แกรมมี่ มาจากอะไร ?
หากยังจำกันได้
ช่วงปี 2558 แกรมมี่ เลือกจะขายธุรกิจที่ตัวเองมองว่าไม่มีอนาคต
ทั้งขายหุ้น ซีเอ็ดบุ๊ค, ขายธุรกิจสิ่งพิมพ์
จนมาถึงการขายหุ้น ทีวีดิจิทัลที่มีช่อง GMM 25 และ ช่อง ONE ที่ในแต่ละปีขาดทุนรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านบาท
ปี 2559 ช่อง ONE ได้ขายหุ้นให้แก่กลุ่มปราสาททองโอสถ 1,900 ล้านบาท 
ปี 2560 ช่อง GMM 25 ขายหุ้น 50% มูลค่า 1,000 ล้านบาทให้แก่บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเสี่ยเจริญ
จากการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้สถานะของ แกรมมี่ ณ วันนี้ จึงไม่ใช่เจ้าของสถานีโทรทัศน์อย่างเต็มตัวเหมือนอย่างในอดีต สถานีโทรทัศน์กลายเป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจ “ร่วมทุน” เท่านั้น
จะเห็นว่า วิธีคิดแก้เกมธุรกิจของ แกรมมี่ เพื่อให้ตัวเองกลับมามีกำไร 
ก็คือการลดต้นทุน ด้วยการขายกิจการที่มองว่าไม่ได้ทำกำไรให้ตัวเองเหมือนอย่างในอดีต
ส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัล ก็เลือกที่จะขายหุ้นให้บริษัทอื่นๆ เพื่อมาแบ่งเบาภาระ ไม่ให้ตัวเองต้องแบกรับต้นทุนอยู่คนเดียว เหมือนในอดีต
จึงเป็นที่มาของความมั่นใจในช่วงต้นปี 2561 ให้ แกรมมี่ กล้าประกาศว่า สถานะทางการเงินของบริษัทตัวเอง ณ เวลานี้ มีความแข็งแกร่ง
ทีนี้ เรามาดูกันว่าหลังจาก แกรมมี่ มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ใหม่หมด
มีวิธีการทำธุรกิจอย่างไร ให้ในครึ่งปีแรกมีกำไรถึง 126 ล้านบาท
ธุรกิจเพลง : ซึ่ง ณ วันนี้ได้กลับมาเป็นธุรกิจหลักของ แกรมมี่ อีกครั้ง 
โดยมีรายได้ 6 เดือนแรกปี 2562 อยู่ที่ 1,867 ล้านบาท 
ขณะที่รายได้ 6 เดือนแรกปี 2561 อยู่ที่ 1,671 ล้านบาท 
เติบโต 11.7%
อันดับแรกสุดคือการรุกตลาด ดิจิทัลมิวสิค มากขึ้นกว่าเดิม และหากสังเกตช่วงที่ผ่านมา
แกรมมี่ มีการจัดคอนเสิร์ตให้แก่ศิลปินดังๆ ในค่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
ขณะที่ ธุรกิจ ทีวีดิจิทัล ซึ่งเวลานี้ แกรมมี่ ไม่ใช่เจ้าของเหมือนอย่างในอดีต 
จากแต่เดิมต้องรับการขาดทุนมาตลอด แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็น “ธุรกิจร่วมทุน”
แกรมมี่ มีการขาดทุนน้อยลง จนมาถึงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีกำไรจากธุรกิจนี้ 15.3 ล้านบาท
เหตุผลมาจาก มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลของภาครัฐ
รวมไปถึงเรตติ้งละครทั้ง 2 ช่องที่เพิ่มมากขึ้น 
ทำให้มีรายได้จากการขายโฆษณามากกว่าเดิม
ถึงแม้ค่าใช้จ่ายภาพรวมในการทำธุรกิจของ แกรมมี่ ครึ่งปี 2562 จะอยู่ที่ 1,085 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับครึ่งปีที่แล้วอยู่ 2%
แต่...เมื่อรายได้ธุรกิจหลักทั้งธุรกิจเพลง และ ทีวี เติบโตมากกว่าค่าใช้จ่าย
ทำให้ แกรมมี่ จึงมีกำไรในครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นอย่างที่หลายคนอาจไม่คาดคิดมาก่อน
กรณีศึกษาของ แกรมมี่ จึงอาจเปลี่ยนความเชื่อในการทำธุรกิจของใครหลายคน
ที่ว่าการทำธุรกิจ จะต้องยืนด้วยขาตัวเอง ถึงจะดีที่สุด
แต่เมื่อวันหนึ่ง เราเดินเกมธุรกิจผิดพลาด จนพบแต่คำว่า ขาดทุน ทุกๆ ปี 
หากยังคิดจะเดินอยู่คนเดียวก็จะพบกับคำตอบเดิมๆ
แต่หากเราเปลี่ยนวิธีคิด ว่าจริงๆ แล้วธุรกิจเรา “ไม่จำเป็นต้องเดินคนเดียว”
ก็อาจจะพบคำตอบใหม่ก็คือ “กำไร” เหมือนอย่าง แกรมมี่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ที่มา : รายงานประจำปี 2561และ คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), www.finnomena.com, กรุงเทพธุรกิจ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.