เจ้าของน้ำปลา “หอยเป๋าฮื้อ” และ “คนแบกกุ้ง” มีรายได้แค่ไหน

เจ้าของน้ำปลา “หอยเป๋าฮื้อ” และ “คนแบกกุ้ง” มีรายได้แค่ไหน

1 ก.ย. 2020
ในภาพรวม ตลาดน้ำปลาของเมืองไทย มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
โดยตลาดนี้ มีน้ำปลาหลากหลายแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้เลือกหยิบซื้อกัน
ซึ่งแบรนด์น้ำปลาที่คนรู้จักกัน และขายได้มากที่สุดในไทย คือ ทิพรส
บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาตราทิพรส มีรายได้ถึง 2,977 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562
แต่หากจัดอันดับน้ำปลาที่มีรสชาติดี และหลายคนจัดให้เป็นที่หนึ่งในใจ
“หอยเป๋าฮื้อ” ต้องเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่โผล่ขึ้นมา
ไม่ว่าจะทานควบคู่กับข้าวสวยร้อนๆ, ขนมจีน, เหยาะใส่ไข่เจียว หรือใช้ปรุงอาหารนานาชนิด
ก็ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ต่างติดอกติดใจในความหอม และรสชาติกลมกล่อมของ หอยเป๋าฮื้อ..
หอยเป๋าฮื้อ เป็นแบรนด์น้ำปลาซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดระยอง
ด้วยความเป็นหนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด และค่อนข้างหาซื้อยาก
บางครั้งคนที่เป็นแฟนหอยเป๋าฮื้อ เวลาไประยอง แวะกลับบ้านที่ระยอง หรือเจอร้านค้าที่มีหอยเป๋าฮื้อวางขายอยู่ ก็จะหยิบเหมาไปหลายๆ ขวด เพื่อนำไปฝากคนในครอบครัว หรือเพื่อนๆ
ทั้งนี้ แบรนด์หอยเป๋าฮื้อ มีเจ้าของคือ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด
โดยผลประกอบการย้อนหลังของบริษัทฯ
ปี 2560 มีรายได้ 552 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 586 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 613 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท
ซึ่งนอกจากหอยเป๋าฮื้อแล้ว บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของแบรด์
น้ำปลาตรา คนแบกกุ้ง, เสม็ด พลัส, ปลาทิพ, ปลาแท้ฉลากทอง อีกด้วย
บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 หรือ 66 ปีมาแล้ว
โดยสองพ่อลูก คุณบักเอี่ยม แซ่โซว และบุ้งชอ แซ่โซว
ชาวจีนโพ้นทะเล ที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดระยอง
ซึ่งตอนเข้ามาเมืองไทยแรกๆ พวกเขาก็ทำหลายกิจการ เช่น ทำกระเบื้อง, ทำกระบอกน้ำ
ก่อนจะมาจบที่กิจการน้ำปลา เพราะเห็นโอกาสมากมายในธุรกิจ เนื่องจากตอนนั้นไม่ค่อยมีคนผลิตน้ำปลากัน
จึงได้ก่อตั้งโรงงานน้ำปลาเล็กๆ ขึ้นในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำปลาชั้นดีของประเทศ
เพราะชายฝั่งทะเลเป็นแหล่งอาศัยของปลากะตัก และมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้ปลากะตักในแถบนี้ไม่มีกลิ่นดิน
ช่วงแรกเริ่มจากการหมักปลากันเองเพียงไม่กี่บ่อ ไม่กี่ถัง
และซื้อขายกันเองในหมู่คนรู้จัก และแถวละแวกโรงงาน
ก่อนจะค่อยๆ ขยายกิจการ และฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเป็นระดับ
โดยเน้นใช้เงินทุนของตัวเองในการขยายกิจการ
และกิจการไม่มีแบรนด์น้ำปลาเป็นของตัวเอง
แต่มีโมเดลธุรกิจคือ รับจ้างผลิตน้ำปลาให้กับแบรนด์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นของทุกธุรกิจมักมีอุปสรรค และประสบความยากลำบากเสมอ
ซึ่ง อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง ก็เช่นกัน
ด้วยความที่คุณบักเอี่ยม และคุณบุ้งชอ ไม่มีความรู้เรื่องการทำน้ำปลามาก่อน
จึงต้องศึกษาเรียนรู้ใหม่ และลองผิดลองถูกอย่างหนัก
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตน้ำปลานั้นค่อนข้างใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน โดยใช้เวลาหมักนับปี
ทำให้ต้องซื้อวัตถุดิบในปีนี้ เพื่อขายน้ำปลาในปีหน้า..
ดังนั้น เรื่องเงินทุน จึงเป็นสิ่งสำคัญ และก็เป็นอีกข้อจำกัดของกิจการอย่างมาก
แต่หลังจากที่ก้าวผ่านอุปสรรคนานาได้แล้ว กิจการก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากโรงงานที่ผลิตน้ำปลาให้กับผู้ประกอบการรายเล็กๆ ก็ขยายฐานลูกค้าสู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ
รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่สมัย และระบบจัดการที่มีมาตรฐานมาใช้ในธุรกิจ
แต่กระนั้น คุณกวิน ยงสวัสดิกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทฯ และครอบครัว
ก็เริ่มมีความคิดที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเอง
เพราะมองว่า หากต้องการเติบโตต่อไปในระยะยาว การมีแบรนด์ของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น
และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปั้นแบรนด์น้ำปลา “หอยเป๋าฮื้อ”
โดยเน้นวางตำแหน่งสินค้าเป็น น้ำปลาพรีเมียม เพราะเห็นว่า ถึงตลาดนี้จะเล็กกว่าตลาดน้ำปลาทั่วๆไป แต่การแข่งขันยังไม่สูงเท่า จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ
ส่วนแบรนด์น้ำปลา “คนแบกกุ้ง” เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่บริษัทฯ รับจ้างผลิตจากคนอื่นมาก่อน
ก่อนจะเข้าซื้อแบรนด์มาบริหารเองในปี พ.ศ. 2550
ซึ่งน้ำปลาตราหอยเป๋าฮื้อ มีปริมาณปลากะตัก 76%
น้ำปลาตราคนแบกกุ้ง มีปริมาณปลากะตัก 66%
ปัจจุบัน โรงงานน้ำปลาของบริษัทฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ มีบ่อหมักน้ำปลา 14,000 บ่อ
โดยในปี พ.ศ. 2562 บริษัทฯ ผลิตน้ำปลาได้เดือนละ 1.4 ล้านลิตร
ในส่วนของยอดขาย 75% มาจากการจำหน่ายสินค้าในประเทศ
อีก 25% มาจากการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, กัมพูชา, เมียนมา
ทั้งนี้ เข็มทิศที่นำทาง หอยเป๋าฮื้อและบริษัทอุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง ไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ
คือ ความพิถีพิถัน และความสม่ำเสมอ
โดยกระบวนการผลิตน้ำปลาของบริษัทฯ จะมี “ความพิถีพิถัน” ในทุกขั้นตอน
ตั้งแต่ตอนคัดสรรปลากะตักสดๆ จากท้องทะเล พร้อมกับการตรวจสอบคุณภาพ
การนำปลาที่คัดสรรอย่างดีแล้วมาเคล้ากับเกลือ ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อคงความสดของเนื้อปลา
ก่อนนำไปหมักรส บ่มกลิ่น นานถึง 12-18 เดือน
หลังจากหมักบ่มจนได้ที่ ก็นำน้ำปลามากรองอีก 5 ขั้นตอน เพื่อให้ได้น้ำปลาที่บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน
สุดท้ายจึงได้น้ำปลาคุณภาพ ที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคในที่สุด
และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์เลยก็คือ “ความสม่ำเสมอ”
หากบริษัทฯ ไม่สามารถผลิตหรือส่งมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ดี ให้กับลูกค้าได้อย่างคงเส้นคงวา
ไม่ว่าจะในต่างพื้นที่ ต่างสาขา หรือต่างช่วงเวลา
แบรนด์ก็อาจต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือไปในสายตาของลูกค้า
ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขาย และภาพลักษณ์ของแบรนด์ในระยะยาว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.