บสย. ทุบสถิติค้ำประกันสินเชื่อ เป็นประวัติการณ์ พุ่งแตะ 240,000 ล้านบาท

บสย. ทุบสถิติค้ำประกันสินเชื่อ เป็นประวัติการณ์ พุ่งแตะ 240,000 ล้านบาท

30 ธ.ค. 2021
บสย. หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอ ได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ ล่าสุดได้สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์การค้ำประกัน นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. มาเกือบ 30 ปี
ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ บสย. จะมียอดค้ำประกันสินเชื่อทะลุ 240,000 ล้านบาท
โดยตัวเลขค้ำประกันล่าสุด ณ วันที่ 13 ธันวาคม อยู่ที่ 234,922 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนถึง 66%
นอกจากตัวเลขค้ำประกันแล้ว ผลการดำเนินงานส่วนอื่น ๆ ก็เติบโตเช่นเดียวกัน เช่น ยอดอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อล่าสุดอยู่ที่ 224,104 ฉบับ
คิดเป็นการเติบโต 29% จากปีก่อนหน้าที่มีตัวเลข 173,660 ฉบับ
รวมทั้งจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าถึงสินเชื่อล่าสุดเอง ก็อยู่ที่ 207,537 ราย คิดเป็นการเติบโต 25% จากปีก่อนหน้าที่มีตัวเลข 166,419 ราย
เรียกได้ว่า บสย. ประสบความสำเร็จด้านการค้ำประกันสินเชื่อในทุกมิติ
โดยโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่โดดเด่น 3 โครงการ มีดังนี้
1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อตาม พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู วงเงินค้ำประกัน 124,912 ล้านบาท
สามารถช่วย SMEs จำนวน 36,776 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 1.2 ล้านราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมแล้ว 515,885 ล้านบาท
ซึ่งธุรกิจที่ค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ ธุรกิจบริการ 28%, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 10% และธุรกิจยานยนต์ 9%
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 วงเงินค้ำประกัน 78,799 ล้านบาท
3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงินค้ำประกัน 19,257 ล้านบาท
หากนับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 และโครงการอื่น ๆ ของ บสย. จะมีวงเงินค้ำประกันที่ 110,080 ล้านบาท
ซึ่งสามารถช่วย SMEs จำนวน 176,525 ราย และก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 1.3 ล้านราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวม 454,634 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ ธุรกิจบริการ 29%, ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 16% และเกษตรกรรม 10%
ทีนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองมาเทียบกันว่า งบประมาณแต่ละบาทจากโครงการ บสย. ข้างต้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นที่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ตัวเงิน 1 บาทจากงบประมาณโครงการ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตามมาดังนี้
1. วงเงินค้ำประกัน 6.25 บาท
2. สินเชื่อในระบบ 9.38 บาท
3. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 1.77 ราย
4. รักษาการจ้างงาน 46.04 ราย
5. สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 25.81 บาท
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 ตัวเงิน 1 บาทจากงบประมาณโครงการ จะก่อให้เกิดผลตามมาดังนี้
1. วงเงินค้ำประกัน 4.35 บาท
2. สินเชื่อในระบบ 4.35 บาท
3. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 17.39 ราย
4. รักษาการจ้างงาน 34.78 ราย
5. สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 17.96 บาท
จะเห็นได้ว่า การใช้งบประมาณผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ดีเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเจอกับปัญหามากมาย จนบางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้ และต้องปิดกิจการลงในที่สุด
บสย. จึงเพิ่มบทบาท “เพื่อนคู่คิด” ให้กับธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน
ด้วยการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาต่าง ๆ เช่น การเงิน ปรับโครงสร้างหนี้ พัฒนาธุรกิจ และจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรวมแล้วกว่า 7,200 ราย
นอกจากนี้บสย. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการให้คำปรึกษาทางการเงิน เช่น โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ที่ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการจับคู่กู้เงิน ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์
รวมถึง การเข้าร่วมมือในโครงการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินในพื้นที่ EEC หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs อีกด้วย

แล้วถ้าถามว่าในอนาคต บสย. จะเดินหน้าเคียงข้างผู้ประกอบการไทยต่อไปอย่างไรนั้น
คุณวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปของ บสย. สรุปใจความสำคัญว่า
“ปีนี้นับว่าเป็นปีที่ยากของทุกภาคส่วน ในฐานะที่ บสย. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วย SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อ จึงได้ทุ่มสุดกำลังเพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ได้ไปต่อ.. ซึ่งในปีหน้า บสย. จะยังคงเดินหน้าภารกิจนี้ต่อไป เพื่อช่วยประคองและสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจรายย่อยหลังการฟื้นประเทศ”
สอบถามข้อมูลโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. ได้ที่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center โทร. 02-890-9999
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.