ทำไม ยาคูลท์ ถึงประสบความสำเร็จ ทั้งที่ไม่ค่อยโฆษณา

ทำไม ยาคูลท์ ถึงประสบความสำเร็จ ทั้งที่ไม่ค่อยโฆษณา

30 ต.ค. 2021
“อยากรู้เรื่องยาคูลท์.. ถามสาวยาคูลท์สิคะ"
นี่คงเป็นประโยคคุ้นเคย และสโลแกนที่ติดหูของยาคูลท์
ที่หลาย ๆ คนน่าจะได้ยินจากรุ่นสู่รุ่น มายาวนานจนถึงวันนี้
ถ้าลองนึกดูดี ๆ ทั้ง ๆ ที่ยาคูลท์นั้นมียอดขายหลักพันล้านบาท
แต่เราแทบไม่ค่อยเห็นยาคูลท์ออกสื่อโฆษณามากมาย เหมือนกับที่แบรนด์สินค้าอื่น ๆ เขาทำกัน
แล้ว ยาคูลท์ ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ โดยที่แทบไม่ต้องทำการโฆษณา ?
จุดเริ่มต้นของนมเปรี้ยว ยาคูลท์ ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1930
โดย ดร.มิโนรุ ชิโรต้า นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ผู้ที่ได้ค้นพบจุลินทรีย์กรดนมในลำไส้
จุลินทรีย์ ที่ว่านี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถทนต่อกรดและด่างในร่างกายมนุษย์ และยังสามารถมีชีวิตอยู่รอดในลำไส้ได้ นั่นก็คือ “แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ”
แล้วด้วยความเชื่อของเขาที่ว่า “เคล็ดลับของการมีอายุยืนยาวของคนเรา อยู่ที่การมีสุขภาพลำไส้ที่ดี”
การค้นพบจุลินทรีย์กรดนมชนิดนี้ จึงทำให้เขานำมันมาต่อยอดด้วยการผลิตนมเปรี้ยว “ยาคูลท์” และต่อมาได้ทำการตั้งบริษัท Yakult Honsha เพื่อทำการผลิตและขายยาคูลท์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1963 ยาคูลท์เริ่มนำกลยุทธ์การส่งสินค้าไปให้ผู้บริโภค โดยอาศัย “ผู้หญิง” เป็นคนขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์
แนวความคิดที่ต้องการให้ผู้หญิงมาเป็นคนส่งสินค้า เกิดขึ้นเนื่องจาก บริษัทต้องการให้ผู้หญิงญี่ปุ่นที่อยู่ในวัยทำงาน มีงานทำในขณะนั้น และนั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นของ “สาวยาคูลท์” ที่เป็นที่รู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้
โดยกลยุทธ์ที่ยาคูลท์ใช้ในการจ้างสาวยาคูลท์
คือการให้ความสำคัญกับการจ้างคนท้องถิ่น
เพราะคนในท้องถิ่นไม่เพียงแต่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังสื่อสารกับคนในพื้นที่นั้น ๆ ได้ดี ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการมาเป็นลูกค้าของยาคูลท์มากขึ้นไปด้วย
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สาวยาคูลท์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ยาคูลท์นั้นเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ยาคูลท์ มีขายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ยาคูลท์ เริ่มเข้ามาตีตลาดไม่ต่ำกว่า 50 ปีมาแล้ว โดย คุณประพันธ์ เหตระกูล เป็นผู้นำยาคูลท์เข้ามาในไทย
ในเวลานั้น คุณประพันธ์ เป็นนักศึกษาไทยที่ได้เดินทางไปเรียนที่ญี่ปุ่น
ช่วงหนึ่ง คุณประพันธ์ มีอาการท้องเสียจากการทานอาหาร จนมีคนแนะนำให้ดื่มยาคูลท์ หลังจากนั้นอาการท้องเสียค่อย ๆ ดีขึ้น
หลังจากที่คุณประพันธ์เรียบจบและเดินทางกลับมายังประเทศไทย จึงมีความคิดที่จะนำยาคูลท์เข้ามาขาย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพลำไส้ที่ดี จึงได้ชักชวนพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่น มาก่อตั้งบริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) ขึ้นในปี ค.ศ. 1970
และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยาคูลท์ ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในคนไทยจำนวนมาก ตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ แต่ยังเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่มียอดขายหลักพันล้านบาท
รายได้และกำไรของ บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำธุรกิจผลิตยาคูลท์
ปี 2019 รายได้ 2,354 ล้านบาท กำไร 308 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 2,319 ล้านบาท กำไร 303 ล้านบาท
รายได้และกำไรของ บริษัท ยาคูลท์เซลส์ (กรุงเทพฯ) จำกัด ทำธุรกิจขายส่งสินค้าให้สาวยาคูลท์
ปี 2019 รายได้ 5,000 ล้านบาท กำไร 959 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 4,680 ล้านบาท กำไร 921 ล้านบาท
ใครจะไปเชื่อว่า บริษัทที่มีรายได้เป็นหลักพันล้านบาท แต่คนส่วนใหญ่กลับแทบไม่ค่อยเห็นยาคูลท์ ทุ่มงบโฆษณา เพื่อให้คนรู้จักมากเท่าไรเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ด้วยลักษณะและคุณสมบัติของตัวสินค้าที่มีประโยชน์ ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากอยู่แล้ว
อีกส่วนหนึ่ง อาจมาจาก “สาวยาคูลท์” ที่ไม่เพียงแค่ส่งสินค้าไปให้แก่ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังให้ทำหน้าที่โปรโมต พร้อมทั้งมอบความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของยาคูลท์ให้แก่ลูกค้า
พูดง่าย ๆ ว่า สาวยาคูลท์ ทำหน้าที่เป็น Brand Ambassador หรือคนที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ “ยาคูลท์” กับ “ลูกค้า” อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินจ้าง Brand Ambassador ที่ไหนอีก
และที่สำคัญก็คือ การคงคุณภาพสินค้าให้ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
อย่างในประเทศไทยนั้นจะเห็นว่า กว่า 50 ปีเเล้ว รสชาติและรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของยาคูลท์ แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คงเพียงพอแล้ว ที่ทำให้นมเปรี้ยวขวดเล็ก ๆ อย่างยาคูลท์ กลายเป็นบริษัทที่มีรายได้ระดับพันล้านบาทได้ โดยไม่จำเป็นต้องโฆษณาอะไรมากมาย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.