เจาะลึกพฤติกรรม ของผู้บริโภคชาวไทย จาก Google เพื่อต่อยอดธุรกิจและการตลาด

เจาะลึกพฤติกรรม ของผู้บริโภคชาวไทย จาก Google เพื่อต่อยอดธุรกิจและการตลาด

1 ก.พ. 2021
รายงาน Year in Search 2020 ฉบับประเทศไทย เผย 5 เทรนด์ผู้บริโภคไทย
จากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลบน Google โดยใช้ข้อมูลจาก Google Trends ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของกิจวัตร และความต้องการ ดังนี้
เทรนด์ที่ 1: ความเป็นปัจเจกบุคคล
การแพร่ระบาด ทำให้เห็นความแตกต่างของผู้คน ทั้งในแง่ความต้องการ นิสัย และความเชื่อได้อย่างชัดเจนกว่าที่ผ่านมา
ผู้คนกำลังให้ความสำคัญกับแนวคิดของตนเองมากขึ้น แม้ว่าแนวคิดเหล่านั้นจะแตกต่างจากบรรทัดฐานที่เป็นอยู่ เช่น ความรับผิดชอบในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการตีตราทางสังคม
ผู้คนเริ่มมองว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลไม่ควรถูกกำหนดโดยสังคมว่าอะไร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
แต่ควรพยายามทำความเข้าใจและเปิดรับสิ่งที่ทำให้เราต่างกันแทน
และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะที่ดีทั้งรางกายและจิตใจ
-การค้นหาเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง (บูลลี่) เพิ่มขึ้น 70%
-การค้นหาเกี่ยวกับ LGBT เพิ่มขึ้น 39%
-การค้นหา “โรคซึมเศร้า” เพิ่มขึ้น 37%
-การค้นหา “ความเท่าเทียม” เพิ่มขึ้น 21%
ข้อสรุปสำหรับแบรนด์
แบรนด์ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ ในสถานการณ์หลากหลายที่ผู้บริโภคพบเจอ และหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างจริงใจ
สิ่งนี้จะส่งผลกับประสบการณ์ที่แบรนด์มอบให้กับลูกค้า
1)พิจารณาเส้นทางเฉพาะบุคคล (Customer Journey) ของผู้บริโภคแต่ละราย
เช่น IKEA เข้าใจว่าลูกค้าแต่ละคน จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน เพื่อเดินทางมาที่ห้าง IKEA
แบรนด์จึงเสนอให้ส่วนลดตามระยะทาง แก่ลูกค้าที่เดินทางมาที่ IKEA
2)สร้างการเข้าถึงให้ครอบคลุม และทำตามคำมั่นสัญญา
เช่น สยามพิวรรธน์ ส่งเสริมการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส ทุพพลภาพ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
3)น้ำเสียงและจังหวะเวลาที่เหมาะสมคือสิ่งสำคัญ อย่าชิงพูดเรื่องต้องห้ามไวเกินไป (เพราะอาจกลายเป็นการออกตัวแรง) แต่ให้แสดงการสนับสนุนเมื่อผู้ชมพร้อม
4)ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหญ่ ที่มีความต้องการเฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ทำให้แบรนดสามารถหามุมมองที่เหมาะสมกับค่านิยมของแบรนด์ และสื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงใจ
เทรนด์ที่ 2: เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
ผู้บริโภคนึกถึงคนอื่นนอกเหนือจากตัวเอง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน
หลายคนมองหาวิธีที่จะทำประโยชน์ให้สังคม และอีกหลายๆ คนก็พยายามหาวิธีรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
-การค้นหา “กระทง รีไซเคิล” เพิ่มขึ้น 50%
-คำค้นหาเกี่ยวกับ อาสาสมัครเพิ่มขึ้น เช่น “จิตอาสาภัยพิบัติ” “อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน”
-คำค้นหาเกี่ยวกับ บริจาคเพิ่มขึ้น เช่น ““บริจาค โควิด” “บริจาค เสื้อผ้า 2563”
ข้อสรุปสำหรับแบรนด์
แบรนด์ควรสร้างการเชื่อมโยงคุณค่ากับผู้บริโภค ทั้งด้านการใช้งานและด้านความรู้สึก
และนำหลักความยั่งยืนมาใช้กับธุรกิจ
1)สร้างสรรค์วิธีใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อถึงกันและเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม
เช่น Converse เชิญชวนเหล่าศิลปิน มาสร้างสรรค์ผลงานบนกำแพง ด้วยสีที่ดูดซับสารพิษในอากาศ ในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยด้วย
2)เผยค่านิยมทางธุรกิจและแนวทางปฏิบัติภายใน ผ่านการสร้างแบรนด์ภายนอก
เช่น AIS ช่วยให้ผู้บริโภคกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยนำเสนอถังขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำไปแยกส่วน แยกประเภท และส่งไปยังศูนย์กำจัดต่อไป
3)เข้าถึงผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าในชุมชนใกล้เคียง
ต้องมีตัวตนที่โดดเด่นบนโลกออนไลน เพื่อให้ลูกค้าหาเจอได้ง่ายๆ
เทรนด์ที่ 3: ตัวตนในทุกแง่มุม
เส้นแบ่งระหว่างบทบาทต่างๆ เริ่มไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาสิ่งที่ตอบสนองความต้องการที่ไม่แน่นอน ในเวลาที่ไม่แน่นอน
เช่น หลายคนเจอปัญหากับการที่ต้องทำทั้งงานหลัก และงานที่บ้านในที่เดียวกันตลอดเวลา
ทำให้ผู้คนเริ่มมองหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเวลา พยายามรักษาความเป็นอยู่ที่ดี และหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง
-การค้นหาเกี่ยวกับการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้น 25% (พุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงล็อกดาวน์)
-การค้นหา “เก้าอี้ทำงาน” เพิ่มขึ้น 34%
-การค้นหาเกี่ยวกับ “เซรั่ม” เพิ่มขึ้น 37% (เทียบกับ 13% ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการดูแลผิวทั่วไป)
-การค้นหา "โยคะ" บน YouTube เพิ่มขึ้น 60%
-การค้นหา “plant-based diet” หรือ อาหารที่ทำจากพืช เพิ่มขึ้น 173%
ข้อสรุปสำหรับแบรนด์
แบรนด์ถูกคาดหวังให้ตระหนักถึง ความเชื่อและความชอบเฉพาะบุคคล ที่ผู้บริโภคมีต่อผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ
นั่นหมายความว่ายิ่งแบรนด์เข้าใจกลุ่มเป้าหมายมาก ก็จะยิ่งมีโอกาสทางธุรกิจมาก
1)พูดภาษาเดียวกับลูกค้า
2)ทบทวนธุรกิจ และท้าทายการทำธุรกิจแบบเดิม ซึ่งอาจทำให้ค้นพบโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
3)ปรับเปลี่ยนโซลูชันทางธุรกิจและการตลาด ให้เข้ากับวิถีชีวิตและความต้องการของลูกค้า
ไม่ว่าจะผ่านทางกลยุทธ์การสื่อสาร หรือ ฟีเจอร์ของสินค้า
เทรนด์ที่ 4: แสวงหาความสุข
ผู้คนยังไม่ละทิ้งการพักผ่อนและแสวงหาความสุข ในช่วงปีที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
ผู้บริโภคต่างชื่นชอบแบรนด์ที่มอบความสุขและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้พัก
หลายคนมองหาวิธีใช้เวลาพักผ่อนในรูปแบบใหม่ๆ และวิธีใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ กับคนที่รักอย่างสร้างสรรค์
ความต้องการความสบายใจและคลายเครียด คือแรงผลักดันหลัก ที่ทำให้การบริโภคสื่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย (ที่ไม่ใช่การทำงาน)
3.7 ชม. ต่อวัน (ก่อนโควิด-19)
4.6 ชม. ต่อวัน (ในช่วงที่การล็อกดาวน์)
4.3 ชม. ต่อวัน (หลังคลายล็อกดาวน์)
-เวลาในการรับชม “หนังตลก” บน YouTube เพิ่มขึ้น 90%
-การค้นหา “ปลูก” เพิ่มขึ้น 20%
-การค้นหา “เล่นเกมกับเพื่อน” เพิ่มขึ้น 105%
ข้อสรุปสำหรับแบรนด์
แบรนด์ที่สร้างเซอร์ไพรส์ และความประทับใจ จะได้รับความรักจากผู้บริโภคเป็นสิ่งตอบแทน
โดยเฉพาะเมื่อความสุขนั้น เกิดจากความเข้าใจความรู้สึกของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนกันอย่างถ่องแท้
1)มอบความสนุกแบบเฉพาะบุคคล
เช่น Google เอาใจแฟน Avengers ด้วยผลการค้นหาสุดเซอร์ไพรส์ เมื่อพวกเขาค้นหาตัวละครในภาพยนตร์
2)ตลกอย่างมีสไตล์
เช่น Mars วิเคราะห์ข้อมูลจาก Search เพื่อหาคำค้นหาที่ฟังดูน่าประหลาดบน Google
และส่งช็อกโกแลตให้กับคนที่ตกอยู่ใน “สถานการณ์จนมุม” เหล่านั้น
แคมเปญนี้ช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์แย่ๆ หรือสถานการณ์ที่น่าอึดอัดด้วยอารมณ์ขัน
3)ให้การแชร์ความสุขเป็นเรื่องง่าย
เช่น เมื่อต้องระงับการให้บริการอาหารบนเครื่องบินในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
Thai AirAsia จึงนำอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคชื่นชอบ มาใหบริการแบบส่งถึงบ้านเลยทีเดียว
เทรนด์ที่ 5: ความแน่นอนในอนาคต
ในปีที่มีแต่สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ผู้คนต่างมองหาสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้ เพื่อทำให้รู้สึกชีวิตมั่นคงมากขึ้น หลายคนเริ่มมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงให้กับอนาคต และลดความเสี่ยงในชีวิต
ในขณะเดียวกัน ก็มองหาความมั่นใจจากแบรนด์ต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ ผู้คนยังค้นหาวิธีเพิ่มทักษะความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงทางด้านการเงิน และหาอาชีพเสริม
-การค้นหา “เรียน ออนไลน์” เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6 เท่า
-การค้นหา “เปิดพอร์ต” เพิ่มขึ้น 72%
-เวลาในการรับชมวิดีโอเกี่ยวกับการเงิน บน YouTube เพิ่มขึ้น 70%
-การค้นหาเกี่ยวกับ การตลาดดิจิทัล เพิ่มขึ้น 50%
-การค้นหา “ขายของออนไลน์” เพิ่มขึ้น 32%
-คำค้นหายอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์
“ขายของออนไลน์ อะไรดี” “วิธีขายของออนไลน์ให้ขายดี” “แอปแต่งรูปขายของออนไลน์”
ข้อสรุปสำหรับแบรนด์
แบรนด์ควรคำนึงถึงวิธีที่จะช่วยเสริมพลังให้กับผู้บริโภค และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องความสบายใจและความเสี่ยงต่ำ
1)สื่อสารสิ่งที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า แต่ต้องไม่มากเกินไป
2)สร้างสรรค์เพื่อลดความเสี่ยงให้ผู้บริโภค
เช่น Family Mart ประเทศไทย นำเสนอร้านค้าปลีกในรูปแบบคอนเทนเนอร์ และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ
เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ ที่มีการกักตัว โดยที่ยังคงการเว้นระยะห่างทางสังคมเอาไว้
3)ช่วยให้ลูกค้านำข้อมูลไปใช้ได้ง่ายขึ้น
ช่วยผู้บริโภคตัดสินใจ โดยการให้ข้อมูลที่สำคัญ เช่น ไฮไลต์ ราคา และสถานที่ตั้ง
4)มองหาวิธีสนับสนุน พาร์ตเนอร์ในระยะยาว สำหรับ B2B
เช่น Castrol ผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ เพิ่มยอดขายกว่า 44% ในประเทศจีน
โดยการให้พื้นที่โฆษณาฟรี แก่ศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อิสระกว่า 6,000 ศูนย์
5)บทบาทของแบรนด์ ในการเพิ่มทักษะให้กับผู้คน
เช่น โครงการ Saphan Digital ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Google กระทรวงพาณชย์ และอีกหลายองค์กรในประเทศไทย เพื่อเพิ่มทักษะให้ผู้ประกอบการ SMEs องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และบุคคลทั่วไป ได้ใช้โอกาสบนโลกออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ในรายงานนี้ ยังได้เจาะเทรนด์ในธุรกิจ 6 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์, ความงามและการดูแลตัวเอง, การเงิน, อาหารและเครื่องดื่ม, สื่อและโทรคมนาคม และการชอปปิง
เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ > https://www.thinkwithgoogle.com/.../year-in-search-for.../
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.