กรณีศึกษา เมื่อ “บริทาเนีย” เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “มหาชน” จะแข็งแกร่งแค่ไหน ?

กรณีศึกษา เมื่อ “บริทาเนีย” เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “มหาชน” จะแข็งแกร่งแค่ไหน ?

16 พ.ย. 2021
หากเอ่ยถึงชื่อ “บริทาเนีย” หลายคนจะนึกถึงบริษัทอสังหาฯ
ที่โดดเด่นในเรื่องที่อยู่อาศัยแนวราบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว, ทาวน์โฮม หรือบ้านแฝด
และด้วยจุดขายของบริษัทแห่งนี้คือ การสร้างที่อยู่แนวราบที่ดีไซน์หรูหรา
ทันสมัย มีเอกลักษณ์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนต้องการมีบ้านในยุคนี้
เลยทำให้เกือบทุกโครงการของ “บริทาเนีย” ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย
เพราะหลายคนมองว่านี่คือบริษัทอสังหาฯ ที่สร้างที่อยู่อาศัยในฝันให้แก่ตัวเอง
ทำให้รายได้บริษัทแห่งนี้เติบโตต่อเนื่องทุก ๆ ปี
โดยผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2561 รายได้รวม 516 ล้านบาท กำไรสุทธิ 72 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 1,561 ล้านบาท กำไรสุทธิ 207 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 2,342 ล้านบาท กำไรสุทธิ 349 ล้านบาท
จะเห็นว่าในแต่ละปีรายได้และกำไรของบริษัทเติบโตก้าวกระโดด
และเมื่อเส้นกราฟธุรกิจทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็เลยกลายเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่ท้าทาย เช่นกัน
คือจะทำอย่างไรให้ “บริทาเนีย” ต่อยอดการเติบโตที่กำลังเกิดขึ้นให้ยั่งยืนในอนาคต
ด้วยโจทย์นี้เองที่ทำให้ บริษัทแม่อย่าง ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI
ที่ถือหุ้น 99.99% ตัดสินใจแยก “บริทาเนีย” ออกจากตัวเอง หรือที่เรียกว่า “Spin-Off”
เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับใช้ชื่อว่า บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน)
โดยใช้ชื่อหุ้น BRI ที่จะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 252,650,000 หุ้น
คิดเป็น 29.6% ของหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ
ซึ่งข้อดีของการที่ บริทาเนีย แยกบริษัทออกมาแล้วเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ก็คือบริษัทจะได้เงินจากการขายหุ้นระดมทุนมาต่อยอดธุรกิจตัวเองให้เติบโต
มีอิสระและความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น
สุดท้ายก็คือทำให้คนรู้จักบริษัท “บริทาเนีย” ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
สรุปก็คือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน)
จะเพิ่มความแข็งแกร่งในการแข่งขันตลาดอสังหาฯ แนวราบ
โดยปัจจุบันบริษัทมีอยู่ 4 แบรนด์หลัก ๆ
1. เบลกราเวีย บ้านเดี่ยวระดับ Luxury ราคา 20 - 50 ล้านบาท
2. แกรนด์ บริทาเนีย บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด Premium ราคา 8-20 ล้านบาท
3. บริทาเนีย บ้านเดี่ยวในราคา 4 - 8 ล้านบาท
4. ไบรตัน บ้านแฝดและทาวน์โฮม ราคา 2.5 - 4 ล้านบาท
จะเห็นว่าบริษัทแห่งนี้มีที่อยู่อาศัยแนวราบที่จับกลุ่มลูกค้าทุกระดับตั้งแต่ราคา 2.5 - 50 ล้านบาท
ทำให้มีโอกาสขายที่อยู่อาศัยแนบราบสูงกว่าคู่แข่งที่จับเฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่ง
แม้ตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
แต่ บริทาเนีย ก็รู้ดีว่าต้องมีส่วนผสมการตลาดเชิงรุกที่มาตอบโจทย์คนที่ต้องการมีบ้านสักหลังในชีวิต
ความคิดนี้เองที่ทำให้ บริทาเนีย เติบโตรวดเร็วแบบเกินคาด
เพราะรู้หรือไม่ ในปี พ.ศ. 2560 ที่บริษัทเริ่มต้นธุรกิจมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบแค่ 1 โครงการ
ล่าสุดปี พ.ศ. 2564 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบถึง 23 โครงการ
และเมื่อจบไตรมาสแรกของปีนี้ บริทาเนีย
จะมีโครงการระหว่างการขายและโอนกรรมสิทธิ์ 13 โครงการ มูลค่ารวม 17,550 ล้านบาท
ความสำเร็จตรงนี้ เกิดจากการมีที่อยู่อาศัยแนวราบที่ครอบคลุมกำลังซื้อลูกค้าทุกกลุ่ม
พร้อมกับทำเลที่ตั้งโครงการระดับ 5 ดาว ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกและตอนเหนือ,
สมุทรปราการ, ปทุมธานี เป็นต้น
ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแนวคิด Human Centric
ที่เมื่อรู้ว่าเมื่อคนอยากเป็นเจ้าของบ้านสัก 1 หลัง ต้องการอะไร
บริษัทก็จะออกแบบโครงการนั้นให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้ชีวิตของผู้อาศัย
ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านไม่ต้องต่อเติมบ้านให้ยุ่งยากและสิ้นเปลือง
อีกทั้งยังมีนโยบายสร้างบริการทั้งก่อนและหลังการขายที่ใส่ใจลูกค้าอย่างเป็นกันเอง
ยกตัวอย่างเช่น มีการรับประกันโครงสร้างบ้านนาน 5 ปี
พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและติดต่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน
ไปจนถึงมีระบบการแจ้งซ่อม และติดตามสถานะการซ่อมผ่าน Mobile Application
ซึ่งการทำให้ตัวสินค้ามีคุณภาพในสายตาลูกค้า นั่นคือวิธีการทำตลาดที่ดีที่สุด
เพราะเมื่อลูกบ้านรู้สึกว่าโครงการที่ซื้อมีคุณภาพดี ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและบอกต่อ
แนะนำคนอื่นทั้งใน Social Media และคนรอบข้างตัวเองให้มาซื้อที่อยู่อาศัยของ บริทาเนีย
เป็นวิธีที่ถือว่ามาถูกทาง เมื่อผลสำรวจการขายระบุว่า
ค่าเฉลี่ยการขายต่อ 1 โครงการของบริทาเนียใช้เวลาแค่ 1.5 - 2 ปี
ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ระบุว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอยู่ที่ 2.7 ปี
(ผลสำรวจเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2563)
ส่วนเงินที่ได้จากการ IPO ครั้งนี้ นอกจากจะนำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน
และเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจแล้วนั้น
บริษัทก็จะนำไปลงทุนสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ
โดยที่เปิดเผย ณ เวลานี้จะมี 9 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 10,800 ล้านบาท
ก็ต้องบอกว่า การเติบโตของ บริทาเนีย เป็นอะไรที่เกินคาด
เพราะใครจะคิดว่า จากบริษัทลูกของ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นาน
และมีโครงการแรกโครงการเดียวในปี พ.ศ. 2560 เวลาผ่านไปแค่ 4 ปี ปัจจุบันมีถึง 23 โครงการ
ที่มาพร้อมรายได้และกำไรที่เป็นเส้นกราฟทะยานแบบสวยงาม
ก็ต้องจับตาดูว่าเมื่อ บริทาเนีย แยกตัวจากบริษัทแม่มาเป็นบริษัท “มหาชน”
ที่มาพร้อมเงินระดมทุนและการบริหารงานที่คล่องตัวขึ้นกว่าเดิม
จะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ที่ทรงอิทธิพลในตลาด และน่าจับตามองเลยทีเดียว
References:
-เอกสารข้อมูลไฟลิ่ง บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน)
-https://www.reic.or.th/News/RealEstate/442595
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.