กรณีศึกษา โมเดลร้านอาหาร Cloud Kitchen ของเครือ CRG

กรณีศึกษา โมเดลร้านอาหาร Cloud Kitchen ของเครือ CRG

11 ก.ย. 2020
App Food Delivery ที่เริ่มให้บริการอย่างแพร่หลาย
ทำให้เรากินเมนูเด็ดจากร้านอาหารตึกแถวมากมาย โดยไม่ต้องไปเอง
ซึ่งนั่นหมายถึงใน 1 มื้อของผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล
ผลที่ตามมาคือ หากใครปรับตัวไม่ทัน ย่อมสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป
และหากเราเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่
ที่มีทำเลหลักอยู่ในศูนย์การค้า จะปรับเปลี่ยนตัวอย่างไร
คำตอบที่เห็นก็คือ ทุกร้านอาหารต่างเคลื่อนไหวไปอยู่ใน App Food Delivery จนถึงขยายสาขาไปนอกศูนย์การค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทคิดและทำเหมือนกันหมด
แต่...มียักษ์ใหญ่วงการอาหารรายหนึ่งกำลังคิดต่าง
นั้นคือ Central Restaurants Group (CRG) ที่นอกจากมี 17 แบรนด์ร้านอาหาร
ที่ปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้วนั้น
เวลานี้ CRG ยังคิดค้นแบรนด์ใหม่ที่เป็นร้านอาหาร Street Food ชื่อว่า อร่อยดี
แล้วร้าน อร่อยดี ขายอาหารประเภทไหน
คุณธนพล ธรรพสิทธิ์ Head of Thai and Chinese Cuisine เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG เล่าให้ฟังว่า
ร้าน อร่อยดี เปิดบริการปี 2562 เริ่มต้นแค่ 4 สาขา
แต่ระยะเวลา 1 ปี กลับขยายสาขาเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 19 สาขา
โดยใน 1 สาขาจะมีรายได้เฉลี่ย 5 แสนบาท/เดือน
ซึ่งจะเห็นว่าแค่ 1 ปี อร่อยดี สามารถโตอย่างก้าวกระโดด
เหตุผลของการเติบโตก็คือ อร่อยดี จะมีเมนูอาหารตามสั่งที่เราคุ้นเคย
เช่น กะเพราหมูสับ, ผัดซีอิ๊ว, ข้าวผัดพริกแกง รวมถึงเมนูในวันวาน ข้าวผัดรถไฟ , มาม่าผัดไข่และอีกสารพัดเมนู
โดยจะมีแม่ครัวฝีมือดีจากร้านอาหารไทยชื่อดังอย่าง Thai Terrace ซึ่งอยู่ในเครือ CRG
มากำกับดูแลรสชาติความอร่อย โดยแต่ละเมนูก็มีราคาเข้าถึงง่าย ด้วยราคา 45 -120 บาท
และเมื่อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ อร่อยดี มีแผนที่จะดำเนินการขายแฟรนไชส์
ซึ่งน่าจะเห็นแฟรนไชส์ อร่อยดี สาขาแรกภายในสิ้นปีนี้
และตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนสาขากว่า 300 สาขา
ทั้งที่เป็นของแบรนด์เอง และร้านแฟรนไชส์ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ความสำเร็จนี้อาจสรุปเบื้องต้นมาจาก ความอร่อยที่คุ้มค่า
และเป็นจุดแวะเติมความอิ่มอร่อยง่ายๆให้ได้ทุกมื้อ แต่จริงๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น
เพราะรู้หรือไม่ว่ายอดขาย 67% ของ อร่อยดี มาจากช่องทาง Delivery
ทั้งของตัวเองและเหล่าบรรดา App Food Delivery
ซึ่งนั่นหมายความว่าลูกค้านั่งทานที่ร้านน้อยกว่าสั่งทาง Delivery
เรื่องนี้ก็เลยทำให้เกิดโมเดลใหม่ของแบรนด์อร่อยดี นั่นคือ Aroidee in Cloud
โดยโมเดลนี้ อธิบายง่ายๆ คือ เป็นการสร้างพื้นที่ห้องครัวขนาดใหญ่ 1 แห่ง
ที่ไม่จำกัดแค่เมนูอาหารร้าน อร่อยดี แต่ยังปรุงอาหารให้หลายๆ แบรนด์ที่เป็นพันธมิตร
ซึ่งต้องบอกว่ามีสารพัดข้อดี โดยคุณ ธนพล บอกว่า คนขับก็มารับอาหารที่ Cloud kitchen
เพียงทีเดียว แต่ได้ตั้งหลายแบรนด์ ซึ่งก็ประหยัดทั้งน้ำมันและเวลา
สิ่งที่ตามมา ผลประโยชน์ก็ตกมาถึงลูกค้า
เพราะหากเราสั่งหลายร้านใน 1 ครั้งก็จะประหยัดเงินค่าส่งไปในทันที
ขณะที่ร้านอาหาร Street Food ที่เข้าร่วม Cloud kitchen นี้
ก็สามารถขยายสาขาได้อย่างไม่จำกัด เพราะไม่ต้องลงทุนเงินก้อนใหญ่เพื่อขยายสาขา
แค่ส่งพนักงานมาควบคุมดูแลรสชาติ ความอร่อย ในการปรุงอาหาร
แม้โมเดลนี้ ร้านอาหารอาจต้องแบ่งรายได้ให้กับทาง CRG เจ้าของ Cloud kitchen
แต่ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะร้าน Street Food แทบจะไม่มีต้นทุนอะไรเพิ่มขึ้นมาเลย
แต่กลับมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
จะเห็นว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่ Win ทุกฝ่าย
ผู้บริโภค ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหาร
ร้าน Street Food มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนขยายสาขา
CRG ก็จะมีรายได้จากโมเดล Cloud kitchen
โดยเวลานี้มีร้านอาหารที่เข้าร่วม Cloud kitchen นอกจาก
อร่อยดี ก็จะมี โตเกียว โบวล์, ผัดไทย, เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ, เจ๊เกียง หมูทอดข้าวเหนียวนุ่ม
ซึ่งภายในปีนี้จะเปิด Cloud kitchen ครบ 10 สาขา
และจะมีร้านอาหาร Street Food เข้าร่วมมากขึ้นกว่าเดิม
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา ที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะใครจะคิดว่าบริษัทร้านอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง CRG
ที่มีรายได้มากกว่า 12,000 ล้านบาท/ปี
โดยทุกร้านส่วนใหญ่จะมีทำเลสาขาอยู่ในศูนย์การค้า
คิดจะทำร้านอาหาร Street Food อย่าง อร่อยดี และหลังจากนั้นก็ไปจับมือกับร้านอาหารอื่นๆ
เพื่อเสิร์ฟเมนูอร่อยในรูปแบบ Delivery
โดยสร้างฐานทัพอย่าง Cloud kitchen เป็นศูนย์กลางผลิตอาหาร
เรื่องนี้กำลังหมายถึงว่า เวลานี้ CRG กำลังเปลี่ยนความคิดในการทำธุรกิจ
การทำธุรกิจร้านอาหารในยุคนี้
เราอาจไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับคนอื่น
แต่ร่วมมือกับคนอื่น เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า
และในที่สุดแล้ว
เราก็จะจูงมือเติบโตไปด้วยกัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.