Meta ออกฟีเชอร์ที่เหมือนม่านบาเรีย ป้องกันปัญหาคุกคามทางเพศ ใน Metaverse แล้ว

Meta ออกฟีเชอร์ที่เหมือนม่านบาเรีย ป้องกันปัญหาคุกคามทางเพศ ใน Metaverse แล้ว

5 ก.พ. 2022
หลังจากที่มีข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ในกรณีที่มีหญิงสาวชาวอังกฤษออกมาบอกว่า “เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศในโลก Horizon Venues ของทาง Meta” ซึ่งเธอได้ออกมาพูดถึงความกังวล และความรู้สึกไม่ปลอดภัย
ทำให้ล่าสุดทาง Meta เจ้าของแพลตฟอร์มโลกเสมือนอย่าง Horizon Worlds และ Horizon Venues ที่ใช้งานผ่านการสวมแว่น VR เช่น Meta Quest
ได้ออกมาเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่ชื่อว่า "Personal Boundary"
เพื่อรักษาขอบเขตพื้นที่ส่วนบุคคล จากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศบน Metaverse
ทั้งนี้ เครื่องมือ "Personal Boundary" จะทำให้ผู้ใช้งานในโลก Metaverse รู้สึกเหมือนมีระยะห่างราว 1.2 เมตร ระหว่างตัวอวตาร์ของเรา กับอวตาร์ของผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ที่พบเจอกัน
ทำให้อวตาร์ของคนอื่น ไม่สามารถเข้าใกล้อวตาร์ของเราในพื้นที่ "Personal Boundary" ได้
คล้าย ๆ กับมีม่านบาเรียอยู่รอบตัวเรา เหมือนในเกมหรือในหนัง ที่จะเป็นเกราะออร่าป้องกันตัวเอง นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ตัวอวตาร์ของเราจะยังสามารถยื่นมือออกไปทักทาย หรือทำ High Five กับเพื่อนในโลกเสมือนได้อยู่
โดยทาง Meta กล่าวว่า เครื่องมือใหม่นี้สร้างขึ้นจากมาตรการ "ป้องกันการล่วงละเมิดด้วยมือ" ซึ่งมือของอวาตาร์จะหายไป หากพวกเขาบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวของใครบางคน (Personal Boundary)
ทั้งนี้ Meta ยังมีฟีเชอร์เก่าอย่าง "Safe Zone" ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างฟองอากาศรอบ ๆ อวาตาร์ของพวกเขาได้หากรู้สึกว่าถูกคุกคาม
แต่ก็เคยมีคนที่ออกมาบอกว่า เขาไม่สามารถเลือกใช้ฟีเชอร์ "Safe Zone" ได้ทัน และรวดเร็วพอเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
ดังนั้น สำหรับเครื่องมือ Personal Boundary ผู้ใช้งานจะ “ไม่สามารถเลือกปิดได้”
เนื่องจากระบบนี้ มีจุดประสงค์เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในโลกเสมือน เพียงแต่ในอนาคต อาจมีการปรับให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรัศมีความกว้างของขอบเขต (Boundary) รอบอวตาร์ของตัวเองได้
โดยคุณ Vivek Sharma รองประธาน Horizon ของ Meta กล่าวในว่า
“บริษัทเชื่อว่า Personal Boundary ที่เราสร้างขึ้นมา จะช่วยกำหนดบรรทัดฐานของพฤติกรรมผู้ใช้งานได้
นี่ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ และยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องทำ โดยเราจะทำการทดสอบ และสำรวจวิธีการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้คนรู้สึกสบายใจในการเข้าสู่โลก VR ต่อไป”
ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างรวดเร็วในการแก้ปัญหาของ Meta หลังจากที่บริษัทเพิ่งเจอกับวิกฤติ ในกรณีราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก และมูลค่าบริษัทที่หายไปถึง 7 ล้านล้านบาท ภายในวันเดียว..
เนื่องจากปัญหาหลาย ๆ ด้าน อาทิ
-ผู้ใช้งาน Facebook อาจจะไม่โตอีกแล้ว (ยอดผู้ใช้งานรายวัน ลดลงครั้งแรกในประวัติศาสตร์)
-ค่าใช้จ่ายในการลงทุนกับ Metaverse เยอะมหาศาล ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนไหม
ซึ่งหน่วยงาน Reality Labs ที่ดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ AR และ VR ของ Meta
ปี 2020 ขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 220,000 ล้านบาท
ปี 2021 ขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 338,000 ล้านบาท
ก็เรียกได้ว่า อนาคตของ Meta ตอนนี้ เดิมพันอยู่กับ Metaverse ไปทั้งหมดแล้ว
ดังนั้น หากมองตอนนี้ก็เหมือนกับว่า Meta ต้องทำ Metaverse ให้ฮิต และสร้าง Community ใหม่
รวมถึงทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ รู้สึกสบายใจที่จะใช้งาน จนสามารถขยายเครือข่ายไปเป็นวงกว้าง และกลายเป็นกระแสหลักได้
เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคเฟื่องฟูของ Facebook ในช่วงแรก ๆ นั่นเอง..
อ้างอิง:
-https://www.reuters.com/technology/facebook-owner-meta-adds-tool-guard-against-harassment-metaverse-2022-02-04/
-https://www.theverge.com/2022/2/4/22917722/meta-horizon-worlds-venues-metaverse-harassment-groping-personal-boundary-feature
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.