เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เปิดแผนรุก ลงสนามดิลิเวอรีครึ่งปีหลัง 2564 ขนทัพแบรนด์อาหารไทย-จีน

เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เปิดแผนรุก ลงสนามดิลิเวอรีครึ่งปีหลัง 2564 ขนทัพแบรนด์อาหารไทย-จีน

17 ส.ค. 2021
สถานการณ์การระบาดโควิด และการประกาศมาตรการคุมเข้มพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ธุรกิจร้านอาหารจำหน่ายสินค้าให้เฉพาะซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ เร่งปรับตัวรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น
นายธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Thai & Chinese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG
ประกาศขนทัพแบรนด์อาหารกลุ่มธุรกิจ Thai & Chinese Cuisine “ไทยเทอเรส, อร่อยดี, เกาลูน, ส้มตำนัว”
เดินหน้าแผนธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 พร้อมมุมมองการทำธุรกิจอย่างไร ให้เติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านอาหารประเทศไทย
ธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ในมุมมองของ นายธนพล เปิดเผยว่า
ภาพรวมยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการระบาดโควิด ที่มีผลให้สภาพแวดล้อมธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัว เพื่อรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
ทั้งจากมาตรการการควบคุมการระบาดของภาครัฐ และกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งก็ได้รับผลจากการปรับตัวของการจ้างงานเช่นเดียวกัน
โดยรวมแล้วคาดการณ์ว่า ธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท จะขยายตัวเพียง 1.4 – 2.6%
-ตลาดเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ
จากปัจจัยที่มีผลกระทบกับธุรกิจอาหารในภาพรวมนำมาสู่การปรับตัวของภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ โดยในส่วนของ CRG ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างของการบริหาร และปฏิบัติงาน
มุ่งเน้นในการบริหารจัดการในแต่ระบบให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
1) แผนการบริหารจัดการต้นทุน มุ่งเน้นบริหารจัดการ อาทิ พัฒนาทักษะพนักงาน (Multi-Function) โดยดึงศักยภาพของพนักงานให้สามารถทำได้หลายหน้าที่, วัตถุดิบ มีการบริหารจัดการต้นทุน ควบคุมการสูญเสีย
รวมไปถึงการจัดหาพื้นที่ทำ Delivery และการเจรจาค่าเช่าที่เหมาะสม
ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุน และการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
2) กลยุทธ์การตลาด รุกต่อเนื่อง เพื่อให้แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภค ทุกคนล้วนมีประสบการณ์เคยสั่งอาหารจากร้านมาทาน รู้สึกประทับใจ ผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
โดยทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเน้นหนักให้ขับเคลื่อนด้วยดาต้า (Data – Driven Everything)
3) เลือกใช้ผู้นำเทรนด์ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคคนรุ่นใหม่ รับรู้จากสื่อออนไลน์
ดังนั้นการสื่อสารเมนูใหม่ ๆ ผ่าน KOLs, Food Influencer มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
4) โปรโมชันส่งเสริมการขาย แบรนด์ TCC เน้นเรื่องความแตกต่าง โปรโมชัน ราคา และภาพลักษณ์ของสินค้า เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด
-ผลประกอบการครึ่งปีแรก
ผลการดำเนินงานของ Thai & Chinese Cuisine ครึ่งปีแรกของปี 2564 ภาพรวมเติบโตขึ้น 10%
โดยตัวเลขรายได้ในปี 2653 อยู่ที่ประมาณ 270 ล้าน ซึ่งการเติบโตมาจากการพัฒนาโมเดลใหม่เพิ่มเติม อาทิ คีย์ออส (Kiosk) รวมถึงการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
-เปิดแผนงานครึ่งปีหลัง
นอกจาก การปรับโครงสร้างของการบริหารงานระบบแล้ว ในส่วนของพื้นที่ร้าน และทำเลที่ตั้งร้าน
ทางกลุ่มก็ได้ปรับเพื่อให้เหมาะกับสัดส่วนการขายและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ซึ่งในภาพรวม มีการแบ่งสัดส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งช่องทางการนั่งทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน (Dine In & Take away) และดิลิเวอรี (Delivery)
ในปี 2563 การนั่งทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน มีสัดส่วนที่ 70%
ขณะที่ปี 2564 ปรับลดสัดส่วนลงมาที่ 60%
ด้านช่องทางการขายดิลิเวอรี ในปี 2563 มีสัดส่วน 30% ส่วนในปี 2564 อยู่ที่ 40%
ทั้งนี้ ในภาพรวมของการขาย เป็นไปเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของสาขาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของภาพรวมธุรกิจอาหาร การควบคุมการระบาดโควิด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาทำงานและอยู่ที่บ้านมากกว่า
สำหรับจำนวนสาขา ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 67 สาขา ทุกสาขาตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
แบ่งเป็นแบรนด์ไทยเทอเรส มีจำนวน 17 สาขา, อร่อยดี 33 สาขา, เกาลูน 10 สาขา, ส้มตำนัว 7 สาขา
นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ โตเกียว โบวล์ (Tokyo Bowl) ซึ่งเป็น Virtual Brand อีก 50 สาขา
-สมรภูมิดิลิเวอรี เกมนี้ CRG พร้อม
“ดิลิเวอรีจะเติบโตอย่างมากต่อจากนี้ โดยเป็นการโตได้มากเป็นเท่าตัว ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการปรับตัว
และการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ เช่น Fantastic 4 การสั่งอาหารที่ทำได้ครบจบในแอปเดียวแบบ 4 in 1 โดยสามารถเลือกชอปสุดยอด 50 เมนูฮอตจาก 4 ร้านดัง
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเมนู Take away และเน้นสัดส่วนการขายดิลิเวอรีมากขึ้น
เพิ่มโลเคชันหาพื้นที่ Cloud Kitchen รองรับการขายดิลิเวอรีที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
นอกจากการพัฒนาระบบหลังบ้าน และเพิ่มขีดความสามารถในแนวรุกของตลาดออนไลน์แล้ว
อีกอาวุธสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง มาจากแบรนด์ใหม่ล่าสุด “ส้มตำนัว” ที่จะเข้ามาเสริมทัพแบรนด์ในกลุ่มและขยายฐานลูกค้าให้หลากหลาย โดยเน้นสัดส่วนการขายบนช่องทางดิลิเวอรีเป็นหลัก
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.