กรณีศึกษา ศูนย์การค้าญี่ปุ่นในเมืองไทย

กรณีศึกษา ศูนย์การค้าญี่ปุ่นในเมืองไทย

5 ก.ย. 2019
หลายธุรกิจเลยทีเดียวที่บริษัทญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในประเทศไทย
เช่นธุรกิจ รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, กล้องดิจิทัล
แต่รู้หรือไม่ว่ามีธุรกิจหนึ่งที่บริษัทญี่ปุ่นหลายรายต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบ 
นั้นคือธุรกิจ “ศูนย์การค้า”
เรามาดูกันว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันศูนย์การค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยมีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไร
ย้อนกลับไปปี 2507 หรือ 55 ปีที่แล้วคนไทยได้รู้จัก “บันไดเลื่อน” ครั้งแรกจากห้างญี่ปุ่นที่ชื่อ ไทยไดมารู ซึ่งอยู่บนถนนราชดำริ
โดยประสบความสำเร็จเกินขาดเพราะ ณ เวลานั้น ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ทำให้คนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี
แม้เวลาต่อมา ศูนย์การค้า เซ็นทรัล จะมาเปิดอยู่ใกล้ๆ แต่ก็เซ็นทรัลก็ต้องปิดสาขาเมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามคาด ที่น่าสนใจคือกิจการของ ไทยไดมารู ยังเติบโตจนเปิดสาขา 2 ย่านพระโขนงในปี 2524
จากนั้นเมื่อสาขา ราชดำริ หมดสัญญาก็มีการย้ายสาขามายัง ถนนศรีนครินทร์ 
จนมาถึงจุดตกต่ำ เมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ค่าเงินบาทลอยตัว รายได้ทางธุรกิจถดถอย
จนทำให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นอย่าง ไดมารู อิงค์ ต้องขายกิจการให้แก่นักลงทุนชาวไทย
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อผ่านไปไม่นานนัก ก็เริ่มมีศูนย์การค้าเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น 
ไทยไดมารู ไม่สามารถปรับตัวกับการแข่งขันได้ จนที่สุดก็ต้องปิดกิจการ
คนในยุค 90 คงเคยได้ยินชื่อห้างสรรพสินค้า เยาฮัน ที่มี 2 สาขาคือ รัชดาภิเษก กับ บางแค
ซึ่ง ณ เวลานั้นการลงทุนในไทยใช้ชื่อว่าบริษัท “ไทยเยาฮัน” 
โดยมีบริษัทไทยร่วมทุนคือ สหพัฒน์กรุ๊ป, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เหตุผลที่ทำให้หลายบริษัทไทยยักษ์ใหญ่ตัดสินใจร่วมทุนในเวลานั้น
เพราะนี่คือห้างญี่ปุ่นที่มีถึง 116 สาขาใน 9 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทั้งด้านการเงิน และธุรกิจ
แต่ใครจะไปคิดว่านั้นคือภาพลวงตาที่บริษัทแม่ เยาฮัน ในประเทศญี่ปุ่นสร้างขึ้นมา 
เพราะความจริงแล้วมีการตกแต่งบัญชีตั้งแต่ปี 2529 ด้วยการโยกย้ายผลขาดทุน
ไปให้บริษัทในเครือที่ต่างประเทศ จนเมื่อความมาแตกในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540
เมื่อบริษัท เยาฮัน มีหนี้สินสูงถึง 161,000 ล้านเยน หรือประมาณ 46,690 ล้านบาท 
ที่น่าสนใจคือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ จนต้องขายกิจการให้แก่ AEON Group
และนี้เป็นที่มาของ จุดจบ ห้างเยาฮัน ในไทย ที่ต่อมาเวลาไม่นานก็ปิดกิจการ
ส่วนอีกหนึ่งศูนย์การค้าที่เปิดสาขาได้ไม่นานก็ต้องปิดกิจการนั้นคือ โตคิว สาขา 2 บนถนน ศรีนครินทร์ 
ที่ปิดกิจการในวันที่ 1 มกราคม 2562 มีอายุทางธุรกิจเพียง 3 ปีเท่านั้น
โตคิวสาขา 2 นั้นแยกการบริหารจากสาขาแรก อย่างสิ้นเชิง
โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มโตคิวกับบริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด จัดตั้งบริษัทใหม่ พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ที่น่าสนใจก็คือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โตคิว สาขา 2 ขาดทุนต่อเนื่อง
ปี 2561 รายได้ 149 ล้านบาท ขาดทุน 165 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 188 ล้านบาท ขาดทุน 154 ล้านบาท
คำถามต่อมาคือแล้ว ณ เวลานี้เหลือศูนย์การค้าญี่ปุ่นอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่กี่แห่ง
อิเซตัน เป็นการเช่าพื้นที่สัญญาระยะยาวใน เซ็นทรัลเวิลด์ 
โตคิว เป็นการร่วมทุนระหว่าง โตคิว ประเทศญี่ปุ่นกับบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)
ดองกี้ ทองหล่อ เป็นการร่วมทุน Don Quijote Group กับบริษัท ทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท นิปปอน พาร์คกิ้ง ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด
สยาม ทาคาชิมายะ เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท ทาคาชิมายะสิงคโปร์ จำกัด สยามพิวรรธน์ และ กลุ่มซีพี
จะเห็นได้ว่าศูนย์การค้าญี่ปุ่นเกือบทุกรายที่หลงเหลือ ณ เวลานี้ 
ต่างเลือกจะจับมือกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจศูนย์การค้าในเมืองไทย
เพราะกลุ่มศูนย์การค้าญีปุ่นเองก็รู้ดีว่า การทำธุรกิจแบบนี้
เป็นการเสริมแกร่งด้านบริหาร ,การตลาด ,รวมถึงเครือข่ายสัมพันธ์กับแบรนด์สินค้าในประเทศไทย
สุดท้ายนี้ นอกจากศูนย์การค้า ถ้าพูดถึงธุรกิจค้าปลีก มีใครรู้บ้างว่ามีบริษัทญี่ปุ่นอยู่บริษัทหนึ่งที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทคนไทย แต่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว
จนมีรายได้ในปี 2561 ที่ผ่านมา 10,169 ล้านบาท และมีกำไร 1,971 ล้านบาท
บริษัทนั้นไม่ได้เป็นห้างสรรพสินค้าขายทุกอย่าง แต่ขายแค่เสื้อผ้าให้ผู้บริโภคในประเทศไทย
และเจ้าของบริษัทนั้นยังเป็นบุคคลที่รวยสุดในญี่ปุ่นอีกด้วย
บริษัทนั้นก็คือ UNIQLO
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ลงทุนแมน, วิกิพีเดีย,ผู้จัดการ,ไทยรัฐ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.