Amazon รุกธุรกิจบริการทางการแพทย์ระยะไกล คว้าเครือโรงแรม Hilton เป็นลูกค้า

Amazon รุกธุรกิจบริการทางการแพทย์ระยะไกล คว้าเครือโรงแรม Hilton เป็นลูกค้า

16 พ.ย. 2021
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงรู้จักบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Amazon กันอยู่แล้ว
ซึ่งในปัจจุบัน Amazon ก็ประกอบธุรกิจหลากหลายอย่าง อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจ Cloud, ธุรกิจสื่อบันเทิง Amazon Prime Video, Amazon Music และธุรกิจ AI อย่าง Alexa เป็นต้น
และล่าสุดบริษัท Amazon ก็ได้ออกมาประกาศถึงการรุกเข้าธุรกิจใหม่ อย่าง “Amazon Care” สำหรับลูกค้าภายนอกองค์กร
ซึ่งก็คือธุรกิจบริการทางการแพทย์ระยะไกล ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจบริการด้านสุขภาพตามความต้องการของผู้บริโภค (On-Demand Health Offering)
โดยผู้ป่วยจะสามารถปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพทางไกล ทั้งผ่านการแช็ต หรือวิดีโอคอล จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เสมือนว่าได้ไปหาแพทย์จริง ๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Amazon ได้เปิดบริการนี้มากพักใหญ่แล้ว แต่จะเป็นการเปิดทดลองนำร่องด้วยการใช้เป็นสวัสดิการให้พนักงานภายในบริษัท Amazon ก่อน
จนมาถึงตอนนี้ ที่บริษัทได้ประกาศว่า Amazon Care ได้บรรลุข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์กับเครือโรงแรม Hilton ในสหรัฐอเมริกาแล้ว
โดยข้อตกลงกับ Hilton Worldwide Holdings ถือเป็นลูกค้าที่เป็นธุรกิจบริการรายแรกของ Amazon Care และเป็นลูกค้ารายที่สองที่ได้รับการเปิดเผย ต่อจากบริษัท Precor ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ฟิตเนส
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า Amazon Care กำลังจะเข้ามาปฏิวัติธุรกิจการแพทย์ในแบบเดิม ๆ
โดยทางด้านคุณ Kristen Helton ผู้อำนวยการ Amazon Care กล่าวว่า
“การร่วมงานกับเครือโรงแรมระดับโลกอย่าง Hilton ซึ่งมีพนักงานจำนวนมากและหลากหลาย ถือเป็นก้าวสำคัญของ Amazon Care”
เนื่องจากโรงแรม Hilton มีพนักงานประมาณ 141,000 ทั่วโลก
โดยพนักงานทั้งหมดของ Hilton ในสหรัฐฯ ที่ลงทะเบียนในแผนประกันสุขภาพขององค์กร จะได้รับการบริการจาก Amazon Care ในปีหน้า
ซึ่งการบริการที่ว่า ก็หมายถึงการให้บริการทางการแพทย์ทางไกลผ่านแช็ตหรือวิดีโอคอลจากแพทย์นั่นเอง
นอกจากนี้ Amazon Care ยังมีการนำเสนอบริการโทรปรึกษาด้านสุขภาพ (House Call) ในซีแอตเทิล,มหานครวอชิงตัน-บัลติมอร์ และในอนาคต มีแผนจะขยายไปยังลอสแองเจลิส, ชิคาโก, ดัลลาส, ฟิลาเดลเฟีย และบอสตัน อีกด้วย
เรียกได้ว่า ตลาดการแพทย์ทางไกลในตอนนี้ ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต และกำลังขยับขยายความนิยมไปเรื่อย ๆ เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด ที่บังคับให้การพบเจอแพทย์ทางไกล อาจจะมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ดี ทาง Amazon Care ไม่ได้ถือเป็นเพียงรายเดียวในตลาดการแพทย์รูปแบบนี้
เพราะยังมีคู่แข่งอย่าง Teladoc Health ที่นำเสนอบริการลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว
และถ้าหากมาดูในประเทศไทย ก็จะมีบริการแพทย์ทางไกล อาทิ Samitivej Virtual Hospital และแอปฯ Raksa เป็นต้น
โดยคุณ Kristen Helton ได้กล่าวถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดนี้ไว้ว่า “เป็นผลจากความกังวลด้านสถานการณ์โรคระบาด บวกกับความต้องการจ้างแรงงานในช่วงที่เกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงาน ทำให้บริการแพทย์ทางไกลมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น”
ดังนั้น ทางบริษัทก็ต้องมีสิ่งจูงใจ และพยายามรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กรมากในตอนนี้
และคุณ Kristen Helton กล่าวว่า บริการของ Amazon Care จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการของพนักงานโรงแรมเครือ Hilton ซึ่งถ้าหากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น การเยี่ยมที่บ้าน บริษัทจะช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้
ทั้งหมดนี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งก้าว ในธุรกิจการแพทย์ทางไกลของ Amazon
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน Amazon เป็นผู้นำในตลาด Cloud
ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Amazon เข้าสู่ธุรกิจ Cloud ก็มาจากการทำโครงสร้างพื้นฐานให้พนักงานภายในบริษัทใช้กันเอง ก่อนจะค่อย ๆ ขยายบริการไปสู่ลูกค้าภายนอกองค์กร
เรื่องนี้จึงน่าติดตามว่า บริการแพทย์ทางไกลของ Amazon ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการนำร่องทดลองบริการและให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานภายในบริษัท ก่อนจะขยายบริการไปสู่ลูกค้าภายนอกองค์กรเช่นเดียวกัน
จะมาสามารถทำให้ Amazon ประสบความสำเร็จและกลายเป็นผู้เล่นรายสำคัญของตลาดนี้ได้หรือไม่..
อ้างอิง :
-https://www.cnbc.com/2021/11/15/amazons-healthcare-business-lands-hilton-as-a-key-customer.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.