กรณีศึกษา ความสำคัญของ “เสียง” กับ “การสร้างแบรนด์” ที่หลายคนมองข้าม

กรณีศึกษา ความสำคัญของ “เสียง” กับ “การสร้างแบรนด์” ที่หลายคนมองข้าม

30 เม.ย. 2021
เคยสังเกตไหมว่า ในช่วงเริ่มต้นของวัน หากเราฟังเพลงเพราะ ๆ ดนตรีสบาย ๆ หรือเพลงโปรดประจำตัวของเรา ในวันนั้นเราจะรู้สึกดีไปทั้งวัน หากไม่มีเรื่องใดมากวนใจเสียก่อน
หรือบางครั้ง การที่เราอกหักแล้วฟังเพลงเศร้า อารมณ์ของเรา ก็จะยิ่งดิ่งลึกลงกับความรู้สึกเศร้านั้นมากกว่าเดิม
ส่วนน้ำเสียงของคนใกล้ชิด ก็บ่งบอกความรู้สึกได้เช่นกัน เช่น หากเสียงของแฟนเราเปลี่ยนไป เราก็จะจับความรู้สึกได้ทันที ว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับแฟนของเราแน่นอน
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า “เสียง” คือหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ส่งผลต่อการรับรู้และความรู้สึกในจิตใจของเรา ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ซึ่งนักประสาทวิทยา ยังได้ค้นพบว่า การฟังเพลง หรือการฟังเสียงดนตรีพื้นหลัง (Background Music) นั้น มีผลต่อการหลั่งสารเคมีหลายชนิดในสมอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำงานและพัฒนาการของสมอง ได้แก่
- โดพามีน (Dopamine) สารเคมีที่เกี่ยวกับความสุข เพิ่มขึ้น
- คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนความเครียด ลดลง
- เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เพิ่มขึ้น
- ออกซิโทซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดความผูกพันกับผู้อื่น เพิ่มขึ้น
ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจหรือแบรนด์ต่าง ๆ ก็ได้นำประโยชน์ของเสียง มาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองด้วย อาทิ
1) ร้านบุฟเฟต์ชื่อดัง ใช้เสียงในการกระตุ้นความอยากอาหาร
เมื่อหลายปีก่อน ร้านบุฟเฟต์ชื่อดังย่านจตุจักรได้ใช้เสียง ในการกระตุ้นความอยากอาหาร
รวมถึงเป็นการสร้างบรรยากาศโดยรวมของร้าน ให้มีอรรถรสมากขึ้น
โดยได้จ้าง Warner Bros. บริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์ขนาดใหญ่ สัญชาติอเมริกัน ทำซาวนด์ดนตรีให้โดยเฉพาะ โดยซาวนด์ดนตรีที่ว่านั้น จะเป็นเสียงดนตรีพื้นหลังที่มีความเร็ว สนุกสนาน และไม่มีเนื้อร้อง
ซึ่งจะเปิดในช่วงต้นของรอบบุฟเฟต์ เพื่อให้ลูกค้าเจริญอาหาร สนุกกับการกิน และหลังจากใกล้จบรอบบุฟเฟต์ จะมีการเปลี่ยนซาวนด์ดนตรี เป็นเสียงดนตรีช้า ๆ สบาย ๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกอิ่มและรู้สึกสบายใจ นั่นเอง
2) ห้างสรรพสินค้าราคาถูก ใช้เพลงกระตุ้นความรู้สึกและความอยากซื้อ
หากใครเคยเข้าไปช็อปปิงในห้างสรรพสินค้าราคาถูกอย่าง ดองกิ ในไทย หรือร้านซูเปอร์มาร์เกตและร้านร้อยเยน ในประเทศญี่ปุ่น จะพบว่าเพลงที่ใช้เปิด จะเป็นเพลงเร็ว ที่ไม่ค่อยไพเราะสักเท่าไร
ซึ่งคุณไดสุเกะ อาซากุระ นักดนตรีชาวญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่า ดนตรีต่าง ๆ ที่ร้านใช้เปิดนั้น เป็นหลักจิตวิทยาทางดนตรี เพื่อทำให้คุณรู้สึกว่า ของมีราคาถูก เหมือนกับเพลงที่กำลังฟังอยู่
และสาเหตุที่เป็นเพลงเร็ว ก็เพราะเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้า เกิดความรู้สึกอยากจับจ่ายซื้อของในปริมาณมากขึ้น และมีอารมณ์เพลิดเพลินไปด้วยในขณะซื้อของ
3) Aesop สร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเองบน Spotify
แบรนด์ Aesop หรือเอสอป คือแบรนด์สกินแคร์ ที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงสองพันกว่าบาท
และเป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ ในด้านการตกแต่งร้าน ที่ดูหรูหราและเรียบง่ายในเวลาเดียวกัน
โดยแบรนด์ได้ทำเพลย์ลิสต์ของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อจะใช้เปิดสร้างบรรยากาศในร้าน ให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่พิถีพิถันและละเอียดอ่อน
ยิ่งไปกว่านั้น เสียงดนตรีดังกล่าว ยังช่วยเพิ่มความพึงพอใจ และยกระดับให้ร้านดูหรูหรา มีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักของร้าน
4) AP ใช้เสียง ASMR ในการทำการตลาด
ASMR ย่อมาจาก Autonomous Sensory Meridian Response เป็นคำที่ใช้อธิบายการตอบสนองของระบบประสาท ต่อการถูกกระตุ้นจากเสียงหรือการสัมผัส เช่น เสียงกระซิบ เสียงลูบ จับ หรือเคาะสิ่งของ และหลังจากได้ฟังเสียงเหล่านั้น ผู้ถูกกระตุ้นจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายตามมา
ที่น่าสนใจคือ AP ซึ่งเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ ได้นำ ASMR มาใช้ในการจัดนิทรรศการ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น โดยให้เราเลือกดนตรี ASMR ที่ชอบ เพื่อบอกความเป็นตัวตนของเรา ว่าเราเป็นคนแบบไหน และเหมาะกับบ้านแบบไหน
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราก็จะรู้สึกแล้วว่า “เสียง” มีอิทธิพลต่อร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของเราอย่างมาก
ทั้งเสียงพูด เสียงดนตรี เสียงเพลง เสียงประกอบฉากภาพยนตร์ ทุกอย่างคือตัวบิวต์ให้อารมณ์ของเรา เดินไปถึงจุดที่ต้องการ
ซึ่งถ้าเราจับจุดได้ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ก็คงจะมีประโยชน์ไม่น้อย
เช่น ถ้าเราเปิดร้านคาเฟ ปัญหาหลัก ๆ ที่ผู้ประกอบการมักเจอคือ คนชอบสั่งเครื่องดื่มเพียงไม่กี่ชนิด แล้วนั่งแช่ หรือถ่ายรูปเป็นเวลานาน เราก็อาจใช้เพลงเร็ว ในการกระตุ้นลูกค้าให้สั่งอาหารมากขึ้น และอิ่มในเวลาที่รวดเร็ว..
แต่ถ้าเราขายสินค้าราคาแพง มีมูลค่า เราก็สามารถนำเพลงช้าแบบคลาสสิก มาช่วยยกระดับความรู้สึกของลูกค้าภายในร้านให้ดีขึ้นได้
จะเห็นว่า ประสาทสัมผัสด้าน “เสียง” มีความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อยู่ไม่น้อย
ซึ่งหลาย ๆ ธุรกิจ ได้ให้ความสำคัญกับ “รูป รส และกลิ่น” แต่อย่าลืมว่า “เสียง” ก็สำคัญไม่แพ้ไปกว่ากันเลย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.